วันนี้ (6 ตุลาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับ สุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความเห็นในการแก้ปัญหาร่วมกันแบบไร้รอยต่อใน 4 เรื่อง คือ การจัดการอุทกภัย ปัญหาจราจร ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และการวางผังเมือง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดนนทบุรี โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องมหาเจษฎาบดินทร์ ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี
ชัชชาติกล่าวว่า วันนี้ก็เป็นโอกาสดีที่กรุงเทพมหานครได้หารือร่วมกับจังหวัดนนทบุรี โดยมีนายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด และนายกเทศมนตรีนครนนทบุรี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ร่วมหารือในการแก้ไขปัญหา 2 เรื่อง คือเรื่องการจราจรและเรื่องน้ำท่วม ซึ่ง 2 จังหวัดมีพื้นที่รอยต่อกัน เช่น คลองบางเขน กรุงเทพฯ รับผิดชอบระบายน้ำออกแม่น้ำเจ้าพระยา และรับน้ำจากหลายคลองในจังหวัดนนทบุรี หรืออย่างคลองบ้านใหม่ซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ก็เป็นพื้นที่ 3 จังหวัด กรุงเทพฯ นนทบุรี และปทุมธานี หากสามารถบริหารจัดการน้ำร่วมกันได้ ก็จะทำให้การระบายน้ำจากคลองเปรมประชากรทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือแม้กระทั่งคลองส่วยซึ่งเป็นคลองหลักที่ขนานอยู่กับคลองประปา และน้ำมาลงที่คลองบางเขน ถ้าเราบริหารจัดการร่วมกันได้ดี สุดท้ายประชาชนทั้ง 2 จังหวัดจะได้ประโยชน์
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ร่วมมือและมีอุปสรรคเพราะเป็นพื้นที่ร่วมกันของ 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และปทุมธานี ซึ่งถ้าหากบริหารจัดการร่วมกันได้ก็จะแก้ปัญหาน้ำในคลองเปรมประชากรได้ ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาร่วมกันโดยมีแนวคิดจะตั้งคณะทำงานร่วมกัน 3 จังหวัด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
โดยในส่วนของกรมทางหลวงก็มีโครงการสำคัญ คือการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากคลองเปรมประชากร มาสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีด้วย
“ในอนาคตเราจะร่วมมือกันมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องน้ำ แต่จะมีเรื่องสาธารณสุขและการศึกษา เนื่องจากประชาชนเดินทางต่อเนื่องเชื่อมต่อกันทั้ง 2 จังหวัด หากเราร่วมมือกันในมิติอื่นๆ ก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชน” ชัชชาติกล่าว
ชัชชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการจราจรต้องมีการพูดคุยประสานกันอีก เนื่องจากในปัจจุบันมีปัญหาจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นแจ้งวัฒนะ ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้รีบคืนพื้นผิวการจราจรให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ในส่วนของ กทม. อาจจะมีอีกประเด็นหนึ่ง คือการปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพราะจะแบ่งออกเป็น 2 ทาง เขื่อนพระราม 6 ออกแม่น้ำเจ้าพระยาหรือฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ หากปล่อยมาเจ้าพระยามากก็จะกระทบกับนนทบุรี แต่ถ้าปล่อยมาทางเจ้าพระยาน้อยก็จะกระทบกับทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ซึ่ง กทม. ต้องพร้อมรับมือทั้ง 2 ด้าน
โดยได้สั่งการให้เตรียม Big Bag ไปฝั่งตะวันออกเพิ่มในจุดที่อ่อนแอ ซึ่งสั่งบรรจุไปแล้วจำนวน 1,000 ลูก เพื่อนำไปเสริมฝั่งตะวันออก ทั้งเตรียมเสริมในแนวเฝ้าระวัง ตั้งแต่คลองหกวาสายล่าง ต่อไปเป็นประตูคลองลำหม้อแตก พระยาสุเรนทร์ คลองสามวา ไปจนถึงคลอง 12 และจบคลอง 13 ของกรมชลประทาน โดยเอา Big Bag ไปบล็อกทางน้ำที่จะไหลหลากลงมา โดยเป็นการเตรียมพร้อมไว้ก่อนตอนที่น้ำยังไม่มา โดย Big Bag มีการบรรจุที่บึงหนองบอน ประกอบกับช่วงนี้มีร่องความกดอากาศต่ำแผ่มาจากประเทศจีน ทำให้ลมพัดเร็วขึ้น ฝนตกช่วงสั้นๆ แล้วก็หยุดตก ไม่ตกแช่ในพื้นที่ หากเราไม่โดนศึกขนาบทั้งสองฝั่ง เราก็จะสามารถป้องกันริมฝั่งแม่น้ำได้ ซึ่งน่าจะเบาใจได้ระดับหนึ่งเรื่องฝนตกในพื้นที่
ด้านสุธีกล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นบรรยากาศที่ดีที่วันนี้ได้รับความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร เนื่องจากปัญหาเรื่องน้ำและการจราจร เป็นปัญหาที่ต่อเนื่องของพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัดโดยไม่มีการแบ่งเขต การแก้ปัญหาร่วมกันจึงเป็นการลดผลกระทบให้ประชาชนทั้ง 2 จังหวัด รวมถึงจังหวัดปทุมธานีที่มีพื้นที่เกี่ยวข้องกันอีกด้วย โดยจะเป็นการบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อประสานงานส่งต่อการระบายน้ำให้สอดคล้องกัน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งจะทำให้การทำงานแก้ไขปัญหาเพื่อประชาชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น