เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง Generative AI: GenAI กำลังเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อภาคธุรกิจและกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วโลก โดยข้อมูลจากรายงานผลสำรวจซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 27 ฉบับเอเชีย-แปซิฟิกของ PwC พบว่า 65% ของซีอีโอในภูมิภาคนี้คาดว่า GenAI จะเข้ามายกระดับประสิทธิภาพในการทำงาน ทั้งของพนักงานและผู้บริหาร ขณะที่ 76% กล่าวว่า จะต้องมีการยกระดับทักษะให้แก่พนักงานเพื่อรองรับการทำงานร่วมกับ GenAI แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีซีอีโอจำนวนไม่น้อยถึงกว่า 40% ที่ยังไม่ได้นำ GenAI มาใช้ในบริษัทของตนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าพวกเขาจะคาดการณ์ว่า GenAI จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัท พนักงาน และตลาดภายใน 3 ปีข้างหน้าก็ตาม
ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างความมุ่งมั่นของผู้บริหารที่ต้องการนำ GenAI มาใช้ และการใช้งานที่เกิดขึ้นจริง ควบคู่ไปกับข้อกังวลด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและความปลอดภัย โดยออสเตรเลียเป็นประเทศผู้นำในการนำ GenAI มาใช้ที่ 63% รองลงมาคือ ญี่ปุ่นที่ 50% อินเดียและนิวซีแลนด์ที่ 39% เท่ากัน
ทั้งนี้ บทความ GenAI: Bridging the gap between intent and adoption ของ PwC ระบุถึงสาเหตุสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการนำ GenAI มาปรับใช้กับองค์กรของผู้นำองค์กรในเอเชีย-แปซิฟิก ดังต่อไปนี้
1. วิวัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของ GenAI
GenAI ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีการนำมาใช้งานได้รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะอินเตอร์เฟซของ GenAI เป็นภาษาธรรมชาติ ทำให้เข้าถึงง่าย อย่างไรก็ดี การใช้งานของเทคโนโลยียังคงเป็นไปในระดับผู้บริโภค มากกว่าการใช้งานในระดับองค์กรที่ยังไม่แพร่หลายมากนัก
2. ความเข้าใจในเชิงปฏิบัติที่ต้องมีมากขึ้น
บทความระบุว่า ยังคงมีช่องว่างระหว่างการตระหนักถึงศักยภาพของ GenAI และการทำความเข้าใจการใช้งานเฉพาะภายในองค์กร โดยหลายองค์กรยังคงไม่แน่ใจว่า GenAI จะมีประโยชน์ต่อธุรกิจของตนอย่างไร
3. ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยังไม่มีเทคโนโลยีที่พร้อมใช้งานร่วมกันทั่วทั้งภูมิภาค
ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้การเข้าถึงเทคโนโลยีถูกจำกัด ยกตัวอย่าง เช่น การเข้าถึง Microsoft Azure OpenAI ที่มีขีดจำกัดและโควตาการใช้งานตามประเทศและภูมิภาค หรือสำหรับในประเทศที่สามารถใช้งาน ChatGPT ของ OpenAI ได้ แต่ข้อมูลก็ยังคงมีอยู่เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น เป็นต้น บทความระบุว่า เมื่อผู้ให้บริการมีการปรับปรุงความพร้อมใช้งานให้ครอบคลุมมากขึ้น ก็จะเป็นโอกาสให้การใช้งาน GenAI ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
4. ความน่าสนใจของ GenAI ที่แตกต่างกันไปตามความสามารถในการผลิต และโอกาสในการเติบโตของแต่ละประเทศ
GenAI สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ปรับกระบวนการให้เป็นระบบ และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นจุดดึงดูดให้ประเทศที่มีความสามารถในการผลิต และโอกาสในการเติบโตที่สูงกว่านำ GenAI มาประยุกต์ใช้ในหลายภาคส่วน ตั้งแต่การดูแลสุขภาพและการเงิน ไปจนถึงการผลิตและโลจิสติกส์
5. ความเสี่ยง การปฏิบัติตาม และข้อกังวลด้านจริยธรรม
