×

ซีอีโอ Facebook, Google และ Twitter เตรียมขึ้นให้การสมาชิกวุฒิสภา แถลงจุดยืนปกป้องกฎหมายคุ้มครองโซเชียลมีเดีย

28.10.2020
  • LOADING...

นับเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา ต่อกรณีที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Facebook, ซุนดาร์ พิชัย ซีอีโอ Google และแจ็ค ดอร์ซีย์ ซีอีโอ Twitter เตรียมขึ้นให้การต่อสมาชิกวุฒิสภาในวันพุธที่ 28 ตุลาคมนี้ ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ในประเด็นการปลี่ยนแปลงรายละเอียดในกฎหมายมาตรา 230 ที่ใช้คุ้มครองแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้งาน (เดิมเจ้าของแพลตฟอร์มไม่ต้องรับผิดชอบกับผลกระทบเชิงลบจากโพสต์ความคิดเห็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น)

 

เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า สมาชิกวุฒิสภาและรัฐบาลสหรัฐฯ มีความกังวลต่อกรณีที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่สามารถควบคุมเนื้อหาที่ปรากฏบนแพลตฟอร์มของพวกเขาได้ ส่งผลให้เกิดคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมเป็นจำนวนมาก เช่น ข่าวปลอม, โพสต์ข้อความต่างๆ ที่มีเนื้อหาแนว Hate Speech ก่อให้เกิดความเกลียดชังและความเข้าใจผิด 

 

โดยสำนักข่าวต่างประเทศที่น่าเชื่อถือทั้ง CNBC และ The Guardian ต่างก็ลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ซีอีโอของยักษ์ใหญ่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้ง 3 แห่งน่าจะออกมาแถลงจุดยืนร่วมกันในการปกป้องกฎหมายมาตราดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นอาจจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้งานได้

 

ซึ่งในคำให้การที่ถูกเตรียมไว้ล่วงหน้าก็มีเนื้อหาที่สอดคล้องไปกับแนวทางดังกล่าว ตัวอย่างเช่น คำให้การของซีอีโอ Twitter ที่บอกว่า การเปลี่ยนแปลงรากฐานของมาตรา 230 อาจจะทำให้สิทธิเสรีภาพในการที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสามารถสื่อสารและแสดงความคิดเห็นออกไปถูกทำลายลง คงเหลือไว้เพียงบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จำนวนเพียงหยิบมือ หรือบริษัทเทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงิน

 

ด้านซักเคอร์เบิร์ก ก็กล่าวในคำให้การล่วงหน้าเอาไว้เช่นกันว่า หากมาตรา 230 ถูกยกเลิก เจ้าของแพลตฟอร์มส่วนใหญ่ก็จะต้องทำการเซนเซอร์ข้อความ คอนเทนต์มากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำผิดกฎหมาย “หากปราศจากมาตรา 230 แล้ว แพลตฟอร์มจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในทุกๆ คำพูด ทุกโพสต์ข้อความของผู้ใช้งาน”

 

ปิดท้ายด้วย ซุนดาร์ พิชัย ได้กล่าวในคำให้การล่วงหน้าเอาไว้ว่า “ผมขอเรียกร้องให้คณะกรรมการและสมาชิกวุฒิสภาคิดไตร่ตรองให้รอบคอบมากๆ ถึงความเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นกับมาตรา 230 รวมถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งในเชิงธุรกิจและผู้บริโภค”

 

ซึ่งหากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือการที่สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ ตัดสินใจปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางประการในมาตรา 230 แล้ว เราก็น่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับข้อกำหนดการใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในสหรัฐฯ แน่นอน โดยเฉพาะการตอบข้อคำถามที่ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ และบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายจะสร้างสมดุลหาตรงกลางระหว่าง ‘ความถูกต้อง’ และการไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงออกซึ่งความเห็นของผู้ใช้งานให้เกิดขึ้นได้อย่างไร

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X