วันนี้ (7 พฤษภาคม) ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยทีมรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงผลการดำเนินงานในโอกาสครบรอบ 3 ปี พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ก้าวสู่ปีที่ 4 ภายใต้แนวคิด ‘ก้าวสู่ปีที่ 4 ขับเคลื่อนกรุงเทพฯ สู่เมืองแห่งโอกาสและความหวัง’
โดยยืนยันมุ่งมั่นสานต่อนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและการสร้างพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เน้นย้ำว่า การขับเคลื่อนเมืองไม่สามารถทำได้ด้วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่ง ต้องเกิดจากการร่วมมือกัน ซึ่งความร่วมมือนี้สะท้อนผ่านความสำเร็จหลายโครงการ เช่น ระบบรับแจ้งปัญหา Traffy Fondue ที่มีการแก้ไขเรื่องร้องเรียนไปแล้วกว่า 754,000 เรื่อง จากที่แจ้งมากว่า 929,000 เรื่อง สร้างความพึงพอใจให้ประชาชนถึง 81% การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยนอกจุดผ่อนผันกว่า 446 จุด ทำให้ทางเท้ากว่า 1,100 กิโลเมตร สะอาดและเป็นมิตรต่อผู้สัญจร และโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้นที่ทะลุเป้าไปกว่า 1.8 ล้านต้น พร้อมเพิ่มสวน 15 นาทีใกล้บ้านอีก 199 แห่ง
กรุงเทพมหานครได้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างกว้างขวางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและบริการประชาชน เช่น
- การจราจรและความปลอดภัย: ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ (Adaptive) 72 จุด ลดความล่าช้าในการเดินทาง 15% และกล้อง AI CCTV 100 จุด ตรวจจับผู้กระทำผิดกฎจราจรบนทางเท้า สร้างรายได้ค่าปรับกว่า 1.5 ล้านบาท และเชื่อมโยงข้อมูลอาชญากร
- การศึกษา: จัดการเรียนการสอนแบบดิจิทัลคลาสรูมด้วยโครมบุ๊ก ส่งผลให้คะแนนเฉลี่ยนักเรียนเพิ่มขึ้น 28%
- ข้อมูลเปิดเผยและบริการออนไลน์: Bangkok Open Data มียอดใช้งานกว่า 4 ล้านครั้ง เปิดเผยข้อมูลงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมพัฒนาระบบขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์ ลดเวลาพิจารณาเหลือ 14 วัน
- สาธารณสุข: โครงการตรวจสุขภาพล้านคน ตรวจไปแล้วกว่า 787,000 คน พร้อมพัฒนาศูนย์เทคโนโลยีสุขภาพดี (Health Tech) และ Telemedicine ให้บริการแล้วกว่า 92,000 ครั้ง
กทม. ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ผ่าน ‘สภาเมืองคนรุ่นใหม่’ ที่มีสมาชิกกว่า 800 คน และการแต่งตั้ง ‘ทูตสื่อสารเมืองกรุงเทพมหานคร’
รวมถึงการส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมผ่านกิจกรรม เช่น Pride Month และการจ้างงานคนพิการเพิ่มขึ้นสามเท่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ โครงการ BKK Food Bank ได้ส่งต่อมื้ออาหารให้กลุ่มเปราะบางแล้วกว่า 4 ล้านมื้อการจัดการวิกฤตและสิ่งแวดล้อม
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ชี้ว่า วิกฤตสามารถเปลี่ยนเป็นโอกาสในการพัฒนาระบบ เช่น ปัญหาน้ำท่วมนำไปสู่การสำรวจและแก้ไขจุดเสี่ยงกว่า 516 จุด จาก 737 จุด ปัญหารถบรรทุกตกหลุมนำไปสู่มาตรการจับน้ำหนักที่เข้มข้นขึ้น
ด้านสิ่งแวดล้อม นโยบาย ‘ไม่เทรวม’ และความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ช่วยลดปริมาณขยะได้กว่า 12% หรือกว่า 1,000 ตันต่อวัน เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด ประหยัดงบประมาณไปแล้วกว่า 1,200 ล้านบาท โด ยพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่าปริมาณขยะเฉลี่ยลดจาก 10,500 ตันต่อวันในปี 2562 เหลือ 9,200 ตันต่อวันในปี 2567
สรุปผลงานเด่นตามนโยบาย 9 ดี ในช่วง 3 ปี
- โปร่งใสดี: Traffy Fondue รับเรื่องกว่า 9 แสนเคส, Open Bangkok, ขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์
- เดินทางดี: แก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม 516 จุด, สร้างศาลารอรถเมล์ใหม่ 100+ แห่ง, ปรับปรุงทางเท้า 1,100 กิโลเมตร
- สิ่งแวดล้อมดี: ปลูกต้นไม้ 1.8 ล้านต้น, พัฒนาสวน 15 นาทีเกือบ 200 สวน, ลดขยะ 1,000 ตันต่อวัน
- สังคมดี: BKK Food Bank 4 ล้านมื้อ, จ้างงานคนพิการเพิ่ม 3 เท่า, ส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์
- สุขภาพดี: ตรวจสุขภาพล้านคน (ดำเนินการแล้ว 780,000 คน), Healthtech และ Telemed 187,000 ครั้ง
- เศรษฐกิจดี: จัดระเบียบหาบเร่ 400+ จุด, ฝึกอาชีพกว่า 100,000 คน
- ปลอดภัยดี: ปรับปรุงไฟฟ้าส่องสว่าง 115,000 ดวง, ติดตั้ง AI CCTV ตรวจจับมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า
- บริหารจัดการดี: ประหยัดงบจัดซื้อจัดจ้างปี 67 กว่า 3 หมื่นล้านบาท, จัดตั้งสำนักดิจิทัลกรุงเทพมหานคร
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า “หัวใจในการทำงานคือการสร้างความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยความเชื่อมั่นจะเกิดขึ้นได้จากความรู้และเทคโนโลยี ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) พร้อมยืนยันจะนำทีมงานก้าวสู่ปีที่ 4 ขับเคลื่อนกรุงเทพฯ สู่เมืองแห่งโอกาสและความหวัง เป็นเมืองที่มุ่งหน้าไปสู่อนาคตโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”