×

‘ชัชชาติ’ ประชุมร่วมผู้บริหาร กทม. นัดแรก ถก 4 วาระ โควิด-งบประมาณ-ยุทธศาสตร์นโยบาย-บำบัดน้ำเสีย

โดย THE STANDARD TEAM
06.06.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (6 มิถุนายน) ที่ห้องประชุมและวางแผน อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) การประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 7/2565 นำโดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และคณะผู้บริหาร

 

โดยชัชชาติให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า วันนี้มีการหารือ 4 เรื่องหลัก เรื่องแรกเป็นเรื่องของสถานการณ์โควิด และเรื่องการถอดหน้ากากอนามัย ที่ตอนนี้พบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงไปมาก รวมถึงอัตราการครองเตียงก็ลดลงและยังมีเตียงว่างอีกมาก แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องอนุญาตให้ถอดหน้ากากอนามัยต้องรอมติของที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) อีกครั้ง แต่ในใจก็คิดว่าถึงเวลาแล้ว แต่การตัดสินใจต้องรอ ศบค. เป็นหลัก อีกทั้งเรื่องนี้ต้องคุยกับกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งหนึ่งด้วย 

 

รวมถึงมีการหารือเรื่องโรคฝีดาษลิงซึ่งเป็นโรคติดต่อ แต่ก็ยังไม่พบตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทย และเมื่อวานนี้ (5 มิถุนายน) ที่มีการจัดกิจกรรมฉลองเทศกาลไพรด์ที่ถนนสีลม ซึ่งมีคนมาจำนวนมากทำให้เกิดข้อกังวลเรื่องโรคนี้ แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีตัวเลขรายงานในประเทศไทย และการติดต่อของโรคก็คนละรูปแบบกับโควิด ดังนั้นตนจึงมีคำสั่งให้ดำเนินตามมาตรการอย่างเข้มข้นต่อไปเพราะยังเป็นข้อกังวล

 

ส่วนข้อกังวลเรื่องกิจกรรมในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ชัชชาติกล่าวย้ำว่า ได้ให้ ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ กทม.) ติดตามดูตัวเลขอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทุกคนป้องกันตนเองและระมัดระวังเป็นอย่างดี

 

สำหรับกรณีที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความห่วงใยเรื่องการจัดกิจกรรมของ กทม. ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ว่าอาจเกิดคลัสเตอร์ได้ ชัชชาติกล่าวว่าต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่แสดงความเป็นห่วง ทั้งนี้ ก็คงต้องติดตามสถานการณ์และต้องเก็บข้อมูลต่อเนื่อง โดยกำชับให้ทวิดา รองผู้ว่าฯ กทม. ที่ดูแลเรื่องสาธารณสุขคอยสังเกตตัวเลขว่าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ 

 

โดยตนเองมองว่าเป็นก้าวที่ค่อยๆ เข้าสู่ชีวิตปกติ และทุกคนที่มาก็สวมหน้ากากอนามัย ปฏิบัติตามมาตรการ จากนี้ต้องรอติดตามตัวเลขว่าจะมีผลกระทบหรือไม่ อย่างไร เพราะที่ผ่านมาไม่ได้เห็นคลัสเตอร์อะไรมาก แต่ก็มอนิเตอร์อย่างเข้มข้น 

 

สำหรับวาระที่สองของการประชุมเป็นเรื่องงบประมาณ ชัชชาติกล่าวว่า ใกล้จะเปิดสภากรุงเทพมหานครเป็นทางการ ฉะนั้นงบประมาณประจำปี 2566 จะต้องรีบทำให้เสร็จภายในสัปดาห์หน้าเพื่อส่งเข้าสภาพิจารณา ซึ่งบางส่วนได้จัดทำไว้เรียบร้อยแล้ว จากนี้เป็นขั้นตอนของการปรับประยุกต์ให้เข้ากับยุทธศาสตร์ของคณะ และมีการพิจารณาถึงงบประมาณปี 2565 ที่เหลืออยู่ด้วย