ครึ่งหนึ่งของซีอีโอที่ถูกสำรวจในภูมิภาคนี้ มีความกังวลต่อความเสี่ยงทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ 44% แสดงความกังวลต่อการแพร่กระจายข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง (Misinformation) ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ซีอีโอในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยังมีความระมัดระวังในการใช้ GenAI แม้ว่าหลายองค์กรจะตระหนักถึงความจำเป็นของการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible AI) แต่ก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องนี้
นอกจากนี้ บทความของ PwC ยังนำเสนอ 4 ขั้นตอนที่จะช่วยให้ผู้นำธุรกิจสามารถนำ GenAI มาปรับใช้กับองค์กรได้อย่างประสบความสำเร็จ ดังนี้
1. ผนวกการใช้งาน GenAI เข้ากับทุกภาคส่วนขององค์กร
อย่างที่กล่าวไปว่า GenAI สามารถนำมาใช้งานได้ทั่วทั้งองค์กร ดังนั้น การมีพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ จะช่วยกำหนดได้ว่าจุดใดของธุรกิจที่ควรนำ GenAI มาใช้ และจะนำมาใช้อย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ อีกหนึ่งกระบวนการสำคัญคือ ผู้นำต้องศึกษาและทำความเข้าใจเทคโนโลยี พัฒนากลยุทธ์และการกำหนดความเสี่ยงที่ยอมรับได้ มีแนวทางการใช้ AI ที่รับผิดชอบ และมีแนวปฏิบัติด้านจริยธรรม เริ่มโครงการทดลองและนำร่อง รวมถึงมีกลยุทธ์เปลี่ยนแปลงองค์กรและการเพิ่มทักษะของพนักงาน
2. ซีอีโอและซีโอโอต้องมีความเป็นผู้นำ
ผู้บริหารระดับ C-Suite โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ จะต้องปลูกฝังค่านิยมในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีให้กับพนักงานทั่วทั้งองค์กร และไม่ยกให้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ ควรแต่งตั้งกลุ่มคนที่เป็นผู้บุกเบิกการใช้งาน GenAI ในระยะแรก เพื่อช่วยส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและกระตุ้นให้มีการใช้งานทั่วทั้งองค์กร
3. กลยุทธ์ AI ต้องขับเคลื่อนด้วยเป้าหมายทางธุรกิจ ไม่ใช่เทคโนโลยี
แต่ละอุตสาหกรรม และแต่ละธุรกิจมองคุณค่าของ GenAI แตกต่างกัน ดังนั้นผู้บริหารควรต้องเข้าใจว่า GenAI จะสามารถช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจได้อย่างไร
4. ทบทวนวงจรการวางแผนและการจัดสรรงบประมาณ
องค์กรควรมีความรวดเร็วในการปรับแผนงานและอนุมัติแผนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยการวางแผนงานสำหรับ 3 ปี 5 ปี หรืองบประมาณทุกๆ 6 เดือนอาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป ในทำนองเดียวกัน การเปลี่ยนจากการทดลองโครงการนำร่องไปสู่การขยายขนาดธุรกิจที่เพิ่มคุณค่า อาจต้องอาศัยการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทอย่างทันทีและรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา
คุณผู้อ่านคงจะเห็นภาพว่า ศักยภาพของ GenAI ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจ และส่งผลต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้น ซีอีโอทุกท่านควรปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีนี้ เข้าใจถึงความเสี่ยงและอุปสรรค รวมทั้งกำหนดแผนกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับองค์กร เพื่อก้าวสู่การเป็น ‘ผู้นำการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง’ และสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจได้ในที่สุด
อ้างอิง:
- GenAI: Bridging the gap between intent and adoption, PwC
- 27th Annual Global CEO Survey – Asia Pacific, PwC Asia Pacific