หลังจากที่บรรดาโอตะได้ตื่นเต้นกับข่าวคราวการเปิดตัววงน้องสาววงใหม่ป้ายแดงอย่าง CGM48 ไปแล้ว พร้อมกับเปิดสนามให้เหล่าสาวช่างฝันรุ่นใหม่เข้ามาออดิชันเพื่อสานฝันให้เป็นจริงในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จนกระทั่งได้เกิดงานแถลงข่าว ‘CGM48 We Need You เจ้า’ เพื่อเป็นการชี้แจงให้เหล่าโอตะ และบุคคลทั่วไปได้ทราบข้อมูลทั้งหมดที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหลังจากนี้
THE STADARD POP ได้สรุปประเด็น และสาระทั้งหมดจากงานแถลงข่าว ‘CGM48 We Need You เจ้า’ เพื่อให้ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจกับวงน้องสาววงใหม่ และร่วมเอาใจช่วยกับทุกก้าวย่างที่สำคัญของพวกเธอนับจากนี้เป็นต้นไป
จุดเริ่มต้นของ CGM48
1. ต้อม-จิรัฐ บวรวัฒนะ CEO ของ BNK48 ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของ CGM48 ว่า BNK48 Office เตรียมพัฒนาธุรกิจภายใต้แนวคิด Fan Base Economy กระจายออกไปไม่ให้กระจุกเฉพาะในกรุงเทพฯ เริ่มจากโปรเจกต์ #BNK48GOregional
ตั้งแต่งานโรดโชว์ 4 หัวเมืองใหญ่ ประกอบด้วย เชียงใหม่, ระยอง, ขอนแก่น และหาดใหญ่ ซึ่งจากการสังเกตพบว่าปริมาณแฟนคลับในพื้นที่ต่างจังหวัดเติบโตเป็นจำนวนมาก และได้การตอบรับอย่างท่วมท้น จนเกิดปรากฏการณ์ห้างแตกในทุกหัวเมืองที่ไปจัดงาน
2. สำหรับเหตุผลที่เลือกเชียงใหม่เป็นฐานที่มั่นวงน้องสาววงแรก เพราะว่าเชียงใหม่มีความหนาแน่นของประชากรประมาณ 1.7 ล้านคน เป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ยปีละ 2.9 ล้านคน
จากการที่ BNK48 ไปงานอีเวนต์ที่เชียงใหม่ถึง 14 ครั้ง ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดฐานแฟนคลับที่แข็งแรง นอกจากนี้ภาคเหนือยังมีวัฒนธรรมล้านนาที่เป็นเอกลักษณ์ มีความหลากหลาย สามารถสร้างความแตกต่างให้กับ CGM48 ได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย
CGM48 จะเน้นกิจกรรมสำคัญต่างๆ อยู่บริเวณภาคเหนือเป็นหลัก ไม่ได้ยึดติดอยู่ที่เชียงใหม่อย่างเดียวเท่านั้น โดยเปรียบเสมือนตัวแทนของคนในภาคเหนือ นำเสนอวัฒนธรรมภาคเหนือ ล้านนา ให้กับบุคคลภายนอก และนักท่องเที่ยวได้รู้จัก ซึ่งอาจเปิดมิติการตลาดรูปแบบใหม่ที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว
3. การบริหารงานของ CGM48 จะมีพื้นฐานการบริหารงานรูปแบบภูมิภาค ที่มีทีมงานบริหารจัดการด้วยตัวเอง โดยไม่เกี่ยวข้องกับ BNK48 ในกรุงเทพฯ และมีแผนพัฒนาไอดอลตระกูล 48 ไปหัวเมืองต่างๆ เช่น ภาคอีสาน ภาคใต้ และจังหวัดอื่นๆ ในอนาคต
4. นอกเหนือจากการแสดงออกทางวัฒนธรรมแล้ว CGM48 ยังต้องการนำเสนอคอนเซปต์ของวงผ่านสี ‘Mint Leaf’ หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า ‘เขียวมินต์’ เป็นสีประจำวงของ CGM48 สื่อถึงความสดชื่น และสวยงามของธรรมชาติในจังหวัดเชียงใหม่ บ่งบอกถึงตัวตนของวงได้เป็นอย่างดี
5. จำนวนการยื่นใบสมัครจนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม มีมากกว่า 3,500 คน โดยแบ่งเป็นช่วงอายุ 12-14 ปี จำนวน 1,750 คน 15-17 ปี จำนวน 1,100 คน 18-20 ปี จำนวน 450 คน และ 21-22 ปี จำนวน 200 คน
และมีผู้สมัครชาวต่างชาติอีกมากกว่า 100 คน โดยมีข่าวลือว่าหนึ่งในนั้น คือสมาชิกของ MNL48 อีกหนึ่งวงน้องสาว 48Group จากประเทศฟิลิปปินส์ ที่เพิ่งปลดสมาชิกบางส่วนออกตั้งแต่ยังไม่ได้เปิดตัว ซึ่งเรื่องนี้เราคงจะได้ทราบหลังจากประกาศรายชื่อออกมา
โดย ณัฐพล บวรวัฒนะ หรือจ๊อบซัง ชิไฮนินของ BNK48 กล่าวว่า สำหรับจำนวนสมาชิกในวงจะมีประมาณ 20-30 คนสำหรับรุ่นแรก และมีข้อกำหนดคือต้องฝึกซ้อม และต้องอาศัยในหอพักของวงที่จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น
6. ไฮไลต์ของงานในครั้งนี้คือการประกาศเรื่องสมาชิกทั้งสองคนของ BNK48 ที่ย้ายไปซัพพอร์ตรุ่นน้อง CGM48 คือ ออม-ปุณยวีร์ จึงเจริญ ในฐานะกัปตันวง CGM48 และ อิซึตะ รินะ ในตำแหน่งชิไฮนิน หรือผู้จัดการทั่วไปของ CGM48 (อ่านรายละเอียดของ 2 สาวเพิ่มเติมได้ที่ ทำความรู้จัก ออม และ อิซึรินะ รุ่นพี่ BNK48 ที่จะย้ายไปซัพพอร์ตรุ่นน้อง CGM48)
โดยจ๊อบซัง ยังกล่าวเสริมอีกว่า ในอนาคตข้างหน้า CGM48 จะมีการทำงานร่วมกันกับ BNK48 อย่างแน่นอน เช่น งานจับมือรวมทั้งสองวง หรือคอนเสิร์ตใหญ่ร่วมกัน ซึ่งสำหรับรายละเอียดคงต้องรอการประกาศจาก BNK48 อีกครั้งหนึ่ง
7. ในส่วนเพลงของ CGM48 ถ้าเป็นซิงเกิลหลักจะไม่ใช่เพลงของ BNK48 แต่จะมีการใช้เพลงของวงพี่สาวในบางโอกาสเท่านั้น นอกจากนี้จะมีเพลงชาติของตัวเองที่กล่าวถึงเมืองเชียงใหม่โดยเฉพาะ เหมือนกับเพลง BNK48 ที่กล่าวถึงกรุงเทพฯ
สิ่งที่น่าสนใจคือ เราอาจจะได้เห็นเพลงจากวงน้องสาวอย่าง HKT48, NGT48 และ STU48 มาแปลเป็นภาษาไทย รวมถึงอาจดัดแปลงเป็นภาษาเหนือ เพื่อให้เข้ากับภูมิภาคที่อยู่ก็เป็นได้
8. จิรัฐได้ตอบประเด็นที่หลายคนสงสัย ว่าการมาของ CGM48 จะทำให้ BNK48 มีความนิยมลดลงว่า ทั้งสองวงจะต้องแข่งขันกันเพื่อสร้างความนิยมของตนเอง และเป็นข้อดีด้วยซ้ำที่จะสามารถขยายตลาดไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย เหมือนที่วงน้องสาวของ AKB48 ทำมาก่อนหน้านี้
9. CGM48 ใช้งบประมาณถึง 100 ล้านบาทในการสร้างอาณาจักรของตัวเอง ประกอบด้วย สำนักงาน, โรงละคร (เธียเตอร์), ศูนย์ฝึกซ้อม, หอพักประจำ และดิจิทัล ไลฟ์ สตูดิโอ (โอตะส่วนใหญ่เรียกว่าตู้ปลา) ให้ครบวงจรเหมือนกับที่กรุงเทพฯ โดยมีจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางในการทำงานทั้งหมดของ CGM48
10. หลังจากที่ BNK48 มีส่วนร่วมกับการทำภาพยนตร์ในฐานะ BNK48 Films เปิดตัวด้วยผลงานล่าสุดของผู้กำกับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี อย่าง Where We Belong ทำให้เหล่าคอหนังยอมรับ และกำลังจะมีผลงานอีกหนึ่งชิ้น เป็นภาพยนตร์สารคดีอย่าง Real Me: BNK48 ของ โดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล ที่มีฝีมือการกำกับไม่แพ้กับการแสดง
ทาง BNK48 มีแผนที่จะสร้างภาพยนตร์ของตัวเองปีละ 4 เรื่อง ซึ่งจะเป็นเรื่องอะไร เราคงต้องติดตามกันต่อในอนาคต
ภาพ: CGM48
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: