สถานะสุทธิของข้อมูลที่แยกประเภทของคณะกรรมาธิการการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ ( CFTC ) ของสหรัฐฯ ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างจำนวนสถานะซื้อ (Long Position) และสถานะขาย (Short Position) โดยนักลงทุนจะใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อประเมินอารมณ์โดยทั่วไปของนักเก็งกำไรในตลาดทองคำได้
นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2019 สถานะสุทธิสัญญาฟิวเจอร์สทองคำตลาด COMEX ของบรรดากองทุนเฮดจ์ฟันด์และผู้จัดการกองทุนได้กลายเป็น ‘สถานะซื้อสุทธิ’ ต่อเนื่องติดต่อกัน หลังจากกองทุนเฮดจ์และผู้จัดการกองทุนได้เพิ่มสถานะซื้อและลดสถานะขาย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเชิงบวกที่เคยสร้างแรงหนุนให้ราคาทองคำนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘ทองคำ’ ร่วงต่ำสุดรอบ 6 สัปดาห์ หลัง Fed เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยแรง กูรูมองแนวโน้มขาลงถึงปลายปี
- 8 หุ้นเนื้อทอง เซียนหุ้น รุมตอม ร่วมลงทุนติดอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่
- ลงทุนอย่างมั่นใจ ราคาทองคำไปทางไหนก็ได้รีเทิร์น ผ่านกองทุน Double Shark-Fin Note
แต่ภาพรวมของการถือครองสถานะการลงทุนในสัญญาฟิวเจอร์สทองคำตลาด COMEX เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา สะท้อนจากจำนวนสถานะซื้อที่ปรับตัวลดลง ในขณะที่จำนวนสถานะขายก็ค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น จนทำให้จำนวนสถานะซื้อสุทธิลดลงเรื่อยมา
จนกระทั่งล่าสุดข้อมูลจาก CFTC ในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 12 กรกฎาคม 2022 บ่งชี้ว่า บรรดากองทุนเฮดจ์และผู้จัดการกองทุนได้ ‘ลด’ สถานะซื้อในสัญญาฟิวเจอร์สทองคำลงเหลือ 91,669 สัญญา ซึ่งลดลง 11,803 สัญญา หากเปรียบเทียบกับสถานะซื้อในสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะเดียวกันสถานะขายในสัญญาฟิวเจอร์สทองคำกลับเพิ่มขึ้น 11,364 สัญญาจากสัปดาห์ก่อนหน้า สู่ระดับ 97,802 สัญญา จนทำให้สถานะสุทธิในตลาดกลับมาเป็น ‘สถานะขายสุทธิ’ เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี หรือนับตั้งแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 24 เมษายน 2019
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบ่งชี้ถึงแรงเก็งกำไรในทิศทางขาลงที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของราคาทองคำที่ปิดปรับตัวลดลงในรายเดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายนเป็นต้นมา ขณะที่เดือนกรกฎาคมราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อ และมีแนวโน้มจะปิดตลาดรายเดือนในแดนลบเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ทั้งนี้ หากสถานะขายสุทธิยังดำเนินต่อไปจะถือเป็น Sentiment เชิงลบ ที่อาจทำให้ราคาทองคำในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2022 มีแนวโน้มได้รับแรงกดดันต่อไป ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนจะต้องระมัดระวังเพิ่มเติม
YLG แนะนำให้นักลงทุนติดตามข้อมูลดังกล่าว แต่ไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก เพราะในบางครั้งปริมาณสถานะสุทธิในตลาดสามารถใช้เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการกลับตัวของตลาดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจำนวนสถานะสุทธิสูงหรือต่ำเกินไป จะเป็นสัญญาณที่อาจบ่งชี้ว่า ตลาดอยู่ในภาวะซื้อมากเกินไป (Overbought) หรือภาวะขายมากเกินไป (Oversold) ได้อีกด้วย จึงแนะนำนักลงทุนติดตามข้อมูลดังกล่าว เพื่อใช้เป็นอีกหนึ่งข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจลงทุน
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP