×

‘ซีเซียม-137’ บทเรียนสารกัมมันตรังสี ภัยใหญ่ใกล้ตัว เมื่อเรื่องที่ควรรู้กลับถูก ‘ปกปิด’

โดย THE STANDARD TEAM
20.03.2023
  • LOADING...
ซีเซียม-137

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกคนจะรู้สึกตื่นตัวและตื่นกลัวกับเหตุการณ์ที่วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 (Cesium-137, Cs-137) หายไปจากโรงไฟฟ้าในจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งหลังจากตรวจหามาอย่างต่อเนื่อง ได้ตรวจพบสารปนเปื้อนชนิดเดียวกันนี้ไปอยู่ที่โรงงานหลอมเหล็กในรูปแบบฝุ่นโลหะ 

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2541 การที่สารกัมมันตรังสีรั่วไหลได้สร้างความแตกตื่นมาแล้วจากกรณีที่โรงงาน Acerinox เมือง Algeciras ทางตอนใต้ของประเทศสเปน เกิดเหตุผิดพลาดภายในโรงงานแปรรูปเศษเหล็ก จนเกิดการหลอมซีเซียม-137 โดยไม่ได้ตั้งใจ

 

จากเหตุการณ์นั้นทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในรูปแบบเมฆกัมมันตรังสี (Radioactive Cloud) ซึ่งมีผลระดับความเข้มข้นในชั้นบรรยากาศส่งต่อไปอีก 3 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี

 

โดยมีรายงานว่าขี้เถ้าที่โรงงานนี้สร้างขึ้นจากความผิดพลาดนั้น มีระดับของกัมมันตภาพรังสีสูงจากปกติถึง 1,000 เท่า 

 

‘ซีเซียม-137’ คืออะไร? ส่งผลอันตรายอย่างไร?

 

ซีเซียม-137 คือสารกัมมันตรังสีที่มีลักษณะเป็นโลหะสีทองเงิน เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง มักจับตัวกับคลอไรด์กลายเป็นผงผลึก ปล่อยรังสีเบตาและแกมมา ถูกใช้ในโรงงาน และเป็นเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อรักษามะเร็ง

 

เมื่อได้รับเข้าไปในร่างกายจะกระจายไปทั่วร่างกาย ส่วนใหญ่สะสมอยู่ในเนื้อเยื่อ และส่วนน้อยอยู่ในตับและไขกระดูก สามารถขับออกโดยเหงื่อและปัสสาวะ

 

ทั้งนี้ หากสัมผัสซีเซียม-137 ช่วงเวลาสั้นๆ อาจจะไม่มีผลต่อร่างกายที่ชัดเจน แต่เมื่อสัมผัสระยะเวลานานและปริมาณสูงขึ้น จะเริ่มเกิดผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง และแผลเปื่อย แต่เมื่อสัมผัสในปริมาณสูงและยาวนาน อาจเกิดพังผืดที่ปอด โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดต้อกระจกขึ้นในดวงตา ชักเกร็ง และเสียชีวิต

 

จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขที่ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดที่พบการปนเปื้อน วันที่ 20 มีนาคม 2566 มีพนักงานที่ปฏิบัติงาน 70 คน แบ่งเป็นคนต่างประเทศ 60 คน และคนไทย 10 คน ยังไม่พบว่าได้รับการปนเปื้อน

 

ไล่เรียงไทม์ไลน์ ซีเซียม-137 ที่ (ไม่เคย) หายไป

 

วันที่ 23 กุมภาพันธ์

  • โรงไฟฟ้าในอำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ทราบว่าซีเซียม-137 ที่ถูกบรรจุในวัสดุลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก มีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นใน และห่อหุ้มด้วยเหล็กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ความยาว 4 นิ้ว น้ำหนัก 25 กิโลกรัม หายไปจากโรงงาน 

 

วันที่ 11 มีนาคม

  • กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รับการประสานจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติว่า ซีเซียม-137 หายไปจากโรงงาน

 

วันที่ 16 มีนาคม

  • เริ่มการค้นหาโดยรอบรัศมีในและนอกโรงงานช่วง 2 กิโลเมตร ตรวจสอบร้านรับซื้อของเก่าทั้งในจังหวัดปราจีนบุรีและใกล้เคียง ใช้โดรนตรวจจับรังสี ซึ่งไม่พบการแพร่กระจาย

 

วันที่ 17 มีนาคม 

  • สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจวัดรังสีในอุตสาหกรรมโรงหลอมโลหะจากเศษเหล็กที่เลิกใช้แล้วในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 5 แห่ง

 

วันที่ 18 มีนาคม

  • มีผู้แจ้งเบาะแสว่าพบซีเซียม-137 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วไม่ใช่

 

วันที่ 19 มีนาคม 

  • ตรวจพบสารซีเซียมในกระเป๋าบิ๊กแบ็กขนาดใหญ่ของโรงหลอมเหล็ก เขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยกระเป๋าบิ๊กแบ็กที่พบเป็นส่วนที่เหลือจากการผลิตเหล็ก ภายในเป็นฝุ่นละอองแดง ยืนยันภายหลังว่าเป็นฝุ่นโลหะที่มีการปนเปื้อนสารซีเซียม-137 มีทั้งหมด 24 ตัน ประมาณ 24 กระสอบ โดยมี 1 ถุง ถูกนำไปถมที่ดินหลังโรงหลอม 

 

วันที่ 20 มีนาคม

  • วิศวกรนิวเคลียร์จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กรณีผู้ครอบครองวัตถุที่หายไปแล้วไม่แจ้งโดยพลัน ตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2562 มาตรา 100 โทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี

 

วงแถลงนำโดย ผู้ว่าฯ ปราจีนบุรี วันที่ 20 มีนาคม ตอบอะไรสังคมบ้าง

 

วันนี้ (20 มีนาคม) เวลาประมาณ 11.00 น. รณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วย นพ.สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี พล.ต.ต. วินัย นุชชา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี เพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการ ตัวแทนสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เพ็ญนภา กัญชนะ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และ กิตติกวิน อรามบุญ หัวหน้าปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ร่วมแถลงต่อกรณีซีเซียม-137 

 

ทีมข่าว THE STANDARD สรุปได้ว่า

 

  • ปริมาณรังสีโดยรอบพื้นที่โรงงานหลอมเหล็กที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี อยู่ในระดับปกติ คุณภาพอากาศ น้ำ บริเวณโดยรอบไม่มีการปนเปื้อน
  • การปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นแดง เกิดขึ้นจากโรงงานหลอมโลหะรีไซเคิลที่รับซื้อเศษโลหะมือสองมีการปะปนของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เข้าไปในกระบวนการหลอมโลหะ และเมื่อวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เข้าไปในกระบวนการหลอม ซีเซียม-137 จะถูกหลอมและระเหยกลายเป็นไอกระจายอยู่ในเตาหลอม ทำให้ซีเซียม-137 ปนเปื้อนไปอยู่ในฝุ่นโลหะ
  • ฝุ่นปนเปื้อนที่พบมีระบบกรองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายออกสู่สิ่งแวดล้อม ถูกจัดเก็บควบคุมอยู่ในระบบปิดทั้งหมด ถูกระงับการเคลื่อนย้ายและจำกัดไม่ให้ออกนอกบริเวณโรงงาน
  • ไม่พบการเปรอะเปื้อนทางรังสีของผู้ปฏิบัติงานในโรงงานหลอมเหล็กและใกล้เคียง
  • ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และสถานการณ์ทั้งหมดได้ถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว

 

ความกังวลจากฟากฝั่งของแพทย์-นักวิชาการ

 

ทีมข่าว THE STANDARD ขอหยิบยกตัวอย่างการแสดงความคิดเห็น และการออกมาเคลื่อนไหวของบุคลากรทางการแพทย์ และนักวิชาการที่แสดงความเป็นห่วงต่อเหตุการณ์ซีเซียม-137 ที่เกิดขึ้น

 

นพ.สมรส พงศ์ละไม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า 

 

“ถ้า Cesium-137 ถูกหลอมเผาไหม้และกลายเป็นไอ สามารถออกไปได้เป็นหลักร้อยถึงพันกิโลเมตรขึ้นกับลม (เหตุการณ์ที่ Chernobyl พบว่า Cesium-137 ปลิวไปถึงสวีเดน 1,000 กิโลเมตร) และทำร้ายสิ่งมีชีวิตได้ทั้งการสัมผัสโดยตรง การกิน และการหายใจ

 

“Cesium-137 จะสะสมในดิน น้ำ อาหาร ทำให้เกิดผลเสียต่อสัตว์และมนุษย์ ปลา นก ไก่ หมู หมา แมว วัว ฯลฯ อนุภาคบีต้าและรังสีแกมมา จะทำลาย DNA, ทำให้เกิด mutation ถ้าไม่ตายก็เกิดมะเร็งต่อ โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไธรอยด์

 

“Cesium-137 มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี ดังนั้นจะใช้เวลาในธรรมชาติไม่ต่ำกว่า 100 ปีจึงจะสลายหมด คนที่จะได้รับผลกระทบน่าจะหลายแสนและเป็น 100 ปี จะมีคนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไธรอยด์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในพื้นที่เสี่ยง

 

“คนที่คิดว่าเสี่ยงต่อการสัมผัส Cesium-137 ควรเฝ้าระวังเร่งด่วน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผิวหนังไหม้โดยไม่ทราบสาเหตุ รัฐควรเก็บบันทึกข้อมูลอย่างโปร่งใส มีโอกาสที่คนจะสัมผัสปริมาณมาก ยิ่งคนที่อยู่ใกล้ในระยะ 5-10 เมตร น่าจะอันตรายมาก (ไม่รู้ว่าระยะจริงที่ปลอดภัยเท่าไหร่ เพราะขึ้นกับความเข้มข้นที่เหลืออยู่และ shield ที่ป้องกัน)”

 

สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า 

 

“หายนะแท่งซีเซียมถูกหลอมในโรงงานหลอมเหล็กมีทั้งฝุ่นที่ปล่อยออกจากปล่องควัน ฝุ่นแดงในถุงกรองอากาศ ขี้เถ้าหนักรวมทั้งฝุ่น

 

“ในโรงงานคืออนุภาคซีเซียมที่ปล่อยรังสีแกมมาและเบต้าออกมาคือสารก่อมะเร็ง ในอากาศ ในพืช ผัก ผลไม้ แหล่งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน รัศมีอย่างน้อย 5 กิโลเมตร ระยะยาวอาจมีคนป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ”

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกจากในมุมของกฎหมายที่ต้องดำเนินคดีความกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ในมุมของชีวิตและร่างกายมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องติดตามต่อเนื่องไปอีกระยะยาว

 

ขณะที่ส่วนหนึ่งของสังคมยังคงสงสัยว่า ความจริงของเหตุการณ์ที่ซีเซียม-137 หายไปจากบริษัท เกิดตั้งแต่เมื่อไร หายไปได้อย่างไร และอะไรที่ยืนยันได้ว่าการหายไปครั้งนี้จะปลอดภัยจริง สังคมอาจไม่ได้ต้องการคำตอบที่หวือหวา เพียงต้องการความจริงที่ไม่ถูกปิดกั้น เพื่อความเข้าใจและการรับมือ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising