×

‘ชัชชาติ’ พิจารณา 2 สูตร ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไม่ห่วงคะแนนนิยมตก ยึดเรื่องยุติธรรม-ถูกต้อง

โดย THE STANDARD TEAM
15.08.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (15 สิงหาคม) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวถึงความคืบหน้าการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยายที่ 2) ว่า จำเป็นต้องเก็บ เพราะรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนนี้ (หมอชิต-คูคต และ แบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ) ไม่ได้เก็บค่าโดยสารมาตั้งแต่ปี 2563 ที่มีการเปิดให้ใช้บริการ ส่วนตัวเข้าใจว่าเป็นนโยบายของผู้บริหาร กทม. ในตอนนั้น กทม. ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้างเดินรถปีละ 5.9 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าเยอะมากเมื่อเทียบกับงบประมาณสาธารณสุขของ กทม. ปีละประมาณ 6 พันล้านบาท ดังนั้น หากไม่เก็บค่าโดยสารเลย ก็จะไม่เป็นธรรมกับคนอื่นที่ไม่ได้นั่งรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 

 

ชัชชาติกล่าวยอมรับว่า แม้จะเริ่มเก็บค่าโดยสารแล้ว รายได้ทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 1.6 พันล้านบาท เทียบกับค่าจ้างเดินรถ 5.9 พันล้านบาท ถือว่ายังคงไม่เพียงพอ มีส่วนต่างอยู่ ตอนนี้จึงจำเป็นจะต้องมีการแต่งตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) 3 คน เข้ามาร่วมให้ความเห็น เพราะหากเก็บไม่พอ ก็จะต้องมีการตั้งงบประมาณรายปีเพื่อมาจ่ายชดเชยส่วนต่างให้ เหมือนกับที่ กทม. จ่ายชดเชยให้ส่วนต่อขยายที่ 1 ทุกปี (สะพานตากสิน-บางหว้า และ อ่อนนุช-แบริ่ง) โดยมีการเก็บค่าแรกเข้าอยู่ที่ 15 บาท

 

สำหรับสูตรเก็บค่าโดยสารที่จะเกิดขึ้น มีอยู่ด้วยกัน 2 สูตร โดย วิษณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ได้ให้รายละเอียดดังนี้ 

 

สูตรที่ 1 ค่าแรกเข้าระหว่างส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 เส้นทางสายสีเขียวใต้ (อ่อนนุช-เคหะสมุทรปราการ) คงอยู่ที่ 15 บาทเท่าเดิม หมายความว่า แม้นั่งรถจากสถานีส่วนต่อขยายที่ 2 เข้ามาส่วนต่อขยายที่ 1 เช่น จากเคหะสมุทรปราการมาอ่อนนุช ค่าแรกเข้ายังเท่าเดิม 

 

ขณะเดียวกัน สำหรับเส้นทางสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-คูคต) ที่ยังไม่เคยเก็บค่าโดยสาร ก็จะเก็บค่าแรกเข้า 15 บาทเช่นกัน โดยเมื่อเข้าสู่ส่วนที่เป็นไข่แดงที่มีการเก็บค่าโดยสารตามปกติตั้งแต่ 16-44 บาท จะทำให้ค่าโดยสารสูงสุดที่ผู้โดยสารต้องจ่ายอยู่ที่ 59 บาทเหมือนเดิม 

 

สูตรที่ 2 ค่าโดยสาร 14+2x ที่จะมีการเก็บค่าแรกเข้า 14 บาท ร่วมกับค่าโดยสารเฉลี่ยสถานีละ 2 บาท ซึ่งตรงนี้จะมีการปรับใช้สำหรับส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 รวมกันในอนาคต ซึ่งค่าโดยสารสูงสุดที่ผู้โดยสารต้องจ่ายอยู่ที่ 59 บาทเช่นกัน

 

โดยทั้ง 2 สูตรนั้นจะทำให้ กทม. มีรายได้จากการเก็บค่าโดยสารใกล้เคียงกัน สูตรที่ 2 ราว 1.67 พันล้านบาท สูตรที่ 1 ราว 1.65 พันล้านบาท ต่างกันราว 20-30 ล้านบาท สำหรับการดำเนินการหลังจากนี้ หากมีการบรรจุเป็นวาระการประชุมหารือกับทาง ส.ก. เพื่อตั้งงบประมาณอุดหนุนแล้วเสร็จ กทม. จะทำเรื่องแจ้งผู้เดินรถ คาดว่าคงใช้เวลา 3-4 สัปดาห์ในการปรับระบบการเก็บค่าโดยสารหลังบ้าน

 

ชัชชาติกล่าวอีกว่า แนวคิดตอนนี้คือต้องหารายได้ส่วนอื่นที่ไม่ใช่ค่าโดยสารเพิ่ม เช่น ค่าโฆษณาบนตัวขบวนรถไฟฟ้า หรือตามร้านขายของในส่วนต่อขยายที่ 2 

 

“จากนี้ถ้าเก็บค่าโดยสารเพิ่ม คิดว่าได้คะแนนนิยมเพิ่ม เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้นั่งรถส่วนต่อขยาย ตอนนี้ กทม. เอาเงินของคนทั้งกรุงเทพฯ ประมาณ 5 ล้านคนไปจ่ายชดเชยให้กับคนนั่งรถส่วนต่อขยายราว 1.6 แสนคน เงินที่จะเอาไปช่วยค่าอาหารกลางวันเด็ก ผู้สูงอายุ หรือระบบสาธารณสุข สุดท้ายก็ต้องไปชดเชยค่ารถไฟฟ้า ถ้าทำจริงๆ ก็จะเหลือเงินไว้ช่วยประชาชนในส่วนอื่น ไม่ต้องไปกังวลเรื่องคะแนนเสียงหรอก เป็นเรื่องความยุติธรรมและความถูกต้องมากกว่า” ชัชชาติกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X