×

ชัชชาติเตรียมอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง กรณีสั่ง กทม. จ่ายเงินชดเชย BTS 1.2 หมื่นล้าน ชี้เป็นเรื่องเก่าที่ต้องดูให้ละเอียด

โดย THE STANDARD TEAM
07.09.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (7 กันยายน) ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานครและบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ชดใช้ค่าเสียหาย 12,600 ล้านบาทรวมดอกเบี้ย ให้กับบริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กรณีผิดสัญญาชำระค่าตอบแทนการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 

 

โดยกล่าวว่า สำหรับเรื่องรถไฟฟ้า BTS ต้องบอกว่าเป็นเรื่องเก่าที่มีการฟ้องกันตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นเรื่องเกี่ยวกับหนี้ที่มีการผูกพันอยู่ ดังนั้นขอเวลาศึกษาคำวินิจฉัยของศาลอีกครั้ง เพราะทาง กทม. เองมีสิทธิอุทธรณ์ภายใน 30 วัน จะต้องปรึกษาทีมกฎหมายและคณะผู้บริหารก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้ว มีเงินอยู่ 2 ส่วน เป็นเงินค่าจ้างส่วนต่อขยายที่ 1 และเงินส่วนค่าจ้างต่อขยายที่ 2 ส่วนที่ 1 ประมาณ 2,000 ล้านบาท ส่วนที่ 2 ประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่รวมดอกเบี้ยแล้วประมาณหมื่นกว่าล้านบาท

 

จากข้อมูลพบว่าไม่ได้จ่ายมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ประเด็นที่ทาง กทม. จะพิจารณาคือส่วนต่อขยายที่ 1 ที่ค้างอยู่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ยังไม่จบ ก็ยังไม่สามารถชำระได้ ส่วนต่อขยายที่ 2 มีภาระกับบริษัทกรุงเทพธนาคม ในส่วนนี้เป็นส่วนของหนังสือมอบหมายงาน กทม. จึงยังมีข้อกังวลว่าความจริงแล้ว กทม. มีอำนาจจ่ายในส่วนนี้หรือไม่ เพราะไม่ได้มีการระบุชัดเจนเหมือนส่วนต่อขยายที่ 1 ประเด็นนี้จะนำไปประกอบในการยื่นอุทธรณ์กับศาลปกครอง

 

ในมุมมองส่วนตัวยืนยันว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะว่าเป็นเรื่องตั้งแต่ในอดีตที่ทางคณะผู้บริหารชุดปัจจุบันไม่ได้เป็นคนทำไว้ แต่ก็อยากให้เกิดความยุติธรรมและทำให้เกิดความรอบคอบที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วต้องนำเงินประชาชนไปจ่าย ถ้าพิจารณาแล้วว่ามีมุมไหนจะได้ความกระจ่างเพื่อให้ชัดเจน ก็จะให้ทางศาลช่วยพิจารณาเพิ่มเติม ก็ต้องมีการยื่นอุทธรณ์ต่อไป

 

ชัชชาติกล่าวต่ออีกว่า อดีตที่ผ่านมายังไม่มีการชำระหลายปี แล้วจะให้ผู้บริหารชุดปัจจุบันที่เพิ่งเข้ามาเพียง 1-2 เดือนไปชำระก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้นต้องดูอย่างละเอียด แต่สิ่งที่น่าสนใจในหนังสือมอบหมายงานของส่วนต่อขยายที่ 2 คือ กรุงเทพธนาคมระบุชัดว่าไม่ใช่ตัวแทนของ กทม.

 

ทั้งนี้ ตามนโยบายในช่วงหาเสียงที่ตั้งใจไว้ว่าจะให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาถูกสำหรับคนกรุงเทพฯ ซึ่งตามอุดมคติควรจะมีเจ้าของเพียงคนเดียว เพื่อบริหารจัดการค่าโดยสารค่าแรกเข้าให้เป็นค่าเดียว แต่ถ้าต้องมีหลายผู้ดูแล ค่าอะไรหลายหลายอย่าง ก็จะไม่ง่ายในการจัดการ

 

ส่วนเรื่องการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-คูคต แม้จะเป็นอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. โดยตรง แต่จะต้องมีการรายงานให้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) รับทราบ เพราะหากก่อหนี้ไปแล้วจะต้องขออนุมัติงบประมาณ 

 

ส่วนการนำโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสภา กทม. ในวันที่ 14 กันยายนนี้ จะมีการรายงาน 3 เรื่อง ได้แก่ 

 

  1. ความเป็นมาของโครงการ เนื่องจากมีสมาชิกสภา กทม. มาใหม่ ยังไม่ทราบเรื่องราวของส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 

 

  1. เรื่องการจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ซึ่งฝ่ายบริหารได้วิเคราะห์อัตราค่าโดยสารของส่วนต่อขยายที่ 2 จากหลายแนวทาง จนได้ข้อสรุปว่าจะจัดเก็บ 15 บาท เนื่องจากเป็นการจัดเก็บในช่วงระยะเวลาสั้น ระหว่างรอ ครม. พิจารณาเรื่องการขยายสัญญาสัมปทานให้กับเอกชน

 

  1. เรื่องที่กระทรวงมหาดไทยสอบถามความเห็น กทม. เรื่องการขยายสัญญาสัมปทานให้กับเอกชน ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ครม.
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X