หนึ่งเดือนหลัง ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ชนะเลือกตั้งนั่งตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ซึ่งเป็นการเมืองระดับท้องถิ่น แต่สร้างปรากฏการณ์ใหม่สะเทือนไปถึงการเมืองภาพใหญ่ ด้วยสไตล์การทำงานที่แปลกและแตกต่าง สร้างบารมีจากแพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูว์ จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เส้นเลือดฝอยได้รับการแก้ปัญหา และเสียงร้องเรียนสามารถไปถึงหูผู้มีอำนาจได้โดยตรง ประกอบกับ Facebook Live อันทรงพลัง พร้อมกิจกรรมดนตรีในสวนสร้างความคึกคักตลอดเดือนที่ผ่านมา
กระทั่งเกิดคำถามถึงมาตรฐานใหม่ของนักการเมืองที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในสมัยหน้า ขณะที่ชัชชาติอาจถูกมองเป็นคนอันตรายสำหรับพรรคการเมืองอื่น แม้เขาไม่น่าจะลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. มาลงแข่งขันชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แต่การเมืองก็ไม่แน่นอน หนุ่มเมืองจันท์จึงมองว่า ชัชชาติเป็นคนที่นักการเมืองคนอื่นมีสิทธิกลัว
วันที่ 27 มิถุนายน 2565 THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ เผยแพร่ทาง Facebook และ YouTube ของ THE STANDARD พูดคุยกับ สรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันท์ คอลัมนิสต์และผู้จัดรายการ THE POWER GAME อ่านปรากฏการณ์ ‘ชัชชาติฟีเวอร์’ กับแรงสั่นสะเทือนการเมืองโค้งสุดท้าย ก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งคาดว่าจะถึงเวลาอีกไม่นาน
ภาพรวม 1 เดือน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับการเป็น ผู้ว่าฯ กทม. ในมุมมองคุณสรกลเป็นอย่างไร
ผมมองว่าชัชชาติโชคดีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1. โชคดีที่มาทำงานต่อจาก พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง 2. เรามีนายกฯ ชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้เวลาเปรียบเทียบการทำงานจะเห็นชัดเจนขึ้น
ชัชชาติโชคดีและโชคร้าย โชคร้ายตรงออกมาลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วเป็นแคนดิเดตนายกฯ ปี 2562 แล้วหลังจากนั้นลาออกจากพรรคเพื่อไทยเพื่อมาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ตอนนั้นเขาเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ประมาณปลายปีหรือไม่ก็ต้นปี 2563 เพราะจริงๆ ควรจะเลือกได้ตามนั้นแล้ว แต่ปรากฏมีการดึงกันมาโดยตลอด สุดท้ายก็ทำให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา เขาโชคร้ายที่เขาต้องรอนาน
แต่เขาโชคดีที่ได้ทำการบ้านยาวนาน แล้วสไตล์การทำงานชัชชาติไม่เหมือนสไตล์การทำงานของพรรคการเมืองอื่นทั่วไป ทำให้เขาลงพื้นที่จริงและทำการบ้านหนักมาก ฉะนั้น สังเกตเวลาชัชชาติพูดถึงปัญหาแต่ละจุดที่เขาไปลงพื้นที่ เขาพูดแบบคนที่รู้เรื่องจริงๆ คือไปถนนตรงนี้มีปัญหาอะไร ไปจุดนี้มีปัญหาอะไร
สไตล์ชัชชาติคือเป็นอาจารย์ เป็นอาจารย์ที่อ่านหนังสือเยอะ จับประเด็นเร็ว ความรู้กว้างขวาง มีทักษะจากการเป็น CEO บริษัทใหญ่บริษัทหนึ่งมาตั้งหลายปี ฉะนั้น รวบรวมทุกทักษะมา เคยอยู่ในระบบราชการที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ แล้วมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ฉะนั้น มีความเข้าใจค่อนข้างเยอะ ทำให้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเขาเก็บข้อมูลได้เยอะ
พอลงพื้นที่เขาลงได้เร็ว แล้วพอเริ่มต้นทำ เนื่องจากนโยบาย 200 กว่าข้อ ตอนแรกผมก็คิดว่ามันเยอะเกินไป เวลาขึ้นเวทีหาเสียงเลือกตั้งจะไม่สามารถที่จะโฟกัสได้เพราะมันเยอะ แต่ความเยอะกลายเป็นประโยชน์ เพราะว่าเจาะ Niche Market ทุกจุด ทำให้เวลาลงพื้นที่ครั้งแรกเมื่อเป็นผู้ว่าฯ กทม. สามารถรู้ปัญหา และสามารถเริ่มต้นงานได้เลย เหมือนมีอยู่ในหัวอยู่แล้ว
แล้วก็ด้วยสไตล์การทำงานที่แปลกและแตกต่าง ก็คือการทำงานหนักอย่างจริงจัง และส่วนหนึ่งเขาแข็งแรงมากด้วย ทรงพลังอย่างแท้จริง ฉะนั้น เขาสามารถทำงานที่คุณไม่เคยนึกมาก่อน และจุดสำคัญของเขาคือ เอาแพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) มาใช้ อันนี้ผมว่าเขาสร้างบารมีในการทำงานได้ดีมาก เพราะว่าชัชชาติเป็นคนสื่อสารเก่งมาก เขาก็อธิบายให้ชัดเจนว่า แต่ก่อนระบบทั่วไปมีปัญหาเหมือนกับระบบท่อต่อ กว่าเรื่องจะมาถึงผู้ว่าฯ เป็นท่อไปเรื่อยๆ แต่แพลตฟอร์มมันเหมือนกระดาน ทุกปัญหามาที่กระดานทุกคนเห็นหมด พอทุกคนเห็นหมดก็หยิบปัญหาไปได้เลย ซึ่งเมื่อแก้ได้ก็ได้ใจคนเยอะ ในเชิงการเมืองคือเสียงสนับสนุนที่มีผลกับคนทำมาก พอเอาโปรแกรมนี้เข้ามาปั๊บก็เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะทำให้ปัญหาเล็กๆ ทั้งหลายที่เขาใช้คำว่าเส้นเลือดฝอยได้รับการแก้ปัญหา เพราะผู้อำนวยการเขตทุกคนก็รู้ว่า กระดานดำที่มีปัญหาขึ้นมา นอกจากเขาจะเห็นแล้ว ทีมชัชชาติก็เห็นด้วย แล้วชัชชาติประกาศนี่คือ KPI หนึ่งในการวัดผล
ฉะนั้น ก็เกิดการตื่นตัวขึ้นมาทันที แล้วก็มีระบบใหม่ๆ เยอะ ดนตรีในสวนซึ่งเป็นเรื่องเล็กๆ กลายเป็นเรื่องที่มีเสน่ห์ เป็นความสุขเล็กๆ เป็นอะไรบางอย่างที่เราก็นึกไม่ออก เป็น Soft Power แท้จริง ก็ทำให้เกิดความคึกคักในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา
การทำงานแบบนี้ของชัชชาติ จะสร้างมาตรฐานแบบใหม่ของนักการเมืองในการเลือกตั้งสมัยหน้าหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงการสร้างภาพอย่างที่บางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์
มี 2 มุม ชัชชาติจะยืนระยะเรื่องนี้ได้นานเท่าไร การยืนระยะหมายถึงว่า ทำเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ แต่ขณะเดียวกัน คนเรามันมีความคาดหวังสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าสมมติทำอยู่แค่นี้ ตื่นเช้า ลงพื้นที่ แก้ปัญหาจุดเล็กๆ แต่สุดท้ายแล้วน้ำยังท่วมเหมือนเดิม การจราจรเหมือนเดิม ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ตีกลับไปที่ชัชชาติได้ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องระยะยาวที่เราต้องมองต่อไป
แต่ระยะสั้นเห็นชัดเจนก็คือว่า ด้วยสไตล์แบบนี้ พอเทียบกับ พล.อ. ประยุทธ์ขึ้นมา คนก็เห็นความแตกต่าง อย่างความแตกต่างเรื่องบุคลิกการตอบคำถาม
พล.อ. ประยุทธ์ติดลูกโมโห กราดเกรี้ยว เทียบกับชัชชาติที่รับฟังแล้วพูดคุยเป็นกันเอง สามารถยกมือไหว้นักโทษได้ กอดคอคนกวาดขยะ มันเป็นบุคลิกของนักการเมืองที่สามารถเข้าถึงได้ แล้วพอเขาลงแรงไปหน้างานเยอะ บางทีปัญหาอยู่ที่หน้างาน จึงไม่ค่อยเห็นภาพในห้องประชุม ก็เป็นสไตล์ที่แตกต่าง ถามว่ากดดันไหม ดูจากภาพข่าวชัยวุฒิ
เห็นภาพ มีป้าย มีคนมายืนหน้ากระดาน
เป็นภาพรัฐมนตรีดิจิทัลที่รูปแบบอะนาล็อกมาก คือผมเห็นใจนะ เขาพยายามอยู่ เขารู้แล้วปัญหาอยู่ตรงไหนเพราะเกิดภาพเปรียบเทียบ แม้ชัชชาติไม่ตั้งใจก็ตาม ต้องยอมรับว่าคนเขาอดที่จะเปรียบเทียบไม่ได้ เหมือนกำลังทำงานแล้วมีหัวหน้ามา 2 คน หัวหน้าคนใหม่ทำงานแบบนี้ขึ้นมา เราก็อดเปรียบเทียบโดยปริยายไม่ได้ว่า เอ๊ะ ทำไมไม่ทำแบบนี้ ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมเขารับฟังนะ ทำไมต่างๆ สิ่งที่เห็นวันนี้ก็อย่างที่บอก ถามว่ากดดันไหม ผมว่ากดดันแน่นอน
ไม่ใช่กดดันเพียงแค่ต้องลงมาหน้างานมากขึ้น มันกดดันทุกระดับ เป็นแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นเป็น Soft Power ที่รุนแรงมาก เป็นรอยกระเพื่อมที่คนจะตั้งคำถามว่า ถ้าแพลตฟอร์มทราฟฟี่ฟองดูว์ได้ผล คนจะตั้งคำถามว่า จังหวัดต่างๆ ทำไมไม่ทำ และรัฐบาลทำไมไม่ทำ ทำไมรัฐบาลไม่เอาแพลตฟอร์มนี้เข้ามา เป็นรอยกระเพื่อมที่เกิดขึ้นโดยปริยาย แล้วผมว่าอันนี้แรงยิ่งกว่าในระยะสั้น แรงที่สุด ที่ผมเคยพูดว่าเป็น Soft Power ในแง่ของชัชชาติทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ที่ยืนอยู่ในระนาบเดียวกันสูงใกล้เคียงกัน อยู่ดีๆ ชัชชาติกระโดดสูงกว่าคนอื่น เปรียบเทียบบุคลิก เปรียบเทียบการทำงานคน 2 คนในความเป็นผู้นำ เปรียบเทียบโดยปริยาย
ขณะเดียวกัน วิธีการทำงานของชัชชาติ การเอาเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วเข้ามา ไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ที่เพิ่งค้นพบ มีอยู่แล้วและหยิบเอามาใช้อย่างได้ผล คำถามต่อมาคือ แล้วทำไมหน่วยงานอื่นไม่ทำ ซึ่งจริงๆ ชัชชาติไม่ใช่คนแรกในประเทศไทยที่หยิบมาใช้ ชัชชาติเคยยกตัวอย่าง 2 ที่ที่ใช้ก่อนหน้านี้
ซึ่งตรงนี้คนจะรู้สึกโปร่งใส กรมที่ดินทำไมไม่ทำ กระทรวงมหาดไทยทำไมไม่ทำ จังหวัดต่างๆ ทำไมไม่ทำ กระเพื่อมไปไกล ไม่ใช่อยู่เพียงแค่นี้ แต่ไปไกลมาก
มองปรากฏการณ์ Facebook Live ของชัชชาติอย่างไร
อันนี้ทรงพลังมาก การ Live ไม่ใช่ทุกคนทำได้ เพราะจะเห็นว่าเป็นหรือไม่เป็น เก่งหรือไม่เก่ง เพราะ Live จะบอกบางอย่างไปเรื่อยๆ แต่มีคนวิ่งเข้ามาถามซึ่งชัชชาติก็เจอ ในขณะที่บางคน Live ไม่มีพลัง
ผมถามชัชชาติบนเวทีเพราะสงสัยว่าใช้เทคนิคอะไรในการสื่อสาร เพราะเป็นการ Live ที่ทรงพลังมาก เขาพูดแล้วเรารู้สึกว่าเขาเข้าใจปัญหา เหมือนผู้ดำเนินรายการที่หันมามองกล้อง คือคุยกับคนดูอยู่เรื่อยๆ แล้วอธิบายเรื่องราวให้ฟัง
ที่ผมจับประเด็นในมุมผมจากที่ดูอยู่เรื่อยๆ คือ 1. เขาจะพยายามอธิบายว่าปัญหาคืออะไร จะไม่ใช่บอกว่าปัญหาทำไมถึงแก้ไม่ได้ อธิบายด้วยการสื่อสารที่ง่าย และเขาจะบอกว่าตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่ ตอนที่พาเข้าไปสำนักระบายน้ำ เห็นจออะไรต่างๆ มากมาย เพื่อให้คนเห็นว่าจริงๆ ที่คุณไม่เห็นมันมีจอแบบนี้นะ มีคนกำลังทำงานอยู่นะ แล้วก็บอกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะแก้ไขอย่างไร เหมือนเวลาไปดูพื้นผิวจราจร คือบอกว่าจะทำอะไร และบอกด้วยว่ากำหนดเวลาเมื่อไร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการทำงาน การทำงานมี ‘เสร็จ’ กับ ‘สำเร็จ’
ถ้าเสร็จคือสั่งการไปแล้วจบ ใครชินกับระบบราชการคือ ประชุมสั่งการแล้วเหมือนจบ แต่ถ้าทำงานภาคเอกชนหรือคนอยู่หน้างานจริงๆ จะรู้ว่า หัวใจสำคัญคืองานสำเร็จ คือสิ่งที่สั่งการไปมันจบหรือเปล่า มันแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า เช่น ไปทวงงานที่ลำสาลี หลังจากไปวันแรกทางผู้รับเหมาบอกว่าเสร็จวันที่ 25 มิถุนายน แกก็เลยวิ่งไปดูวันที่ 25 มิถุนายน คนอื่นนั่งรถไปแต่แกวิ่ง
ที่บอกว่าการ Live ทรงพลังเพราะว่ามีการบอกเล่าให้เห็นว่าการทำงานเป็นอย่างไร รู้วิธีการแก้ปัญหา คือคนเรารอคอยได้ แต่ต้องรู้ว่าเราอยู่ระยะเวลาไหนของการรอคอย แล้วชัชชาติบอกสิ่งที่เป็นประโยชน์ว่า การสื่อสารที่ดีคือต้องเข้าใจปัญหา ต้องมีความรู้ มีกึ๋น รู้ว่าปัญหาคืออะไร สังเกตการสื่อสารบางคำ บางคีย์เวิร์ด ชัชชาติบอกให้รู้ว่า เขารู้เรื่อง อย่างเช่น ไฟไหม้ที่บ่อนไก่ แกถามคำถามแรกๆ ว่า รถดับเพลิงมาถึงภายในกี่นาที แล้วก็บอกไปเลยว่า ต้องมาภายใน 8 นาทีถึงจะแก้ปัญหาได้ ถ้าเลยกว่านั้นมันลุกลาม คีย์เวิร์ดนี้ถ้าเราฟังปั๊บนี่คือการรู้ปัญหา
แกบอกว่าถ้าคนเราเข้าใจปัญหา มันสามารถอธิบายเรื่องยากเป็นเรื่องง่ายได้ ในฐานะที่เป็นนักสื่อสาร เราก็จะรู้ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องอะไรจะอธิบายวนๆ แต่ถ้าเราเข้าใจเรื่องนั้นอย่างลึกซึ้ง เราสามารถทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ฉะนั้นการ Live ของชัชชาติคือการสื่อสารแบบนี้ที่ทำให้ทรงพลัง พอสื่อสารอย่างทรงพลังคนก็ติดตามดู ยังไม่รวมการวิ่ง ซึ่งคนธรรมดาทั่วไปเขาไม่ค่อยทำกัน หมายถึงว่ามันดูแปลกและดูแตกต่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้การ Live ของเขามีพลัง
แต่ในมุมหนึ่งคนก็รู้สึกว่าโปรโมตเกินไปหรือเปล่า ถามว่าใช่ไหม ผมก็ว่าใช่ ถ้าในเชิงการเมืองก็คือคะแนนนิยมทางการเมืองด้วย การ Live ทำให้เห็นว่ากำลังทำอะไร สมัยก่อนศิลปินดารา AF หรือ The Star มีแฟนคลับเยอะเพราะเขาดูซ้ำๆ เรื่อยๆ ว่าทำอะไรอยู่ กินข้าว ซ้อมร้องเพลง นักร้องบางคนเกิดขึ้นมาแต่แฟนคลับไม่เหนียวแน่นขนาดนี้ มีความชื่นชมแต่เวลาไปงานอีเวนต์สู้แฟนคลับ AF หรือ The Star ไม่ได้ เพราะแฟนคลับเห็นทุกวัน
ถ้ามีคนดู Live ชัชชาติอย่างนี้ก็มีความผูกพันแล้ว แล้วตัวละครตัวนี้เริ่มน่ารัก ในเชิงการเมืองลองนึกถึงเสื้อเหลือง เสื้อแดง ที่มีช่องทีวีประจำของเขา ตอนสมัยเสื้อเหลืองก็เกิดขึ้น ดูประจำซ้ำๆ ตลอด เสื้อแดงก็ดูตลอด แต่พลังนั้นคือพลังการโจมตีอีกฝั่ง คือไม่พอใจและสุดท้ายเราก็จะอินไปกับสิ่งเหล่านั้น เป็นวิธีการสื่อสารแบบ Live เหมือนกัน
ขณะที่ชัชชาติจะไม่มีลักษณะของการโจมตี แต่เป็นการพูดแก้ปัญหามุมต่างๆ แต่เมื่อดูไปเรื่อยๆ ก็จะติด และที่น่ากลัวอีกอย่างในเชิงการเมืองของชัชชาติคือ อยากรู้หลังบ้าน การ Live ของเขามีคนกรุงดูอยู่เท่าไร คนต่างจังหวัดดูอยู่เท่าไร ลองนึกดู ถ้าต่างจังหวัด 30% แล้วขยายไปเรื่อยๆ จะเกิดอะไรขึ้นในเชิงการเมือง อาจจะพูดว่าทำให้ชัชชาติเดือดร้อนไปเรื่อยๆ (หัวเราะ)
คือสิ่งเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้น แล้วก็พอดูไปเรื่อยๆ ต่างจังหวัดดูมากขึ้นเรื่อยๆ คะแนนนิยมก็จะมา แล้วจะกระเพื่อมไปสู่การตั้งคำถามกับผู้ว่าฯ ในจังหวัดตัวเองด้วย แล้วมีผลต่อถ้าชัชชาติลงการเมืองสนามใหญ่ขึ้นมา แต่จริงๆ ชัชชาติอาจจะไม่ได้คิดแบบนี้ก็ได้ คือการ Live เป็นการรายงานตัวกับประชาชนว่ากำลังทำอะไรอยู่
ดนตรีในสวนมีมานานแล้ว แต่ทำไมยุคชัชชาติบูมและแรงขนาดนี้
ชัชชาติก็ยอมรับว่าไม่ใช่คนเริ่มต้น ผมว่ามีมานานแล้วไม่ต่ำกว่า 10-20 ปี แต่การเอามาใช้ช่วงเวลานี้ คือหลังเจอโควิดมา 2 ปีไม่ได้เจอความบันเทิงเลย แล้วอยู่ดีๆ มีคนเอาดนตรีมาเล่นในสวน ซึ่งชัชชาติวิ่งประจำในสวน เขามองสวนสาธารณะควรจะเป็นแหล่งบันเทิงที่ไม่ใช่ต้องพาคนไปห้างอย่างเดียว เป็นจังหวะพ้นโควิดแล้วคนต้องการความบันเทิงแบบนี้ขึ้นมา ไม่ใช่แค่ดนตรีในสวน แต่ที่สยามก็คึกคัก คือคนโหยหาสิ่งเหล่านี้ หลังจาก 2 ปีโควิดมันโหดร้ายมากจึงโหยหาสิ่งเก่าๆ ขึ้นมา ฉะนั้นชัชชาติมาถูกจังหวะ ถูกเวลา แล้วก็บังเอิญพลังของ 1.3 ล้านเสียงที่ทำให้ได้รับการเลือกตั้ง ทำให้เกิดพลังเรื่องนี้ขึ้นมา แล้วทำให้คนไปร่วมเยอะมาก
นอกจากแง่ดีแล้ว มีอุปสรรค เช่น ไฟไหม้ 3 ครั้งใน กทม. ในรอบ 1 เดือน จะเป็นบทพิสูจน์ใหม่กับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. หรือไม่
ผมกลับรู้สึกว่า เวลามีปัญหามันไม่ได้หมายถึงทางลบทางเดียว แต่เป็นทางบวกเหมือนกัน ก็คือถ้าคุณแก้ปัญหาได้เร็ว หรือทำให้รู้สึกว่าปัญหานั้นดีขึ้น หรือทำให้คนประสบภัยรู้สึกว่ามีกำลังใจมากขึ้น หรือมีมาตรการระยะยาว เช่น หลังไฟไหม้บ่อนไก่ ก็เริ่มมีการบอกว่าต่อไป กทม. ต้องพร้อมกว่านี้ มีระบบอาหาร ที่พัก อะไรต่างๆ ถ้าเขาทำได้ก็ทำให้ปัญหานี้โชว์ความเป็นผู้นำ เช่นเดียวกับสึนามิในสมัยทักษิณ ชินวัตร ก่อนเหตุการณ์สึนามิคะแนนความนิยมเริ่มตก แต่พอเกิดปัญหาสึนามิแล้วแก้ปัญหาได้ คะแนนนิยมก็ขึ้นมา คล้ายโควิด ถ้าผู้นำคนไหนแก้ปัญหาได้ดีก็จะได้รับคะแนนนิยม ปัญหาที่มีเยอะๆ ขึ้นอยู่กับว่าแก้ปัญหาอย่างไร ถ้าแก้ได้ดีก็นำมาสู่คะแนนนิยม ถ้าแก้ไม่ดีก็กลายเป็นคะแนนนิยมตกต่ำ
แล้วบางทีบางเรื่องอาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นเรื่องท่าทีว่าเขามีอย่างไรกับผู้ประสบภัย
กทม. เปิดเผยงบประมาณปี 2566 ลงเว็บไซต์ ให้ประชาชนแสดงความเห็น
การทำเรื่องงบให้โปร่งใสเป็นข้อดีมากๆ เพราะแต่ก่อนข้อมูลเรื่องงบประมาณ ข้อมูลเรื่องโครงการต่างๆ เป็นความลับ มีคนรู้ไม่กี่คน ทำให้คนไม่เข้าใจว่าเงินของเราไปไหน แต่การเอาเข้าสู่เว็บไซต์ทำให้โปร่งใสขึ้น แม้แต่ก้าวไกลครั้งก่อนทำเรื่องงบรัฐบาล พ.ร.บ.งบประมาณ ทำเป็น Excel ให้ง่ายขึ้น ก็มีเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากที่เขาอยากรู้อยากเห็น เขาก็เข้าไปดูมากขึ้น วิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น ฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นประโยชน์มากถ้าทำให้โปร่งใส สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องทุจริตได้ดีมาก
จำได้ว่า พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร เคยเล่าให้ผมฟังว่า วิธีการป้องกันแก้ไขเรื่องโจรที่ดีที่สุดคือ แสงสว่าง คุณติดไฟรอบบ้าน โจรมีโอกาสจะเข้าบ้านคุณน้อยกว่าบ้านที่มืดๆ เพราะโจรก่ออาชญากรรมต้องการเวลาสั้นๆ ไม่ให้ใครเห็น ถ้ามีไฟสว่างโจรจะไม่เข้า หรือเข้ายากมาก เช่นเดียวกัน การเอางบประมาณโครงการต่างๆ ขึ้นเว็บไซต์มันทำให้โปร่งใส เหมือนการฉายไฟเข้าไปที่งบประมาณ ซึ่งทำให้คนรู้อย่างกว้างขวาง พอคนรู้สิ่งเหล่านี้ปั๊บ คนก็สามารถติดตามเรื่องราวได้
เคยมีสมัยไหน ยุคใคร ที่ทำแบบนี้ไหมที่ผ่านมา
ไม่ค่อยเห็น แม่แต่นักข่าวขอเรื่องราวจากหน่วยงานต่างๆ ยังยากเลย แต่เว็บไซต์นี่กดแล้วเข้าไปดูได้เลย ใครอยากรู้เข้ามา ขณะที่ของหน่วยงานรัฐ แค่เข้าไปขอดูยังไม่ได้เลย ขอดูยากมาก
การขอดูง่ายมันทำให้เห็นตั้งแต่การตั้งงบ แล้วถ้ายิ่งทำให้โปร่งใสมากขึ้น เข้าสู่รายละเอียดของโครงการคล้ายๆ ทราฟฟี่ฟองดูว์ ก็คือว่าทุกเขต ทุกหน่วยงาน โครงการอะไรแตกย่อยเลยว่าเป็นโครงการตรงไหน เริ่มต้นอย่างไร ตั้งงบเท่าไร ประมูลได้เท่าไร การเห็นความโปร่งใสของการประมูล ขั้นตอนในสิ่งเดียวกัน เชื่อไหมว่าของชิ้นเดียวกันแต่คนละเขต บางทีประมูลราคาไม่เท่ากัน ยกตัวอย่าง GT200 หน่วยงานรัฐแต่ละหน่วยงานซื้อกันตั้งแต่สี่แสนถึงล้านสอง เพราะอยู่คนละหน่วยงาน ไม่มีใครไปตรวจวัดได้ว่าทำไมถึงราคาแพง หรืออาจจะผูกว่าเพิ่มอันนี้ไปนิดหน่อย ตัวอย่างง่ายๆ อีกอันหนึ่งคือ โซลาร์เซลล์เสาไฟกินรี โซลาร์เซลล์ธรรมดากับมีรูปกินรี ราคาต่างกัน แต่ละที่ประมูลไม่เท่ากัน เหตุผลก็คือว่าเพราะคุณไม่รู้ราคาจากอีกที่หนึ่ง
แต่คราวนี้คนที่จับตามองไม่ใช่สื่อแล้ว ชาวบ้านทั่วไปสามารถกดดูเล่นได้ว่าเขาประมูลราคาเท่าไร แล้วก็จะเห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้น แล้วสิ่งเหล่านี้ถ้าทราฟฟี่ฟองดูว์ได้ผล ก็จะทำให้เกิดเป็นธรรมชาติ ประชาชนเข้าไปเองเลย ไปบอกข้าราชการ
แล้วงานก็เสร็จไปสองหมื่นปัญหาภายในไม่ถึงเดือน สมัยก่อนไม่รู้ใช้เวลานานเท่าไร อย่างไฟริมทางไม่สว่าง แต่วันนี้ มะรืนนี้เสร็จ แบบนี้เกิดขึ้นทันทีทันใด ฉะนั้น โครงการต่างๆ ถ้าทำให้โปร่งใสไปเรื่อยๆ แล้วถ้ายกระดับถึงขั้นดูความคืบหน้าในเว็บไซต์ เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียวแถวบ้านดูได้ว่าทำถึงไหน เรารู้ว่าต้องรอนานอีกเท่าไร จะมีประโยชน์จากการทำให้โปร่งใส
เรื่องทุจริตคอร์รัปชันจะถูกแก้มากขึ้น และส่งผลเรื่องอื่นหรือไม่
อย่างที่ผมบอกว่าแสงสว่างมันช่วยได้ พอสว่างแล้วรู้ว่าชาวบ้านมั่นใจ สามารถฟ้องไปที่กระดานทราฟฟี่ฟองดูว์ได้เมื่อไร แล้วระบบนี้ปิดชื่อให้ ถ้าไม่มีคนข้างในไปบอก แล้วปัญหาอยู่บนหน้าจอ สามารถฟ้องได้ว่าเทศกิจมาเรียกเงิน สามารถบอกได้ว่าขยะมาแบบนี้ สิ่งเหล่านี้แก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น เพราะคนเดือดร้อนรู้สึกว่ามีที่ฟ้อง สามารถฟ้องไปแล้วถึงหูคนมีอำนาจ ถ้าชัชชาติฟันเป็นตัวอย่างสัก 2-3 คน ก็จะไม่กล้าทำหรือทำอย่างแนบเนียนขึ้น
ระบบส่วย สินบน มีโอกาสหมดไปในยุคนี้ไหม
ไม่หมด (หัวเราะ) คนคิดจะโกงก็คงหาทางโกงให้ได้ แต่ก็ป้องกันได้เยอะ เพราะมีแสงสว่างไปทั่ว คนที่กลัวว่าหัวหน้าจะเห็นหรือชัชชาติจะเห็น มีแน่นอน
ชัชชาติแต่งตั้ง ธงทอง จันทรางศุ เข้ามานั่งประธานกรุงเทพธนาคม จะเป็นความหวังใหม่หลังจากมีปัญหามากมายหรือไม่
กรุงเทพธนาคม เป็นดินแดนลึกลับมายาวนาน ไม่มีใครรู้ว่าเขาทำอะไรกันบ้าง ทั้งที่งบประมาณส่วนใหญ่ไปใช้กับอันนี้เยอะมาก เขาตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อให้การทำงานง่ายขึ้น ไม่ผูกติดกับระบบราชการมากนัก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นช่องว่างเหมือนกัน โครงการใหญ่ๆ อยู่เต็มไปหมด เช่น โรงงานขยะที่อ่อนนุชก็ผ่านกรุงเทพธนาคม หรือรถไฟฟ้าก็เช่นกัน
ผมไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่าที่ถึงขนาดว่าห้ามเปิดเผยสัญญา เพราะไม่มีสัญญาอะไรที่ทำกับรัฐแล้วบอกว่าห้ามเปิดเผยได้ ผมก็คิดว่า เอ๊ะ มันแปลกนะ สิ่งเหล่านี้ที่น่ากลัว หรือการที่อยู่ดีๆ กว่ารถไฟฟ้าจะหมดสัญญาประมาณปี 2572
ปรากฏว่าเหลือเวลาตั้งเกือบ 10 ปี ไปต่อสัญญาว่าหลังปี 2572 ให้เขาเดินรถ มันเป็นเรื่องแปลกมาก ผมว่าการเข้าไปกรุงเทพธนาคม ง่ายที่สุดผมไม่รู้ว่าแก้ไขได้มากเท่าไร แต่ผมรู้อย่างเดียวว่า งบประมาณถ้าทำดีๆ โอ้โห ลดได้มโหฬารแน่นอน เพราะว่ากลไกพวกนี้เป็นหลุมดำมืดมานาน ถ้ามีแสงสว่างส่องเข้าไปเมื่อไรผมว่าเราจะเห็นอะไรเต็มไปหมดเลยครับ
ภาพรวมท่าทีเป็นมิตรของชัชชาติ ไม่สร้างศัตรู ไม่โจมตีใคร ไม่ด่าอดีตที่ผ่านมา ทำให้การทำงานเข้ากับทุกคนและทำงานง่ายขึ้นไหม
ผมว่าชัชชาติพยายามทำอย่างนั้น แต่เชื่อเถอะครับว่าศัตรูไม่ต้องเพาะ มันมาเอง ยิ่งในเชิงการเมือง ชัชชาติยิ่งเด่นเท่าไรยิ่งไม่สบาย เขาไม่มีทางยอม แต่ความพยายามประสานงานระบบนี้เชื่อว่าจะทำงานง่ายขึ้น เพราะเขาให้เกียรติคนที่ทำงานด้วยค่อนข้างเยอะ
ฉะนั้นระบบนี้เป็นระบบที่หน่วยงานต่างๆ ก็จะไม่รู้สึกว่ามาแย่งบทบาท แม้ว่าสุดท้ายแล้วคนจะรู้สึกว่าชัชชาตินั่นแหละ เพียงแต่ว่าวิธีการทำงาน วิธีการบอกเล่า วิธีการเอ่ยชื่อ
สังเกตไหม ชัชชาติใช้การ Live ให้เป็นประโยชน์ บางทีดึงเขาให้เข้ามาร่วมเฟรม ให้เขามีโอกาสได้พูด มีโอกาสได้ออกจอที่จะบอกคนว่าทำอะไรอยู่ หรือไปกับผู้ว่าการไฟฟ้า ก็ดึงผู้ว่าการไฟฟ้ามาก็ให้เกียรติ โดยบอกว่าท่านให้เกียรติมาเอง อะไรต่างๆ ภาษาแบบนี้คนทำงานร่วมกัน ถ้ามีผู้ใหญ่มาพูดภาษาแบบนี้กับเรา เราจะมีกำลังใจทำงานมากขึ้น
ตอนนี้ดูเหมือนว่าพอชัชชาติเข้ามาด้วยคะแนนเสียงที่ล้นหลามขนาดนี้ คนก็คาดหวังสูง แล้วพอทำงานได้สักประมาณเดือนหนึ่งก็สร้างความหวังให้คน กทม. ได้เยอะจริงๆ ตอนนี้ถึงขนาดว่าคนเรียกร้องให้ชัชชาติไปนั่งนายกฯ เอฟเฟ็กต์นี้สะเทือนการเมืองภาพใหญ่ ที่ทำให้หลายๆ คนต้องลุกขึ้นมาทำบางสิ่งบางอย่างหรือมีการเปลี่ยนแปลงอะไร ทำไมการเมืองภาพใหญ่ถึงเป็นไปได้ขนาดนั้น
หลายคนอาจจะรู้สึกว่าชัชชาติมาลงผู้ว่าฯ กทม. แล้ว อย่างน้อยพรรคการเมืองต่างๆ ก็รู้สึกว่าแกไม่ลงแข่งกับเรา เพราะแกอยู่สนามนั้นแล้วจะไม่มาแข่ง
สมมติว่าเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เกิดขึ้นเมื่อปี 2563-2564 แล้วผลงานออกมาแบบ 1 เดือนที่ผ่านมา คือผลงานดีมาก คนชื่นชม เกิดชัชชาติฟีเวอร์แบบนี้ขึ้นมา ชัชชาติจะเป็นคนอันตรายที่สุดของพรรคการเมืองอื่นๆ เพราะว่าทำงานตั้งแต่ปี 2563-2565 แล้วจะลาออกเพื่อลงสนามใหญ่มันไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเหมือนกับทำงานมา 2-3 ปีแล้วก็ลงสนามใหญ่ได้ จะเป็นคู่ต่อสู้ที่น่ากลัวมาก
แต่วันนี้บังเอิญเพิ่งเริ่มต้น แม้แต่วันนี้ได้ฟังนักการเมืองเขาบอกว่า เขากลัวประเด็นนี้จริงๆ นะ เขากลัวว่าเลือกตั้งใหญ่ชัชชาติจะลาออกจากผู้ว่าฯ กทม. แล้วลงแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งในมุมผม ผมรู้สึกว่าชัชชาติไม่น่าทำอย่างนี้นะ แต่การเมืองก็ไม่แน่นอนใช่ไหมครับ นักการเมืองก็มีสิทธิกลัวอยู่
อย่างวันนี้ผมเห็น Facebook ของคุณบุญยอด สุขถิ่นไทย ของประชาธิปัตย์ บุญยอดเขียนบอกว่า คนกรุงเทพฯ แค่อยากได้ความชัดเจน ชัชชาติจะทำตามสัญญาก่อนเลือกตั้งว่าจะทำงานให้กรุงเทพฯ 4 ปี 214 นโยบายอยู่ไหม หรือ 5-6 เดือนข้างหน้าจะได้คืบเอาศอก แล้วทิ้งภาระคนกรุงเทพฯ ให้เลือกตั้งใหม่ ใช้งบประมาณรอบสอง
ในเชิงการเมืองคือ ต้องการให้ชัชชาติตอบว่าไม่ลงการเมืองใหญ่ เขาต้องการแค่นี้ ต้องการคำตอบนี้ว่าให้ชัชชาติออกมาปฏิเสธว่าไม่ลงเพื่อเป็นพันธสัญญา เขาจะได้ปลอดโปร่งใจ เพราะว่าคุณลองนึกดู ถ้าบังเอิญเพื่อไทยกับชัชชาติคุยกันได้ แล้วชัชชาติไปลงเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งใหญ่เดือนมีนาคม แล้วมีอุ๊งอิ๊งอยู่ด้วย คือได้ 3 คนกระแสจะเปลี่ยน แลนด์สไลด์ที่เกิดขึ้นมีโอกาสเป็นจิ๊กซอว์อีกตัวหนึ่งที่สำคัญ
ฉะนั้นหัวใจสำคัญตอนนี้ ทำอย่างไรให้ชัชชาติบอกว่าไม่ลงแน่นอน ตัดไปหนึ่ง
อย่างน้อยที่สุด สมมติเพื่อไทยจะไปอ้างประเด็นนี้เพื่อดึงดูด ส.ส. ให้เข้าร่วม มันจะได้หมดตัวแปรไป 1 ตัว ในเชิงการเมืองคือการตัดตัวแปรตัวนี้ออก ให้ชัชชาติออกมาปฏิเสธว่าไม่จริง แค่นั้นเอง
คิดว่าอาจารย์ชัชชาติจะลาออกมาลงนายกฯ จริงหรือ
ไม่น่าจะ เพราะด้วยบุคลิกนิสัยของชัชชาติ เนื่องจากเขาแบกรับคะแนนนิยมมา แล้วก็ภายในมีนาคม 2566 อีกไม่กี่เดือน ถ้าลาออกแล้วต้องใช้งบประมาณเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ใหม่ เขาจะโดนโจมตีเยอะอยู่พอสมควร แล้วจริงๆ ผมว่าชัชชาติเองก็อยากสร้างผลงานที่ชัดเจน การใช้เวลา 9 เดือนผลงานยังไม่ชัดเจน แต่ถ้า 4 ปีต้นไม้ที่เราลงปลูกโตแล้วนะ คือเราปลูก 2 ล้านต้นมันโตแล้ว
อะไรก็ดูดีไปหมด วันนี้ฟีดแบ็กที่มาถึงชัชชาติดีไปหมด แม้จะมีเรื่องนั้นเรื่องนี้มาให้พิสูจน์ แต่วันข้างหน้าความคาดหวังของคนพอทำได้ก็คาดหวังไปอีกเรื่อยๆ ท้ายที่สุดอาจจะต้องเจอเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือการโจมตีต่างๆ นานาในอนาคต เมื่อถึงวันนั้นคิดว่าอาจารย์ชัชชาติจะรับมือไหวหรือไม่
คือผมมอง 2-3 เรื่อง คือเรื่องงานที่เข้ามา การบริหารงานต้องมีผลสำเร็จให้เห็น ตอนนี้เริ่มเห็นว่าเส้นเลือดฝอยมีโอกาสสำเร็จอยู่จากแพลตฟอร์มที่ทำมา แต่พอเรื่องใหญ่ที่เป็นความคาดหวัง ไม่ว่าจะเป็นมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจราจร น้ำท่วม ผมไม่รู้ว่าชัชชาติจะสามารถทำได้สำเร็จหรือเปล่าในช่วง 2-3 ปีนี้ ตรงนี้เป็นเรื่องผลงานชัดๆ
แต่อีกเรื่องหนึ่งที่ผมว่าชัชชาติเจอแน่นอนก็คือ พอขึ้นมาถึงจุดหนึ่งการโดนเตะตัดขาทางการเมืองมีแน่นอน มันต้องเกิดขึ้น อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือว่า พอสักพักหนึ่ง แม้ว่าชัชชาติจะพยายามหลบคำถามเรื่องการเมือง หรือพูดถึงรัฐบาลก็ไม่วิจารณ์ ตอนไปสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศก็มีการถามเรื่องให้วิจารณ์รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ชัชชาติก็บอกขอไม่วิจารณ์เพราะว่าต้องทำงานร่วม คือพยายามหลบเรื่องเหล่านี้ตลอดเวลา
แต่เชื่อเถอะ พอการเมืองไปเรื่อยๆ ก็จะเจอคำถามแหลมคมขึ้นเรื่อยๆ เช่น ถ้ามีการชุมนุมใหญ่ขึ้นมา การอำนวยความสะดวก การพูดถึงจุดยืนทางการเมือง การพูดถึงอะไร จะโดนบีบคำถามให้ชัชชาติต้องแสดงทัศนะของตัวเองออกมากับเรื่องนี้ ซึ่งแสดงทัศนะเรื่องการเมืองออกมาเมื่อไร โอกาสที่จะเป็น 2 ฝ่ายเกิดขึ้น ฝ่ายหนึ่งที่เคยหนุนชัชชาติ แต่จุดยืนทางการเมืองไม่เห็นด้วย ก็จะทำให้คะแนนนิยมลดลงได้
ชัชชาติไม่สามารถที่จะประนีประนอมรักษาเลี้ยงตัวโดยไม่กระทบกระทั่งกับใครตลอดไป ไม่มีทาง
แม้แต่เพียงแค่ไปสวนครูองุ่น ตลาดนัดราษฎรเมื่อวันก่อน ก็มีเสียงอีกมุมหนึ่งว่าอย่างไรกันแน่ ฉะนั้นชัชชาติจะเจอแบบนี้อยู่เรื่อยๆ และคำถามพวกนี้จะแหลมคมขึ้นเรื่อยๆ
การทำงานแบบใหม่ ลงพื้นที่ถ่ายทอดสด Facebook Live แล้วที่ผ่านมาคน กทม. เสียโอกาส หรือเสียอะไรไปบ้าง กับวิธีการแบบเดิมๆ นักการเมืองหน้าเดิมๆ
ผมว่าคนรู้สึกเองได้ ถ้าเขาชอบวิธีการแบบนี้ แล้วคิดว่าวิธีการแบบนี้ได้ผล ก็หมายความว่าช่วงที่ผ่านมามันเสียเวลา คือหมายความว่าเสียเวลากับคนที่เคยทำในรูปแบบเดิมๆ ซึ่งเขาอาจจะไม่ได้ผิด เพราะเขาทำแบบเดิมๆ แต่นี่คือวิธีการใหม่ ซึ่งทำให้คนรู้ว่าวิธีการใหม่มันดีกว่าวิธีการเก่านะ ผมว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่คนรู้สึกได้เอง
คนรู้สึกได้เองว่า ถ้าชัชชาติเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2562 เพื่อไทยได้คะแนนเสียงสูงสุด แต่เวลาเลือกตั้งจริงๆ อาจจะคุณหญิงสุดารัตน์ก็ได้ แต่ถ้าเขาเลือกชัชชาติมา แปลว่าประเทศไทยจะได้สไตล์การทำงานนี้เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน 3 ปีกว่า แล้วคนก็จะรู้สึกเองว่า เอ๊ะ เวลามันเสียไปหรือเปล่า คนก็จะรู้สึกได้เอง
การเมืองภาพใหญ่ เรื่องที่ สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา ได้ติง พล.อ. ประยุทธ์ กลางสภาที่ไม่มาตอบคำถามกระทู้สดของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เรื่องปัญหาปากท้อง ต่อมา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็พูดเรื่องนี้ บอกว่าแค่ 1-2 ชั่วโมงยังบริหารเวลาไม่ได้ แล้วจะบริหารประเทศได้อย่างไร เรื่องนี้มองอย่างไร
การตอบกระทู้สด คนที่มีวาทศิลป์ดีๆ จะสู้ ยกตัวอย่างคนที่ตอบในสภาตลอดเวลาไม่เคยหลบเลยคือ อภิสิทธิ์ กับ สมัคร สุนทรเวช คือคนที่สามารถยืนแล้วสู้ได้ แต่สำหรับคนที่ปราศรัยไม่เก่ง พูดไม่เก่ง ก็จะพยายามหลบ ไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญใหม่ระบุชัดเจนมากขึ้นไหมว่าจะต้องมาตอบ
ส่วน พล.อ. ประยุทธ์วิธีเขาคือการหลบแล้วมอบหมาย ซึ่งพลาดในเรื่องการมอบหมายมาก เพราะเสร็จกับสำเร็จเป็นคนละเรื่อง แกสั่งไปแล้วนึกว่าเสร็จแล้ว แต่ไม่ตามให้จบว่ามีใครไปจริงๆ หรือเปล่า ถ้าทุกคนสามารถจะบอกว่าไม่ว่างๆ แล้วไม่เกิดอะไรขึ้น ครั้งหน้าผมก็ไม่ว่าง เรื่องอะไรผมจะต้องไปตอบปัญหาซึ่งผมไม่ได้ทำ เพราะคนที่รับผิดชอบจริงๆ สมมติเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดูแล แล้วมอบหมายรัฐมนตรีช่วยซึ่งไม่ได้ดูแลเรื่องนี้ แล้วต้องไปตอบเรื่องที่เขาไม่ค่อยรู้เรื่องมันก็ลำบาก ฉะนั้นถ้าหัวหน้าก็คือประยุทธ์ไม่ทำอะไรกับปัญหาที่เกิดขึ้น ครั้งต่อไปคุณมอบหมายเขาก็หลบเท่านั้นเอง
มีหวังจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้หรือไม่
ผมว่ามันเหลือไม่กี่เดือนแล้ว ทนๆ หน่อย คิดว่าประชาชนทนได้ แต่สัญญาณที่เห็นก็คือเสียงที่ สุชาติ ตันเจริญ พูดถึงประยุทธ์แรงมาก พูดถึงการสั่งแบบทหาร ซึ่งเป็นการพูดที่แรงมาก แบบนี้ผมบอกเสมอว่ายิ่งใกล้ 4 ปีเมื่อไรหมูจะไม่กลัวน้ำร้อน ไม่ใช่ สุชาติ ตันเจริญ คนเดียว แต่ ส.ส. ทุกคนในสภาไม่มีใครรู้ว่าแต่ละคนครั้งหน้าจะลงสมัครในพรรคเดิมหรือพรรคใหม่
ช่วงนี้เป็นช่วงเวลา ถ้าสุชาติพูดอย่างนี้แล้วคนเฮปรบมือได้คะแนน ผมว่าสุชาติก็จะพูดอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ ถ้าเขารู้ว่าตัวเขาเป็นดาวฤกษ์ ก็คือว่าเขาสามารถลงสมัครพรรคไหนก็ได้ เขาไม่จำเป็นต้องลงสมัครพลังประชารัฐก็ได้ อย่าลืมว่า ส.ส. เขตเพิ่มขึ้นเยอะ จาก 350 เป็น 400
ถ้าย้ายพรรค ส.ส. เขตคือคนที่พรรคต้องการ เพราะหมายถึงว่ามีฐานคะแนนเสียงเยอะมาก ในขณะที่บัญชีรายชื่อเหลือ 100 คน
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะถึงนี้ ฝ่ายค้านจะสามารถเผด็จศึก มีหมัดน็อก ครม. รัฐบาล ถึงขนาดนั้นไหม
มี 2 ประเด็น
1. เนื่องจากครั้งนี้เป็นการอภิปรายครั้งสุดท้าย และใกล้เลือกตั้งใหม่ ช่วงนี้ ส.ส. ใกล้ที่จะต้องเลือก บางทีพรรคการเมืองไหนที่อุดหนุนอยู่ สมมติอยากโยกย้ายพรรคนี้ หรือเป็นงูเห่า อาจจะมีความต้องการจากพรรคที่เป็นต้นสังกัด คือพรรคที่เลี้ยงงูเห่าไว้ต้องการให้งูเห่าแสดงตัว ต้องการให้โชว์ตัว ไม่ใช่รับเงินไปเรื่อยๆ ตลอดเวลาแล้วไม่ยอมทำอะไรเลย ครั้งนี้ต้องแสดงตัว
ในขณะเดียวกัน ส.ส. บางกลุ่มที่คิดว่าจะย้ายมาอยู่ในพรรคฝ่ายค้าน อย่างสมมติเพื่อไทยเชื่อมั่นในกระแสแลนด์สไลด์แล้วอยากมา เพื่อไทยก็อยากให้แสดงตัวมากขึ้น ก็ได้ ฉะนั้นช่วงการอภิปรายจะมีช่วงการแสดงตัวอยู่ระดับหนึ่ง
กับอันที่ 2 ก็คือว่า การอภิปรายครั้งนี้ ถ้าดูจากเสียงจาก พ.ร.บ.งบประมาณที่ผ่านมา หลายคนก็ประเมินแล้วว่าคงไม่มีอะไร เพราะเสียงมันขาดกันมาก มันอาจจะหมายถึงภาพรวมๆ แต่จะมีรัฐมนตรีบางคนที่เป็นเป้าของฝ่ายรัฐบาลด้วยกันเอง คือมีสิทธิโดนแทง
พล.อ. ประยุทธ์ และ พล.อ. ประวิตร อาจจะรอด แต่มีบางคนโดยเฉพาะ สุชาติ ชมกลิ่น กับ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เป็นจุดที่น่ากลัวที่สุด
เพราะถ้าสมมติล้มประยุทธ์ไม่ได้ แต่สามารถให้รัฐมนตรีบางคนมีคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจเกินครึ่ง หรืออะไรต่างๆ ที่ทำให้เขาต้องหลุดไป การปรับ ครม. ต้องหลุดไป พอหลุดออกจากตำแหน่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือการปรับ ครม. ถ้าปรับ ครม. เมื่อไรก็จะกระเพื่อมอย่างรุนแรง อาจารย์สุขุม นวลสกุล เคยบอกว่า ส.ส. ทุกคนเป็นรัฐมนตรีวันเดียวก็เอา เพราะเขาจะได้ชื่อตลอดเวลาว่าอดีตรัฐมนตรีตลอดไป ต่อให้เป็นวันเดียวก็ตามที
ฉะนั้นอันนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่ถ้าเกิดมีการล้มรัฐมนตรีบางคนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เพราะผมเชื่อว่ามีดาบรอเสียบอยู่เยอะ เสียบคนเล็กๆ พวกนี้เสียบง่าย เสียบพล.อ. ประยุทธ์เสียบยาก ถ้าเสียบรัฐมนตรีเล็กๆ เหล่านี้ได้เมื่อไร นำไปสู่การปรับ ครม. มันจะไม่ใช่กระเพื่อมเพียงพลังประชารัฐ พรรคการเมืองอื่นๆ ผมเชื่อว่าก็จะกระเพื่อมเหมือนกัน สังเกตคลื่นใต้น้ำ ประชาธิปัตย์มีการเรียกร้องให้ปรับ นิพนธ์ บุญญามณี จะมีพรรคเดียวที่นิ่งมากคือภูมิใจไทย
ส่วนพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ กระเพื่อมแน่นอน ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา
แปลกใจไหม พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า กับ สมรสเท่าเทียม สองร่างนี้ของฝ่ายค้านจู่ๆ ก็ผ่านเฉยเลย
ก็แปลกใจอยู่เหมือนกัน แต่ขณะเดียวกันผมรู้สึกว่ามันเป็น พ.ร.บ.ที่ค่อนข้างก้าวหน้ามาก มันจะมีคนหนุ่มสาวอยู่จำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วย และที่สำคัญอันหนึ่งก็คือว่า มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ของรัฐบาล สุราก้าวหน้าเจอวาระ 2-3 จะหนัก เพราะตอนนี้ใครก็ตามที่มีผลสะเทือนจากสุราก้าวหน้าคงจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นง่ายๆ สมรสเท่าเทียมเชื่อว่าโดยส่วนใหญ่ค่อนข้างเห็นด้วย
นิด้าโพล อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร มาอันดับ 1 สะท้อนเลือกตั้งใหญ่ต้นปีหน้าหรือไม่
ยังเหลือเวลาอีกหลายเดือน คะแนนนิยมมีโอกาสพลิกไปตามเรื่องราวกระแสที่เกิดขึ้นฉะนั้นไม่ใช่ตัวยืนยัน 100% แต่ถ้าตัวเลขยังรักษาระดับและยังพุ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ก็น่ากลัว
ยกตัวอย่างง่ายๆ นิด้าโพลตอนผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาตินำและทิ้งระยะมาตลอด พอทิ้งมา 2-3 ครั้ง สำหรับผมผมเชื่อแล้วว่า 100% เพราะห่างมาก คะแนนอันนี้ก็เหมือนกัน กระแสพรรคจะเป็นอย่างนี้ แต่กระแส ส.ส. เขตก็ไม่แน่ เพราะเป็นความนิยมในบุคคล แต่แบบนี้สะท้อนกระแสพรรคได้ค่อนข้างเยอะทีเดียว
อุ๊งอิ๊งคะแนนนิยมพุ่งพรวดขึ้น เป็นเพราะชัชชาติเอฟเฟ็กต์ด้วยไหม อาจมองได้ว่าอดีตเคยอยู่เพื่อไทยเช่นกัน
ไม่ค่อยแน่ใจ กระแสคราวนี้น่าจะมาจากเพื่อไทยมีฐานอยู่แล้ว ถ้าดูตัวเลขจากนิด้าโพลครั้งที่แล้ว ตัวเลขที่สะบัดเข้ามาเยอะมากก็คือคนที่ยังไม่ตัดสินใจ หรือคนที่ยังไม่เลือกใครอะไรทำนองนี้ ที่สะบัดมา 11% แล้วบังเอิญอุ๊งอิ๊งมีอีเวนต์สำคัญที่ศรีสะเกษ อีเวนต์เหล่านั้นทำให้เกิดกระแสกระเพื่อมขึ้นมาได้
คือแต่เดิมอุ๊งอิ๊งไม่ค่อยชัดเจน ดังนั้น 2-3 ครั้งนี้กระแสอุ๊งอิ๊งเริ่มชัดเจนขึ้นว่า มีโอกาสจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย
ประชาธิปัตย์ ตอนนี้อยู่ในขั้นวิกฤตที่การเลือกตั้งรอบหน้าจะไหวหรือไม่
ผมว่าประชาธิปัตย์ในภาคใต้ เนื่องจากเลือกตั้งซ่อม 2 ครั้งที่ผ่านมาเขาใช้ได้ และพื้นที่ภาคใต้จะเป็นพื้นที่แข่งขันระหว่างพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ ครั้งที่แล้วพลังประชารัฐได้เยอะเพราะว่าประชาธิปัตย์อ่อนลง ในขณะเดียวกันกระแสลุงตู่ ครั้งที่แล้วในภาคใต้ดีมาก แต่วันนี้พลังประชารัฐเริ่มเปลี้ยลง เนื่องจากมีคู่แข่ง 2 คนหลักสำคัญ ภูมิใจไทยแค่บางเขตเท่านั้นเอง แต่พอมันมี 2 พรรคที่เหลืออยู่ พรรคหนึ่งอ่อนและเป็นฐานเสียงกลุ่มเดียวกัน โอกาสประชาธิปัตย์จะมีมากกว่าก็มีอยู่
ประชาธิปัตย์จะกลับมาฟื้นเป็นยักษ์ใหญ่เหมือนสมัยแข่งกับเพื่อไทยหรือไม่
คงยากอยู่ อย่างใน กทม. เอง จากเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็เริ่มเห็นชัด ดูจากเลือกตั้ง ส.ก. ประชาธิปัตย์ได้น้อยกว่าที่คาดคิดเยอะ ประชาธิปัตย์มีฐานหลักที่สำคัญคือภาคใต้ กับ กทม. ภาคใต้เขาอาจจะตีฟื้นขึ้นมาระดับหนึ่งเพราะพลังประชารัฐอ่อนลง แต่โดยรวมแล้วโอกาสค่อนข้างยาก ไม่แน่ใจว่าจะสามารถจะชนะภูมิใจไทยได้หรือเปล่า ภูมิใจไทยแรงมากๆ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าภูมิใจไทยจะเป็นที่ 2 ในการเลือกตั้งครั้งหน้า อาจจะมากกว่าพลังประชารัฐด้วยซ้ำ
ช่วยวิเคราะห์การบริหารของรัฐบาลชุดนี้ที่จะครบวาระแล้ว
ผมเชื่อว่าคนรู้สึกจริงๆ กับสภาพที่ตัวเองเจอ ล้วงกระเป๋าแล้วมีเงินอยู่หรือเปล่า ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีเมื่อไรเขาก็จะรู้สึก เวลาเขาจะชี้เป้า เขาก็มีอยู่อันเดียวคือหมอที่รักษา ถ้าโรคไม่หายเขาก็ชี้เป้าไปที่คนรักษา ฉะนั้นจะบอกว่าพอใจกับบรรยากาศที่ตัวเองเงินในกระเป๋าไม่ค่อยมีแบบนี้หรือเปล่า
ผมเชื่อว่าชาวบ้านทั่วไปไม่พอใจ ค่าครองชีพสูงขึ้นเยอะอะไรต่างๆ แม้ว่าอธิบายได้ ปัจจัยจากโรคหรืออะไรต่างๆ ซึ่งจริงๆ ก็ใช่ เพียงแต่ว่าคนป่วยจะเข้าใจยากครับ ก็รู้สึกว่าไม่ใช่หรือเปล่านะ แล้วเขาก็รู้สึกว่าช่วงที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ พล.อ. ประยุทธ์ไม่มีความโดดเด่นผลงานเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของรัฐบาลชุดนี้มาโดยตลอด ทำโพลไม่ว่าจะเป็นนิด้าโพล หรือซูเปอร์โพล พูดแบบนี้เหมือนกัน อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ยาวนาน ยิ่งยาวนานเท่าไร ยิ่งทุกข์ทรมานมากเท่าไร ชาวบ้านต้องการความหวัง วิธีการทั่วไปถ้าหมอคนนี้รักษาไม่ได้เขาก็จะเปลี่ยนหมอ อันนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องใหญ่ของรัฐบาล ถ้าแก้ไม่ได้ ไม่สามารถพลิกฟื้นได้ เชื่อว่ารัฐบาลหวังอย่างเดียวคือ ช่วงเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาจากจุดต่ำสุดแล้วฟื้นตัวขึ้นได้ รัฐบาลจะเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าคือผลงาน ฉะนั้นการยืนระยะในเชิงการเมือง คือยืนระยะให้ยาวนานที่สุดด้วยความหวังว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามาเมื่อเปิดประเทศ โควิดเริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจเริ่มหมุนเวียนแล้วมันจะดีขึ้น ผมว่านี่คือความหวังของรัฐบาลครับ