จากข้อมูลที่รวบรวมโดย World Gold Council เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ระบุว่า ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อทองคำสุทธิ รวม 33 ตัน เพิ่มขึ้นจากซื้อสุทธิ 3 ตันในเดือนมีนาคม หนุนจากการซื้อของธนาคารกลางหลายแห่งในตลาดเกิดใหม่ ถือเป็นการซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน
Krishan Gopaul นักวิเคราะห์อาวุโส EMEA ของ World Gold Council เปิดเผยว่า การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาทองคำในช่วงเดือนมีนาคมทำให้เกิดคำถามหลายข้อ หนึ่งในนั้นคือธนาคารกลางซึ่งมีความต้องการทองคำเป็นเหตุผลสำคัญของการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำล่าสุดจะเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อทองคำหรือไม่
ตัวเลขล่าสุดที่รายงานผ่าน IMF และแหล่งข้อมูลสาธารณะแสดงให้เห็นว่า ปริมาณสำรองทองคำทั่วโลกเพิ่มขึ้นสุทธิ 33 ตันในเดือนเมษายน ซึ่งใกล้เคียงกับระดับที่เห็นในเดือนกุมภาพันธ์ (27 ตัน) แม้ว่าการซื้อรวมจะลดลงเหลือ 36 ตันจาก 39 ตันในเดือนมีนาคม แต่การขายรวมลดลงอย่างเห็นได้ชัด จาก 36 ตันเหลือเพียง 3 ตันในเดือนเมษายน
ธนาคารกลาง 8 แห่งเพิ่มปริมาณสำรองทองคำอย่างน้อย 1 ตันในเดือนเมษายน โดยธนาคารกลางตุรกีเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด เพิ่มปริมาณสำรองอย่างเป็นทางการ 8 ตัน
การซื้อสุทธิของธนาคารกลางต่างๆ จนถึงปัจจุบันรวมเป็น 38 ตัน และช่วยให้ปริมาณการถือครองทองคำอย่างเป็นทางการของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 578 ตัน
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งชาติคาซัคสถาน (6 ตัน), ธนาคารกลางอินเดีย (6 ตัน), ธนาคารแห่งชาติโปแลนด์ (5 ตัน), ธนาคารกลางสิงคโปร์ (4 ตัน), ธนาคารกลางรัสเซีย (3 ตัน) และธนาคารแห่งชาติเช็ก (2 ตัน) เป็นผู้ซื้อรายใหญ่อื่นๆ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา
แม้การซื้อสุทธิจะชะลอตัวในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่การซื้อสุทธิเบื้องต้นในเดือนเมษายนอาจบ่งชี้ว่าธนาคารกลางหลายแห่งยังคงดำเนินแผนการซื้อทองคำเชิงกลยุทธ์ต่อไป
ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายนจะมีการเผยแพร่ผลการสำรวจทองคำของธนาคารกลางปี 2024 ซึ่งจะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความคิดของธนาคารกลางที่มีต่อทองคำ และสิ่งนี้อาจส่งผลต่อการซื้อทองคำในอนาคตอย่างไร
ขณะที่ราคาทองคำในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นราว 14% มาเป็น 2,361 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ทองคำในประเทศไทยนับแต่ต้นปี 2024 เพิ่มขึ้น 7,200 บาทต่อบาททองคำ มาอยู่ที่ 40,850 บาทต่อบาททองคำ
อ้างอิง: