“อยากถามให้คิดแบบนี้ ถ้าอนุรักษนิยมไม่เอาชัชชาติ คุณจะได้ใคร? คุณต้องคิดให้ดีว่าถ้าอนุรักษนิยมล้มคุณชัชชาติ คุณต้องคิดให้ดีว่าคุณอยากจะได้ใคร ถ้าคุณล้มคุณชัชชาติระหว่างทางกลางคัน คุณจะมีใครมาเป็นผู้บริหารกรุงเทพฯ ในอุดมคติของคุณที่จะมาแทนตัวเลือกที่เหลืออยู่ คุณพอใจจริงหรือเปล่า?”
THE STANDARD พุดคุยอีกครั้งกับ ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี รองศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ที่ออกมา
ชวนมองกันก่อนที่ปรากฏการณ์ชัชชาติฟีเวอร์ ปัจจัยอะไรบ้างที่อาจารย์คิดว่ามีส่วนสร้างปรากฏารณ์นี้
เราจะเห็นชัดว่าคะแนนชัชชาติมาจาก 3 สายคือ เพื่อไทย 6-8 แสนคะแนน ก้าวไกล 2 แสนคะแนน คือคะแนนที่เลือก ส.ก.ก้าวไกลแต่ไม่ได้เลือกคุณวิโรจน์ และสุดท้ายอนุรักษนิยมก้าวหน้า ที่เลือก ส.ก.รักษ์กรุงเทพ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และ ส.ก.อิสระ แต่เลือกชัชชาติอีกประมาณ 3 แสน ปรากฏการณ์ชัชชาติเรียกได้ว่าชัชชาติเป็นสายรุ้ง เรนโบว์แคนดิเดต เป็นมีม เป็นความหวัง เป็นคนที่สื่อก็จะลงแล้วเป็นมีม
การนำเสนอของคุณชัชชาติก็เป็นการรื้อทัศนคติต่อแคนดิเดตตำแหน่งทางการเมืองคนอื่นๆ มันส่งผลเป็นโมเมนตัมเลย และชัชชาติคืออุดมคติของอนุรักษนิยม ถ้าประเมินชัชชาติในประวัติครอบครัว จุดยืน มุมมอง ทัศนคติ เขาเป็นอนุรักษนิยม เขาคืออุดมคติของอนุรักษนิยม แต่ด้วยการเมืองไทยที่บิดเบี้ยวทำให้ผลักคุณชัชชาติมาเป็นนักการเมืองของฝั่งเสรีนิยม
คำถามก็คือว่า ชนชั้นนำ อนุรักษนิยม คุณจะหาผู้สมัครแบบไหนมาแข่งกับคนแบบนี้ แล้วฝั่งอนุรักษนิยมจะเลือกผู้สมัครคนไหน ยิ่งกว่านั้นชัชชาติคืออนุรักษนิยมก้าวหน้าที่ยืนอยู่ฝั่งประชาธิปไตยมาตลอด และถ้าการเมืองไม่บิดเบี้ยวในประเทศอื่น คุณชัชชาติจะเป็นผู้สมัครอนุรักษนิยมที่มีคุณค่ามาก
ถ้ามองลึกเข้าไปกว่านั้น ในตัวคุณชัชชาติ คะแนนเสียงเป็นคะแนนตัวบุคคลค่อนข้างเยอะ ถ้าสมมติให้ฐานเพื่อไทยมี 6 แสนใน กทม. ตามคะแนน ส.ก. คะแนนตัวบุคคลที่คุณชัชชาติมีเองก็คืออีก 6 แสน ดังนั้นในฝั่งใดๆ จะฝ่ายอนุรักษนิยม ฝ่ายก้าวหน้า ฝ่ายอะไรก็แล้วแต่ จะหาแบบนี้ได้หรือไม่ คุณจะหาคนที่เป็นแบบนี้ คุณสมบัติแบบนี้ได้หรือไม่
แต่ก่อนจะถึงวันแลนด์สไลด์ ก็ยังมีความคิดส่วนหนึ่งในสังคม ที่บอกว่าประมาทอัศวินไม่ได้
ต้องมองว่าอนุรักษนิยมไทยไม่ได้โง่ โดยเฉพาะอนุรักษนิยมสายก้าวหน้า เขาให้คุณค่าทางการเมืองกับเรื่องเหล่านี้ ความขยัน อดทน ไม่มีปัญหาคอร์รัปชัน ทำงาน นอบน้อมถ่อมตัว
ทีนี้พูดถึงการทำงานของคุณอัศวิน รวมถึงผู้สมัครคนอื่นๆ ด้วย รอบนี้ทุกคนได้รับการปอกเปลือยโดยสื่อมวลชน ผ่านกิจกรรม เวทีดีเบต การทำรายการรูปแบบต่างๆ อย่างกรณีที่ช่องเวิร์คพอยท์ทำรายการ เอาบัตรแมงมุมมาถามผู้สมัคร แล้วคุณอัศวิน ไม่รู้จัก คือ 5 ปี 5 เดือน 5 วัน ของคุณอัศวินไปอยู่ไหนมา อันนี้คือตัวอย่าง
แล้วหลังๆ คุณอัศวินก็เทเวทีออกสื่อ แล้วอีกอย่างโอเคว่าภาพคุณค่าของคุณอัศวินคืออนุรักษนิยมแบบดั้งเดิม โอเค ถูกใจผู้ใหญ่ วัยอาวุโส ยังไม่มีเรื่องคอร์รัปชัน แต่ภาพของการทำงานที่กระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนมันไม่มี มีแบบคลองโอ่งอ่าง
ส่วนคุณชัชชาติ การที่มีภาพเดินทุกตรอกออกทุกถนน เรื่องนโยบาย 214 ข้อ นโยบายเก้าด้านเก้าดี มันก็สะท้อนความจริงใจ ยิ่งกว่านั้นอนุรักษนิยมได้ทดลองกับผู้บริหารจากการยึดอำนาจไป 2 ครั้งแล้ว ตั้งแต่ปี 2549 กับปี 25557 ดังนั้นคะแนนเสียงครั้งนี้คือการบอกว่าเขาอยากเปลี่ยน
มองในฝั่งอนุรักษนิยม ก็ยังมีทั้งคุณรสนา คุณสุชัชวีร์ คุณสกลธี แต่ฝั่งอนุรักษนิยมก็ยังมาเลือกให้คุณชัชชาติ ทำไมผู้สมัครคนอื่นในฝั่งอนุรักษนิยมถึงไม่เป็นตัวเลือก
มาดูที่พรรคประชาธิปัตย์ก่อน ตอนเลือกตั้งปี 2562 ใน กทม. คนที่เลือกประชาธิปัตย์เลือกสายคุณอภิสิทธิ์หรือเปล่า ที่ได้ 4.7 แสนเสียง ซึ่งคุณอภิสิทธิ์หาเสียงด้วยการบอกว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับคณะรัฐประหาร ส่วนฐานที่จะเลือกประชาธิปัตย์ที่อยากให้ร่วมรัฐบาล ก็ย้ายคะแนนไปที่พลังประชารัฐแล้ว
ดังนั้นต้องแยกว่าอนุรักษนิยมกลุ่มใหญ่ที่สุดอยู่ที่พลังประชารัฐ แล้วก็มีบางส่วนอยู่ที่พรรคคุณสุเทพ รวมพลังประชาชาติไทย
ส่วนคะแนนกรุงเทพฯ ที่เหลือจะอยู่กับเพื่อไทย ก้าวไกล ดังนั้นตอนนี้ก็สะท้อนการเปลี่ยนความคิดหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะฝั่งฝ่ายค้านเพิ่มแค่ 4-5%
ส่วนฝั่งอนุรักษ์ใน กทม. ก็แตกเป็น 4 สาย คือ พันธมิตร คือ กปปส. คือ ประชาธิปัตย์ คือ พลังประชารัฐ ความแตกแยกตรงนี้ทำให้เห็นความชัดเจนมากขึ้น แต่อย่างที่บอกว่าชัชชาติดึงบางส่วนจากคนกลุ่มนี้ได้ ซึ่งมันเป็นการย้ายมาสนับสนุนตัวผู้สมัคร ไม่ใช่การย้ายข้าง
เจาะมาที่พลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ การทำ กทม. ครั้งนี้ เกิดปัญหาอย่างไร ส.ก. ถึงเหลือเท่านี้
อย่างแรก มองว่าครั้งหน้าประชาธิปัตย์ได้เยอะขึ้นแน่ๆ พลังประชารัฐ 7.9 แสนเสียงคราวก่อนยืมมาจากประชาธิปัตย์ทั้งนั้น ครั้งนี้ก็ถอยออกมา และพลังประชารัฐกรุงเทพฯ ครั้งนี้คงระส่ำระสายมากๆ แล้วก็มีปัญหาภายในด้วย แต่เราก็เห็นว่าคะแนนที่ไหลไปฝ่ายค้านก็ไม่มี ดังนั้นจะไหลกลับมาประชาธิปัตย์ และประชาธิปัตย์จะมีเกมเขย่าหัวหน้าพรรคต่อ ดังนั้นโอกาสมาแล้ว แต่ประชาธิปัตย์จะช้อนมันได้อย่างไร นี่เป็นคำถาม
นอกจากนี้ ใน กทม. ตอนนี้เหลือ 4 พรรคหลักๆ แต่ถ้าพลังประชารัฐเกิดอ่อนกำลังลงอย่างมาก แล้วก็ประชาธิปัตย์ไม่สามารถช้อนคะแนนกลับไปได้ ใน กทม. จะมีพรรคสร้างอนาคตไทยขึ้นมา ที่จะสามารถปักหมุดใน กทม. คราวหน้า ซึ่งเป็นพรรคสายที่คนอนุรักษนิยมใน กทม. จะเปลี่ยนใจไปเลือกได้
ข้ามมาที่เพื่อไทย ส.ก. รอบนี้ 20 คน จะส่งผลในการทำพื้นที่อนาคตอย่างไร
ต้องบอกว่าเพื่อไทยเป็นพรรคเดียวที่ ส.ก. นโยบายชัดมาก ตัวแปรอย่างคุณอุ๊งอิ๊งก็เรียกว่ามาสร้างความนิ่งได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องกลับมาดูเรื่องฐานเสียงเพื่อไทย ที่ครั้งนี้แม้ได้ ส.ก. เยอะที่สุด แต่ก็เป็นฐานคะแนนเก่า เป็นกรุงเทพฯ รอบนอก ส่วนประชาธิปัตย์ได้ตรงโซนกลางๆ โซนธนบุรี ก็โซนของคุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส่วนก้าวไกลได้แนวรถไฟฟ้าเลย มันค่อนข้างชัดเจนว่าทุกพรรคมีพื้นที่เชื่อมโยงกับตัวเอง เพื่อไทยจึงมีโจทย์ว่าจะขยายฐานเสียงไปได้หรือไม่
ก้าวไกล ในสนาม กทม. เป็นอย่างไรบ้าง
คะแนนวิโรจน์คือขั้นต่ำที่ก้าวไกลจะมี 2.5 แสน นี่คือคะแนนที่ไม่ว่าอย่างไรก็จะเลือกก้าวไกล แล้วก็อีกคะแนนคือ 4 แสนของ ส.ก. ที่เป็น 20% ของการเลือกตั้งปี 2562 ก้าวไกลจึงไม่ได้มีคะแนนลดลง การเลือกตั้งครั้งนี้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้งปี 2562 ด้วย ดังนั้นพอเป็นเลือกตั้งใหญ่ คะแนนก้าวไกลจะได้คะแนน 5-6 แสน แล้วก็จำนวนคะแนนจะเปลี่ยนเป็นจำนวน ส.ส. ได้อย่างไร ในระบบการเลือกตั้งที่ 1 เขต ชนะได้ 1 คน แต่ถ้ากลับมามองที่สนามนี้ การปักหมุดครั้งแรกได้มา 14 ที่นั่ง น่าประทับใจ ส่วนในแง่คะแนนเสียงก็รักษามาตรฐาน คือคนที่ชนะก็คือคนทำงาน อย่างเขตพระนคร คนที่ชนะก็คือทำงานกลุ่มเส้นด้าย มันก็สะท้อนว่าถ้าเป็นคนทำงานจริงๆ มันก้าวข้ามขั้วความคิดฝั่งอนุรักษนิยมได้
เรื่องขั้วความคิด สีเสื้อ เทียบกับเรื่องการทำงานในช่วงโควิด อย่างที่มีเส้นด้าย มีสายไหมต้องรอด ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้แค่ไหน
มีผลมาก นี่แหละที่บอกว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดที่ก้าวข้ามขั้วความคิด ก้าวข้ามความขัดแย้งการเมือง เพราะในสนามท้องถิ่นเขตมันเล็ก การทำงานในพื้นที่จะทำให้คนก้าวข้ามขั้วความคิด สีเสื้อไปเลย
อีกปรากฏการณ์คือ ไทยสร้างไทย ยุทธศาสตร์รอบนี้อาจารย์ประเมินอย่างไร
อันนี้ต้องนับถือคุณศิธาที่เสียสละลงทั้งที่รู้ว่าไม่ชนะ แล้วเมสเสจหลักที่สื่อคือพรรคไทยสร้างไทยกับคุณหญิงสุดารัตน์ แล้วปักหมุดครั้งแรกได้ 2 แสน ถ้ามองที่คะแนน ส.ก. ก็ถือว่าไม่เป๋มาก เป็นการวางหมากเพื่ออนาคต คุณศิธาจะเป็นปาร์ตี้ลิสต์ที่คนรู้จักแล้ว แต่ 2 แสนคะแนนโดยที่เขตหลักของคุณสุดารัตน์กลับไม่ชนะ เขาแพ้เพื่อไทยในดอนเมือง ชนะที่สายไหม แสดงว่าตัวบุคคลยังไม่พอ
พรรคไทยสร้างไทยต้องคิดว่าจะสู้ด้วยอะไร เพราะ 2 แสนนี้อาจจะไม่ทำให้ไทยสร้างไทยได้ ส.ส. เขตเลยนะ แต่จะได้บัญชีรายชื่อ ก็ต้องรอดูว่าจะมีใครมาเสริมทัพดึงคะแนนในรอบหน้าเพิ่ม
สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ รอบนี้ เราก็เห็นการนำเสนอกองหนุน ทั้งหมดนี้ก็ไม่ชนะเลือกตั้งเลย ต้องถามว่านี่คือสัญญาณว่ามนตร์ขลังของกลุ่มคนเหล่านี้ เสื่อมไปจากคนกรุงเทพฯ หรือไม่
คนกลุ่มนี้มีบทบาทมาก ไม่ใช่สีสัน และมันเคยประสบความสำเร็จ ถ้าพลังพวกนี้ไม่มีอยู่จริงมันคงไม่เกิดรัฐประหารปี 2549 เกิดรัฐประหารปี 2557 ถ้าไม่มีพลังมันคงไม่ทำให้พลังประชารัฐได้มาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พลังของมนตร์ขลังนี้มันมากขนาดประชาธิปัตย์หายไปไม่เหลือที่นั่งใน กทม. เลย แต่ว่า 2-3 ปีหลังการเลือกตั้งปี 2562 มนตร์มันเสื่อม มันเริ่มเปลือยความคาดหวังของประชาชนที่ไม่ได้รับการสนองตอบเลย
ดังนั้นต่อให้พลังกลุ่มนี้ไม่แตกเป็น 4 คน แต่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวก็ไม่ชนะ นี่เพราะความบิดเบี้ยวของการเมืองที่ทำให้คนที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนฝั่งอนุรักษนิยมถูกผลักไปอยู่ฝั่งเสรีนิยม ในขณะที่ฝั่งอนุรักษนิยมประชาธิปไตยไม่มีตัวเลือก แล้วผู้นำทางความคิดก็มาสนับสนุนอนุรักษนิยมสุดโต่ง อนุรักษนิยมที่ไร้เหตุผล อนุรักษนิยมจารีตที่ไม่เท่าทันต่อคุณค่าสากลของโลก แต่ประชาชนเขาเดินหน้ากับคุณค่าสากลของโลกไปแล้ว
ส่วนคุณค่าต่างๆ ที่ฝั่งอนุรักษนิยมต้องการได้เป็นผู้ว่าฯ มันก็ไปปรากฏอยู่ในตัวคุณชัชชาติ ที่เป็นแคนดิเดตฝั่งเสรีนิยม คือจากประวัติครอบครัว การให้คุณค่าชีวิตการทำงาน ความรักลูก วิธีการสื่อสาร มาจนถึงความคิดต่อ LGBTQ กระทั่งวิธีคิดที่ทำให้คนกรุงเทพฯ เปลี่ยนมุมมองต่อการมองผู้นำทางการเมือง คือเป็นการเมืองแห่งความหวัง คือแม้ว่าการแข่งขันครั้งนี้การใส่ร้ายป้ายสีน้อยมาก ทุกคนมาพร้อมนโยบาย ทำการบ้านทำงานหนัก เดินสายหาเสียงกัน สาดโคลนกันน้อยมาก แต่มันก็ยังไม่เต็มสิบ แต่ละคนมีจุดด้อยของตัวเอง
พูดถึงเรื่องสาดโคลนที่โค้งสุดท้ายคิดว่าใส่กันเต็มแน่ อย่างที่ช่วงท้ายก็เกิดวาทกรรม ‘ไม่เลือกเราเขามาแน่’ กลับมาอีกครั้ง แต่ก็ไม่มากพอ ตรงนี้เพราะอะไร
เวลาจะใช้วาทกรรมมันต้องเป็นคู่แข่ง 1 ต่อ 1 ทีนี้พอครั้งนี้ ‘เรา’ มันมี 4 ต่อให้ไม่เลือกคุณชัชชาติ คะแนน ‘เรา’ มันก็หาร 4 อยู่ดี มันเลยไม่เกิดผลอะไร นอกจากนี้เรื่องวิชามารต่างๆ เวลาจะใช้ที่มันอาจไม่ได้ผลก็เพราะคนมีภูมิคุ้มกัน ก็เหมือนได้รับวัคซีนกันมาแล้ว เลยไม่มีใครกล้าจะแหลมกับเรื่องนี้ ผู้สมัครในฝั่งอนุรักษนิยมก็รู้ว่าต้องมาแข่งกันเอง คะแนนในตะกร้าฝั่งนี้มี 1.2 ล้าน เราเลยได้เห็นโค้งสุดท้ายปะทะกันเองมากกว่า
กลับมาที่คุณชัชชาติ ตอนนี้เริ่มทำงาน ทำงาน ทำงานแล้ว กับการได้เป็นคู่เปรียบที่แข็งแกร่งและมากับความคาดหวังสูงลิ่ว ต่อจากนี้จะเจออุปสรรคแบบไหนบ้าง
แน่นอนเรื่องกฎหมายระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หลังจากนี้ กกต. ก็ยังชงเรื่องความไม่สุจริตเที่ยงธรรมในการเลือกตั้งที่อาจพบหลังจากนี้ไปยังศาลต่อได้ นอกจากนั้นก็เรื่องร้องเรียนจากนักร้องที่ยังมีการตรวจสอบได้เรื่อยๆ
แต่คิดว่ากรณีคุณชัชชาติก็เชื่อว่าประชาชนที่เลือกมาจะเป็นเกราะป้องกันได้ดี คิดว่าถ้าแค่การเมืองในกรุงเทพฯ อาจจะไม่หนักเท่าไร แต่ถ้ามองการเมืองต่อจากกรุงเทพฯ ของคุณชัชชาติ ก็อยากจะมองว่าคุณชัชชาติควรให้ความสนใจกับกรุงเทพฯ ก่อน ทำผลงานที่หนักแน่นชัดเจน อาจต้องใช้ 8 ปี ส่วนเรื่องการจะเป็นนายกฯ ด้วยกฎหมายของไทยมันจะเป็นแบบอิสระไม่ได้ มันต้องมีพรรคสนับสนุน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพรรคไหนจะสนับสนุนเสนอชื่อคุณชัชชาติ อย่างพรรคเพื่อไทยก็ติดภาพเป็นพรรคของชินวัตรอยู่
ต้องถามต่อเรื่อง แลนด์สไลด์ นักการเมืองบางคนก็บอกว่า จังหวัดตัวเอง พรรคตัวเอง ก็แลนด์สไลด์ในจังหวัดนั้นจังหวัดนี้ จริงๆ มันเป็นปรากฏการณ์ที่เทียบกันได้จริงๆ หรือไม่
การเลือกตั้ง ส.ส. มันต่างกับการเลือกตั้งผู้ว่าแน่ๆ คนที่เลือก ส.ส. แต่ละเขตก็เลือกแตกต่างกัน ไม่ใช่การที่ทั้งจังหวัดเลือกคนอยู่คนเดียว คนละแบบกัน
ผู้ว่าฯ แลนด์สไลด์อย่างชัชชาติ นอกจากอุปสรรคเรื่องนักร้อง เรื่องการจะถูกสอบภายหลังโดยขบวนการต่างๆ ขององค์กรตามกฎหมาย ก็ยังมีอีกสลักระเบิดที่คุณชัชชาติต้องรับมือไม่ช้าก็เร็ว จริงๆ ก็เริ่มเกิดไปบ้างแล้ว อย่างการต้องตอบคำถามเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบกับอย่างที่เราเห็นการชุมนุมในรอบ 1-2 ปีมานี้ ในประเด็นที่แหลมคมต่างๆ เป็นโจทย์ใหญ่เกี่ยวกับจุดยืน ท่าที ต่อการตั้งคำถามเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์โดยประชาชน
อาจารย์คิดว่าผู้ว่าฯ ชัชชาติจะมีแนวทางอย่างไร ซึ่งทุกท่าทีย่อมเป็นดาบสองคม
ถ้าขึ้นมาเป็นผู้นำ ที่ไม่ได้จะเป็นแค่ผู้นำของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นผู้นำของทุกคน มันเป็นความท้าทายที่ทุกคนต้องเจอนะ ก็เชื่อว่าคุณชัชชาติจะถอดสลักระเบิดเวลานี้ได้ แล้วก็ทำได้ดีด้วย อย่างคำตอบเรื่อง 112 คุณชัชชาติที่ได้ตอบแบบนั้น มันก็พอจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนที่ไม่ได้มองเรื่อง 112 มาก่อน คิดได้ว่าควรจะมองเรื่องนี้อย่างไร
สำหรับคนที่ไม่ชอบ 112 คุณชัชชาติถึงจะไม่ได้บอกว่ายกเลิก แต่ก็บอกว่าอย่าใช้เป็นประเด็นทางการเมือง ด้วยวิธีตอบแบบมีวุฒิภาวะ มีการคิดละเอียด มันทำให้เปิดช่องของความเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหาในอนาคต คือคำตอบในเรื่องนี้หรือหลายๆ เรื่อง ถ้าเป็นเราเราก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร แต่คุณชัชชาติสามารถตอบให้ประเด็นทางการเมืองที่ร้อนแรงมาเป็นประเด็นเชิงนโยบายที่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนเอามาคิดร่วมกัน และเปิดความเป็นไปได้ที่ไม่ใช่แค่ขาวหรือดำ แต่เปิดพื้นที่ในเฉดสีมากมายให้ลดความขัดแย้งได้
สุดท้าย คิดว่าคุณชัชชาติจะอยู่ครบ 4 ปีไหม
อยู่ครบและจะไปต่อได้ด้วย คืออยากถามให้คิดแบบนี้ ถ้าอนุรักษนิยมไม่เอาชัชชาติ คุณจะได้ใคร คุณต้องคิดให้ดีว่าถ้าอนุรักษนิยมล้มคุณชัชชาติ คุณต้องคิดให้ดีว่าคุณอยากจะได้ใคร ถ้าคุณล้มคุณชัชชาติระหว่างทางกลางคัน คุณจะมีใครมาเป็นผู้บริหารกรุงเทพฯ ในอุดมคติของคุณที่จะมาแทนตัวเลือกที่เหลืออยู่ คุณพอใจจริงหรือเปล่า