×

ชัชชาติ เปิดตัวงานแรกในฐานะผู้ว่าฯ กทม. ปลูกต้นไม้สร้างพื้นที่สีเขียว เผยงบประมาณน้อยไม่เป็นปัญหา ใช้วิธีคิดที่ฉลาดบริหาร

โดย THE STANDARD TEAM
01.06.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (1 มิถุนายน) ที่สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและร่วมโครงการปลูกต้นไม้ 99 ต้นกับภาคเอกชนในพื้นที่สวนเบญจกิติ โดยชัชชาติระบุว่า ส่วนตัวชอบมาวิ่งออกกำลังกายที่สวนแห่งนี้ แต่จะวิ่งในส่วนของด้านที่เป็นสวนป่า เพราะร่มรื่นและมีลู่วิ่ง ส่วนที่พิเศษของสวนนี้คือต้นโพใหญ่กลางสวนที่มีครอบครัวของนกเค้าลายจุดอาศัยอยู่ 4 ตัว นับเป็นความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ ซึ่งมีข้อมูลว่ามีนกมากกว่า 49 สายพันธุ์ อาศัยอยู่รวมกัน

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

สำหรับแผนการปลูกต้นไม้ ตามนโยบายสร้างพื้นที่สีเขียวใน กทม. ชัชชาติระบุว่า เป็นโครงการที่ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมาก ทาง กทม. จะรับหน้าที่จัดหาพื้นที่ไว้ให้ประชาชนที่มาร่วมโครงการ สำหรับการปลูกต้นไม้นี้จะจองสิทธิ์ในแอปพลิเคชันที่คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในวันศุกร์นี้ (3 มิถุนายน) รูปแบบการทำงานจะเป็นการจองต้นกล้า หาสถานที่ในเขตลงปลูก จากนั้นจะต้องถ่ายภาพต้นไม้ลงในระบบ และคอยตรวจดูสถานะของต้นไม้ของตนเอง การร่วมลงพื้นที่ปลูกอาจจัดขึ้นทุกวันอาทิตย์

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า โดยหลักแล้วอยากให้คนที่เป็นเจ้าของต้นไม้เป็นผู้ช่วยดูแลต้นไม้ของตัวเอง เพราะเล็งเห็นถึงปัญหาที่ผ่านมาพบว่าต้นไม้ที่ปลูกขาดการดูแล เพราะฉะนั้นครั้งนี้จะต้องมีการกระจายการดูแลโดยให้มีภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วยหรือกลุ่มบริษัทที่ปลูกก็จะดูแลรับผิดชอบในพื้นที่ของตัวเอง

 

ทั้งนี้ การปลูกต้นไม้ไม่จำเป็นที่จะต้องปลูกในพื้นที่ราชการเท่านั้น แต่สามารถปลูกในพื้นที่ของตัวเอง เพราะสุดท้ายแล้วต้นไม้เหล่านี้จะเป็นสมบัติของเมืองช่วยดูดซับมลพิษทางอากาศ เช่น ก๊าซเรือนกระจก ได้เหมือนกัน

 

ชัชชาติระบุด้วยว่า เรื่องนี้ถ้าทำได้จริงจะเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะคนกรุงเทพฯ มีเฉลี่ยประมาณ 5 ล้านคน ถ้าปลูกได้ 1 ใน 5 ก็จะได้ต้นไม้มาประมาณ 1 ล้านต้น เพราะฉะนั้นแล้ว กทม. จะสนับสนุนเต็มที่ในการหาพื้นที่ปลูกต้นไม้ให้

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

ตัวอย่างพื้นที่ เช่น กองขยะอ่อนนุช กองขยะหนองแขม ส่วนไหนที่ไม่ได้ใช้แล้วก็ปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สีเขียวให้ได้ ตนมองว่าพื้นที่เหล่านั้นมีปุ๋ยที่ดีในการทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ แต่บางเขตก็จะหาที่ยาก เช่น พื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ ก็ต้องไปชดเชยในพื้นที่อื่นที่มีพื้นที่ว่างเยอะให้เฉลี่ยต้นไม้ให้ได้ประมาณ 1 ล้านต้น แผนที่วางไว้คือเฉลี่ยสัปดาห์ละ 100 ต้นต่อเขต ฉะนั้น 4 ปีแล้วก็จะได้ประมาณ 1 ล้านต้นพอดีกับเป้าที่วางไว้

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า กรุงเทพฯ สามารถเปลี่ยนได้ถ้าทุกคนมาร่วมมือกัน เพราะฉะนั้นต้องเริ่มทำเลย เรื่องนี้คือการลงทุนให้ลูกหลานเราในอนาคต ให้โตไปกับต้นไม้ที่เราปลูกด้วยกัน การเริ่มต้นโครงการปลูกต้นไม้นี้จะใช้งบประมาณถูกกว่าเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ จำนวนมาก และถ้าในอนาคตสามารถให้กลุ่มเกษตรกรเขตมีนบุรี เขตหนองจอก ได้ทำต้นกล้าเป็นอาชีพก็จะเป็นการสร้างรายได้ในพื้นที่ไปในตัว เป็นวิสาหกิจชุมชน

 

สำหรับประเด็นแอปพลิเคชันรับข้อร้องเรียน ขณะนี้มีข้อมูลว่ามี 6 เขตรับเรื่องที่มีคนแจ้งมาประมาณ 20,000 กว่าเรื่องไปจัดการดูแลแล้ว โดยหลังจากนี้จะมีการอัปเดตสถานะว่าเรื่องต่างๆ จัดการไปถึงขั้นไหน เช่น กรณีทางวิ่งสวนถนนพระราม 3 ที่ขรุขระ ซึ่งสาเหตุมาจากผู้รับเหมาที่นำสายไฟฟ้าลงดินจัดการงานไม่เรียบร้อย ซึ่งได้ประสานไปทางผู้อำนวยการเขตแล้วว่าให้ระงับการก่อสร้างจนกว่าจะจัดการแก้ไขให้เรียบร้อย ในเรื่องนี้คือความเอาจริงเอาจัง ปัญหานี้ยังพบที่ถนนอังรีดูนังต์ สาทร และเพชรบุรีตัดใหม่

 

โดยแอปพลิเคชันต่างๆ ที่กล่าวมานี้ ชัชชาติระบุว่าเป็นส่วนที่ขอความร่วมมือมาจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงคาดว่าใช้งบประมาณไม่มาก เพราะฉะนั้นแล้วประเด็นที่มีหลายคนตั้งคำถามว่างบประมาณเหลือน้อยจึงไม่ใช่ปัญหา เพราะถ้ามีวิธีคิดที่ฉลาดก็สามารถจัดการได้ เทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะ แต่ว่ามีพลังเยอะมหาศาล และประชาชนก็จะรู้สึกว่าสามารถแลกเปลี่ยนมีส่วนร่วมได้

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X