วันนี้ (28 พฤษภาคม) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 สมัยวิสามัญ เป็นพิเศษ ที่มี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม ชัชวาล แพทยาไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคไทยสร้างไทย ได้อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2569 โดยตั้งข้อสังเกตว่าการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลยังไม่สอดคล้องกับความเดือดร้อนของประชาชนฐานราก โดยเฉพาะเกษตรกรและกลุ่มคนตัวเล็กในระบบเศรษฐกิจ แม้งบประมาณปีนี้จะมีวงเงินสูงถึงกว่า 3.78 ล้านล้านบาท แต่ยังคงเป็นงบขาดดุล และให้น้ำหนักกับการกระตุ้นเศรษฐกิจจากส่วนบนของพีระมิด มากกว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากฐานล่างซึ่งยั่งยืนกว่า
ชัชวาลกล่าวว่า รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเสมือนอยู่ในภาวะปกติ ทั้งที่ประเทศยังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก เช่น ภาระหนี้ครัวเรือนสูง การส่งออกชะลอตัว และผลกระทบจากสงครามการค้าโลก รวมถึงมาตรการทางภาษีของทรัมป์ แต่การใช้งบยังคงสะท้อนแนวคิด ‘แบ่งกันกิน’ มากกว่าการจัดลำดับความจำเป็นเร่งด่วนของปัญหา
โดยเฉพาะงบกระทรวงหลักที่เน้นงบดำเนินงานและการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เช่น ภาคเกษตร แม้กระทรวงเกษตรฯ จะได้รับงบกว่า 1.3 แสนล้านบาท แต่นายชัชวาลตั้งข้อสังเกตว่ายังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาเรื้อรัง เช่น หนี้สินเกษตรกร ราคาผลผลิตตกต่ำ หรือน้ำท่วม ภัยแล้ง ซึ่งได้รับงบประมาณเพียง 3,000-4,000 ล้านบาทเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นมาตรการชั่วคราวที่ไม่ยั่งยืน จึงไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของภาคเกษตรได้
ชัชวาลยังชี้ให้เห็นด้วยว่า งบกลางจำนวน 6.3 แสนล้านบาท ว่าขาดรายละเอียดการใช้จ่ายอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ พร้อมตั้งคำถามว่าเหตุใดรัฐบาลไม่กระจายงบก้อนนี้ให้กับกระทรวงหรือหน่วยงานที่มีภารกิจชัดเจน ซึ่งจะทำให้สามารถติดตามผลได้ดีกว่า
นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายที่รัฐบาลเคยให้สัญญาไว้ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินอุดหนุนเด็กแบบถ้วนหน้า ที่ยังไม่สามารถผลักดันได้จริง แม้จะจัดงบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์ ในการสร้างความเสมอภาคทางสังคมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไว้สูงก็ตาม
ชัชวาลอภิปรายด้วยว่า การบริหารแบบรวมศูนย์ทำให้งบประมาณไม่ตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของแต่ละพื้นที่ จึงเสนอให้กระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ขณะเดียวกันยังแนะนำว่างบพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษาที่มีมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ควรมุ่งยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลให้เท่าเทียม ไม่ใช่ปล่อยให้บุคลากรโดยเฉพาะครูในพื้นที่ห่างไกลขาดแคลนมากถึง 50,000 อัตรา
ชัชวาลยังแสดงความกังวลต่อการโยกงบประมาณเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น งบโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมูลค่า 1.57 แสนล้านที่ถูกปรับเปลี่ยนเป้าหมายการใช้เงิน ซึ่งดำเนินการอย่างเร่งรีบ โดยขาดแผนงานชัดเจน อาจเป็นช่องทางให้เกิด ‘โกงแบบ Fast Track’ ดังนั้นจึงขอเสนอ 7 แนวทางที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ หยุดคอร์รัปชันเชิงนโยบาย, ฟื้นเศรษฐกิจจากฐานราก, เพิ่มงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน, ฟื้นฟูภาคเกษตร, กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น, ปฏิรูปการศึกษา และสร้างระบบสวัสดิการถ้วนหน้าอย่างแท้จริง