วันนี้ (7 มิถุนายน) ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พร้อมคณะผู้บริหาร สำนักงานการส่งเสริมอาชีพ สำนักพัฒนาสังคม และภาคประชาชน ประชุมหารือการขับเคลื่อนงานคนพิการของกรุงเทพมหานคร (กทม.)
ชัชชาติกล่าวภายหลังการหารือว่า ถือเป็นโอกาสดีที่เชิญภาคีเครือข่ายผู้พิการมาร่วมหารือ เพราะตามนโยบายอยากให้ กทม. เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ซึ่งผู้พิการเป็นกลุ่มคนสำคัญที่ กทม. อยากดูแล และไม่ใช่แค่วีลแชร์ แต่หมายถึงผู้พิการทางการได้ยิน สายตา ออทิสติก ซึ่งมีเด็กอยู่จำนวนมาก รวมถึงด้านจิตเวช ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะดูแลได้ต้องมีความเข้าใจและได้พูดคุยถึงปัญหา ซึ่งนโยบาย กทม. ต้องดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐาน ดังนั้นภาคีเครือข่ายจะตั้งคณะทำงานเพื่อเน้นให้เกิดการตอบโจทย์ผู้พิการทุกคนได้
สำหรับการทำเมืองให้น่าอยู่สำหรับทุกคน ไม่ได้มีประโยชน์สำหรับแค่ผู้พิการ แต่เป็นเหมือนการเข้าใจบุคคลอื่น และการดูแลซึ่งกันและกัน หมายถึงเมืองที่ดูแลห่วงใยเพื่อนที่อยู่ในเมืองเดียวกัน มีน้ำใจซึ่งกันและกัน จากนี้จะต้องดำเนินการทั้งเรื่องทางเท้า อารยสถาปัตย์ ห้องน้ำในสวนสาธารณะ การเรียนร่วมกับผู้พิการ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ถ้าเริ่มอย่างถูกแล้ว เชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้นได้
ชัชชาติกล่าวถึงสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน คือเรื่องการปรับปรุงการเดินทาง การเข้าถึงการบริการต่างๆ เพราะผู้พิการไม่ได้อยากอยู่แค่ในบ้าน ทุกคนอยากมีชีวิต มีกิจกรรม เดินทางเป็นอิสระได้ รวมถึงการจ้างงาน ถ้าเดินทางได้ก็เกิดการจ้างงานได้ แต่สิ่งสำคัญคือการไปไหนมาไหนโดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น เป็นสิ่งที่ กทม. ต้องเข้ามาช่วยเหลือ หากจะให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ก็ควรจะเริ่มจาก กทม. ก่อน
สำหรับความยากในการดำเนินการสำหรับผู้พิการมองว่าคือเรื่องของการจ้างงาน สร้างอาชีพ เพราะขณะนี้คนธรรมดาก็หางานยากเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ แต่หลังจากนี้คงจะต้องมีการจัดพื้นที่ให้กับคนพิการได้ค้าขายเพิ่มขึ้นด้วย
ชัชชาติกล่าวต่อว่า วันนี้ที่เชิญผู้พิการมา อยากให้ข้าราชการ กทม. ทุกคนเห็นว่าภารกิจของเราไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่มีผลกับชีวิตคนทั้งชีวิต โดยเฉพาะผู้พิการที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ถ้าเราตั้งใจทำงานให้ดี เราสามารถเปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งทั้งชีวิตที่ต้องอยู่กับรถเข็นได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องยิ่งใหญ่และเป็นภารกิจสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้ เพราะคือหนึ่งชีวิต ดังนั้นจึงมีความสำคัญมากๆ ที่จะเปลี่ยนความสุขของครอบครัวหนึ่งหรือชีวิตหนึ่ง
ด้าน ภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังจากนี้จะรวบรวมประเด็นความต้องการต่างๆ มาจัดทำเป็นแผนให้ตอบโจทย์ มีมากถึงสองร้อยกว่าข้อให้เป็นจริง เพื่อนำคนพิการมามีส่วนร่วมทุกประเภท เพื่อให้ร่วมขับเคลื่อนและตอบโจทย์ที่ประชาชนให้ความเห็นชอบ และอะไรที่เคยติดขัด 4 ปีนี้จะดำเนินการให้ดีขึ้น
ส่วนนโยบายดนตรีในสวนที่จัดทุกวันอาทิตย์ตามสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ชัชชาติกล่าวว่า เรื่องนี้มีมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ปัจจุบันได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น เป็นจังหวะที่ผู้คนตื่นตัวและให้ความสนใจพอดีจึงได้รับกระแสตอบรับที่ดี ซึ่งเมื่อได้กลุ่มอาสาสมัครมาช่วยทำกิจกรรมด้วยจึงยิ่งเพิ่มความสนุกสนาน
ซึ่งขณะนี้มีหลายเขตหลายพื้นที่ที่เรียกร้องอยากให้จัดกิจกรรมแบบนี้เช่นกัน ส่วนตัวอยากผลักดันให้มีการจัดงานให้ได้ทุกสัปดาห์อยู่แล้ว เพราะการดำเนินงานนโยบายนี้เป็นการจัดทำโดยไม่ได้ใช้งบประมาณ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว และการที่มีประชาชนอาสามาทำถือว่าเป็นการแสดงออกถึงพลังความร่วมมือ จากนี้จึงจะไม่ได้มีแค่ดนตรีแต่จะมีกิจกรรมอื่นๆ ด้วยที่จะทำให้ประชาชนมีความสุข มีรอยยิ้มให้กรุงเทพฯ
ชัชชาติกล่าวต่อว่า จะสามารถทำได้ทุกสวนหรือไม่ อย่างแรกต้องเริ่มจากให้สวนอยู่ใกล้ชุมชนเพื่อให้ประชาชนมาร่วมกิจกรรมได้สะดวก ต่อมาต้องประเมินให้มีความเหมาะสม เพราะการจัดดนตรีในสวนไม่ใช่การจัดคอนเสิร์ต ดนตรีที่ไปแสดงจะต้องไม่ทำให้เกิดการทำลายสวน ต้องเป็นการชื่นชมธรรมชาติพร้อมกับฟังดนตรี ต้องยึดสวนเป็นหลักและให้กิจกรรมดนตรีเป็นเรื่องเสริม
นอกจากนี้ยังมองว่าอนาคตอาจมีเอกชนมาร่วมเป็นผู้สนับสนุนด้วย ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้กลุ่มนักดนตรีที่มาทำกิจกรรม แต่เรื่องนี้ก็ต้องจัดการให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม สุดท้ายแล้วถ้านโยบายนี้ต้องใช้งบประมาณก็คิดว่าจะสามารถจัดสรรได้ พร้อมกันนี้ ชัชชาติได้ฝากถึงผู้ที่สนใจสนับสนุน สามารถติดต่อรายละเอียดกับ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ กทม.) ได้
ด้านศานนท์กล่าวเสริมว่า ในสัปดาห์นี้ วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน จะเป็นรอบของเขตคลองเตย ส่วนสถานที่จะแจ้งให้ทราบภายหลัง รูปแบบดนตรีจะเป็นแบบผสมผสานระหว่างดนตรีในชุมชนกับวงของผู้อำนวยการไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา และประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข