วันนี้ (15 กรกฎาคม) ที่ศูนย์เยาวชนวัดคลองเตยใน เขตคลองเตย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบอุปกรณ์กีฬาให้กับกลุ่มเด็กที่อาศัยในชุมชนคลองเตย ซึ่งอุปกรณ์ที่นำมามอบวันนี้มาจากภาคประชาชนที่เป็นรุ่นน้อง ได้ติดตามการไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งชัชชาติเคยระบุว่าต้องการหาอุปกรณ์กีฬามามอบให้เด็กๆในชุมชน
ชัชชาติกล่าวว่า สำหรับ กทม. เองต้องเข้ามาช่วยเหลือดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่อยากให้หลายฝ่ายได้มีส่วนร่วมกัน อาจจะไม่ต้องให้แต่สิ่งของ แต่ช่วยเข้ามาดูแล มาทำกิจกรรมต่างๆ สร้างแรงบันดาลใจ เพราะความจริงแล้วอุปกรณ์ไม่ได้สำคัญที่สุดเท่ากับการสร้างแรงบันดาลใจ และการมีส่วนร่วมให้กับเด็ก
สำหรับการลงพื้นที่ติดตามการเก็บขยะของเจ้าหน้าที่ กทม. ตั้งแต่ช่วงกลางคืนที่ผ่านมา ชัชชาติกล่าวว่า ขยะสำหรับประชาชนเหมือนของวิเศษที่ตอนเช้าทิ้ง ตอนกลางคืนหายไป เมื่อวานจึงอยากลองไปสำรวจดู ส่วนตัวรู้กระบวนการเก็บขยะ แต่ไม่เคยติดตามไปกับรถเก็บขยะ
จากที่เห็นรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่จะต้องเสียเวลามากกับการคัดแยกขยะที่ท้ายรถ ฉะนั้นแล้วหากเป็นไปได้ ขยะต้นทางอยากให้มีการแยกขยะเปียก-แห้งให้เรียบร้อย แห้งแบ่งเป็นพวกรีไซเคิล เปียกแบ่งเป็นเศษขยะ สำหรับข้อดีที่จะเกิดขึ้นคือรถขยะจะสามารถวิ่งทำรอบได้เร็วขึ้น และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานจะปลอดภัยขึ้นด้วย
ฉะนั้นจากนี้ต้องพิจารณาว่าจะแยกขยะได้ไหม จัดการขยะรีไซเคิลได้อย่างไร รวมไปถึงอุปกรณ์ สวัสดิการสำหรับดูแลสวัสดิภาพที่เหมาะสมในการปฏิบัติงาน เพราะหลายคนทำงานหนัก มีความเสี่ยง จากที่ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวานนี้อยากสะท้อนให้เห็นว่า ขยะไม่ใช่ของวิเศษที่จะหายไปเอง แต่ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมาย ส่วนตัวมองว่าการพยายามลดขยะ รีไซเคิลขยะตั้งแต่ต้นทาง ยังเป็นวิธีที่ดีในการจัดการปัญหาขยะ
ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า สำหรับกรุงเทพฯ ปัญหาเยอะ แต่เป็นปัญหาที่ซ้ำ ฉะนั้นถ้าทำได้ที่เขตใดเขตหนึ่งนำร่อง จะเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นๆ ได้ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่เก็บขยะวานนี้ ขยะจำนวนมากมาจากคอนโดและโรงแรมขนาดใหญ่ แต่สำหรับห้างสรรพสินค้าส่วนมากผ่านการขายขยะแล้วจึงไม่เยอะมาก
ส่วนเรื่องค่าตอบแทนที่เคยหารือร่วมกัน เป็นหน้าที่ของ จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. ที่รับมอบหมายดูแลเรื่องนี้อยู่ คาดว่าจะเป็นการพิจารณาตั้งแต่ส่วนของพนักงานกวาด พนักงานขับรถ พนักงานเก็บขยะ และเจ้าหน้าที่จัดการระบายน้ำ เพราะทุกหน้าที่นี้มีความเสี่ยงในการทำงานทั้งหมด ชัชชาติกล่าวว่า ต้องดูแลให้เหมาะสมที่สุด
ที่ผ่านมา กทม. ให้บริการประชาชนอย่างละเอียด อย่างเจ้าหน้าที่เก็บขยะเองจะเดินเข้าไปตามหน้าบ้านเพื่อเก็บขยะ ชัชชาติกล่าวว่า จากนี้จะเจอกันครึ่งทางเป็นไปได้ไหม เช่น ทุกคนนำขยะมารวมกันที่จุดทิ้งตรงกลาง อย่างน้อยเป็นการช่วยประหยัดเวลา แต่ต้องมีการพิจารณาต่อไป เพราะปัญหาทั้งหมดต้องแก้ตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทาง
สำหรับสถานการณ์โควิดของ กทม. ขณะนี้ ชัชชาติกล่าวว่า เห็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น จากที่พูดคุยกับทีมแพทย์ ตัวเลขยังไม่เพิ่มขึ้นเหมือนสถานการณ์ก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อจะหายเอง แต่กลุ่มเดียวที่ต้องกังวลและเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือกลุ่ม 608 ส่วนที่คลองเตยยังไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ก็เตรียมจะเปิดศูนย์ CI ซึ่งจะมีความพร้อมประมาณ 300 เตียง