 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า จากนี้อาจจะถูกจับจ้องเรื่องการใช้งบประมาณปี 2565 ที่เหลืออยู่หรือไม่ ชัชชาติกล่าวว่าไม่ได้กังวลอะไร และจากรายงานงบประมาณกลางมีอยู่เป็นพันล้านบาทที่ยังสามารถใช้ได้ ส่วนอีก 4 พันกว่าล้านบาทคือที่เหลืออยู่แต่มีข้อกำหนดว่าจะใช้อะไร 

 

ส่วนวาระที่สามของการประชุมคือเรื่องของยุทธศาสตร์ จากนี้ต้องมีการประเมินว่าแผนที่นำเสนอไปทั้ง 214 แผนจะสามารถปฏิบัติเลยได้หรือไม่ ซึ่งสำนักยุทธศาสตร์ได้วิเคราะห์แล้วว่าแผนทั้ง 214 ข้อค่อนข้างสอดคล้องกับนโยบายเดิมที่ กทม. มีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องลงรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

ชัชชาติกล่าวว่า ส่วนนี้ไม่ได้มีข้อกังวลอะไรเพราะเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้เลย ในส่วนที่มีงบประมาณอยู่แล้วก็สามารถดึงมาใช้ได้ เพราะมีข้อมูลว่าหลายโครงการมีความสอดคล้อง ส่วนโครงการไหนที่ไม่ได้เตรียมงบประมาณไว้ก็อาจจะต้องนำไปใส่ในส่วนของงบประมาณปี 2566 แต่ส่วนไหนที่เริ่มได้ก็จะทำเลย เช่น ปัจจุบันนี้มีนโยบายเรื่อง Zero-Based Budgeting หรือการทำงบประมาณจากศูนย์ ซึ่งเป็นการศึกษาประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ

 

โดยในการประชุมวันนี้ได้เชิญ วิลาสินี วงศ์แก้ว อาจารย์จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถ่ายทอดความรู้เพื่อให้คณะผู้บริหารมีความเข้าใจตรงกัน ฉะนั้นสัปดาห์นี้เป็นการมุ่งเน้นไปที่เรื่องการจัดการงบประมาณ

 

ส่วนประเด็นสุดท้ายเป็นการหารือเรื่องสิ่งแวดล้อม การบำบัดน้ำเสีย ชัชชาติกล่าวว่า มีนโยบายที่จะทำจุดบำบัดน้ำเสียในชุมชนให้มากขึ้น โดยจะเน้นการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียในชุมชน เพราะจากการลงพื้นที่พบว่าหลายชุมชนมีการเทน้ำเสียลงในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำเสีย และเน้นการสร้างโครงการแบบเส้นเลือดฝอยมากขึ้น เพราะการสร้างบ่อบำบัดขนาดใหญ่อาจต้องใช้เวลามากถึง 11 ปี เบื้องต้นกระจายให้แต่ละเขตไปทำแผนว่าจะสามารถทำบ่อบำบัดน้ำเสียในจุดใดได้บ้าง

 

ชัชชาติกล่าวย้ำว่า หลายๆ เรื่องไม่ได้เป็นโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่จะใช้เงินจำนวนมาก และเราไม่ได้ตั้งใจมาใช้งบประมาณ แต่เข้ามาเพื่อเปลี่ยนวิธีคิด อย่างเรื่องทุจริตคอร์รัปชันก็สั่งให้แต่ละหน่วยงานไปสำรวจความโปร่งใสในตัวเอง ซึ่งไม่ต้องใช้งบประมาณ แต่สามารถปรับปรุงวิธีคิดในการให้บริการได้

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า วันนี้การพูดคุยอีกเรื่องในที่ประชุมคือเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยให้การบ้านผู้บริหารแต่ละเขตทุกสำนักไปสำรวจว่า หน่วยงานของตัวเองมีจุดอ่อนหรือช่องโหว่ใดตรงไหนที่ทำให้เกิดการทุจริตได้บ้าง และอีกหนึ่งสัปดาห์ให้กลับมานั่งคุยกันเพื่อปรับจูนให้เข้ากับแนวคิดขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X