×

ชัชชาติรับปัญหาหลักน้ำท่วม คือการรวมข้อมูลซอกซอยย่อยเพื่อกระจายงาน ย้ำไม่ได้ทำทุกอย่างคนเดียว

โดย THE STANDARD TEAM
03.08.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (3 สิงหาคม) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวถึงสถานการณ์และการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่าจากการไปที่ส่วนควบคุมสถานการณ์น้ำส่วนกลางของ กทม. พบว่าปัญหาหลักคือ ข้อมูลแยกย่อยในส่วนเส้นเลือดฝอยตามตรอกซอกซอยจะติดค้างอยู่เฉพาะที่เขตนั้นๆ ซึ่งในส่วนศูนย์บัญชาการหลักจะมีเพียงข้อมูลของถนนใหญ่ ถนนสายหลัก ที่มีระบบเซ็นเซอร์ติดตั้งเพื่อตรวจวัดระดับน้ำในถนน 100 สายรอบ กทม. เท่านั้น ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลส่วนย่อยจากรายเขตได้

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า ในส่วนนี้ที่เป็นปัญหาและต้องแก้ไข เพราะ กทม. เองมีข้อมูลจากทั้งสำนักการระบายน้ำ แอปพลิเคชัน Traffy Fondue และแต่ละสำนักงานเขตซึ่งข้อมูลกระจัดกระจายและมีการส่งต่อผ่านระบบอนาล็อกซึ่งไม่สามารถรวมมาที่จุดเดียวเรื่องนี้ กทม. อาจต้องมีการสร้างแอปพลิเคชันหรือจุดรวมเพื่อให้ข้อมูลทุกส่วนได้ประกอบร่างรวมกันเป็นที่เดียว เพื่อการบริหารจัดการทั้งการแก้ปัญหาและการกระจายงานจะได้ทำได้อย่างรวดเร็ว

 

ในขณะนี้มีหน่วยงานต่างๆ มาร่วมให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นจำนวนมาก การที่มีข้อมูลและกระจายงานได้ถูกต้องจะสามารถแก้ปัญหาในเบื้องต้นได้ ส่วนเรื่องเส้นเลือดฝอยที่จะต้องได้รับการรวบรวมข้อมูลเพื่อแก้ปัญหา และยอมรับว่ายังกังวลเรื่องของคลองรับน้ำที่หลายคลองน้ำเต็มทำให้ส่วนต่างๆ ไม่สามารถส่งต่อน้ำมาได้

 

ชัชชาติกล่าวต่ออีกว่า หัวใจหลักของการระบายน้ำคือน้ำจะต้องไหลลงคลองและส่งต่ออุโมงค์ไปยังแม่น้ำสายหลักอย่างเจ้าพระยา ฉะนั้นต้องมีการปรับปรุงระบบนี้ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เช่น การขุดลอกบ่อ ท่อ ทำจุดดักขยะที่ปลายคลองและซ่อมแซมเพิ่มเติมเครื่องสูบน้ำ อาจขยายผลไปต่อถึงเรื่องการกำหนดจุดทิ้งขยะ เพราะเมื่อน้ำท่วมขยะต่างๆ ก็กระจายตัวส่วนหนึ่งก็จะไหลไปอุดตามช่องทางระบายน้ำ

 

สำหรับการประชุมเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้ย้ำพิเศษเรื่องรอยต่อระหว่างจุดกั้นน้ำ ยิ่งเฉพาะในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนและน้ำจากทางภาคเหนือเดินทางมา แผนการรับมือมีการทำมาตลอด อย่างการขุดลอกท่อระบายน้ำที่คาดว่าเดือนนี้น่าจะอยู่ที่ 2,000 กิโลเมตรแล้ว และ กทม. จะมีรายงานตามพิกัด GPS เพื่อบอกว่าขุดลอกไปเท่าไร รวมถึงขอความร่วมมือจากกรมชลประทานต่อเนื่องในการรับส่งน้ำจากจังหวัดโดยรอบ และแผนระยะยาวภายใน 2 ปีต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้นเรื่องอุโมงค์ จุดไหน ที่จำเป็นก็ต้องเดินหน้าทำต่อไปและพัฒนาเส้นเลือดฝอยไม่ให้มีปัญหา

 

“ส่วนปัญหาที่คลองประเวศน้ำต้องเข้าไปที่คลองพระโขนง ซึ่งคลองพระโขนงเองก็ประสบกับปัญหาน้ำเต็ม อีกทั้งเส้นทางของคลองที่คดเคี้ยวทำให้น้ำไหลช้า สำหรับวิธีการแก้คือต้องพยายามควบคุมน้ำที่คลองพระโขนงให้ได้ก่อนในเบื้องต้น ซึ่งส่วนนี้กรมชลประทานก็เข้ามาช่วยดูอยู่ อนาคตข้างหน้าอาจจะต้องเพิ่มเส้นทางลัดเพื่อให้น้ำระบายได้เร็วมากขึ้น” ชัชชาติกล่าว

 

ชัชชาติยังกล่าวด้วยว่า เรื่องการจัดการน้ำท่วม กทม. มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการมี วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ช่วยดูภาพรวม และแต่ละเขตเองก็จะดูในจุดย่อย ซึ่งต้องยอมรับว่าระบบการสื่อสารอาจจะใช้รูปแบบเก่า แต่อนาคตต้องมีการเปลี่ยนแปลง ขอย้ำว่าตนไม่ได้ทำงานเรื่องนี้คนเดียว แต่ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองเต็มที่ ซึ่งจากที่ลงพื้นที่เองก็เห็นว่าน้ำระบายได้เร็วหลายจุด ตนเป็นแค่คนเล็กๆ แต่ก็พยายามให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และให้รู้ว่าเรารับทราบปัญหาจริงๆ คนระดับในพื้นที่ทำงานทำอย่างเต็มที่ ผู้บริหารก็ต้องลุยตาม เชื่อว่าทุกอย่างมีระบบอยู่แล้ว

 

ในส่วนของการเยียวยาบ้านเรือนประชาชน ชัชชาติกล่าวว่าต้องกลับไปดูระเบียบอีกครั้งหนึ่งว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง แต่ที่ผ่านมาตนยอมรับว่ายังไม่เคยเห็นแผนการเยียวยาในส่วนนี้ ฉะนั้นต้องขอกลับไปพิจารณาระเบียบอีกครั้งหนึ่ง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising