×

ธนาคารกลางทั่วโลก ‘ลดขนาด’ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามรอย Fed หลังเงินเฟ้อส่งสัญญาณคลี่คลาย

16.12.2022
  • LOADING...
ธนาคารกลางทั่วโลก

บรรดาธนาคารกลางในหลายประเทศทั่วโลก ส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคยุโรป ต่างตบเท้าเดินตามรอยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในการปรับลดขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว 

 

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดี (15 ธันวาคม) ตามการคาดการณ์ของตลาด ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อยู่ที่ระดับ 2.50% และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2008 ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ระดับ 2.0 และ 2.75% ตามลำดับ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


นอกจากนี้ ECB ยังส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

 

ตลอดทั้งปี 2022 ที่ผ่านมา ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน หลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนกรกฎาคม, 0.75% ในเดือนกันยายนและตุลาคม โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2000

 

ขณะเดียวกัน ECB ระบุอีกว่า จะเริ่มปรับลดงบดุลในวงเงิน 1.5 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2023 จนสิ้นสุดไตรมาส 2 ของปีเดียวกัน 

 

ด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้เช่นกัน โดยแม้จะส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 41 ปี แต่ก็เป็นขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจากครั้งก่อน 

 

ก่อนหน้านี้ BoE ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.0% ในการประชุมวันที่ 3 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 33 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1989 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 8 นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021

 

นอกจากธนาคารกลางอังกฤษแล้ว ยังมีธนาคารกลางนอร์เวย์และสวิตเซอร์แลนด์ที่ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน แต่เป็นการปรับขึ้นในสัดส่วนที่ลดลงจากครั้งก่อนหน้า

 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางเหล่านี้ยังคงยืนยันว่า การต่อสู้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อยังไม่จบสิ้น แม้ว่าความเสี่ยงที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในปีหน้าจะสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจที่ชะลอตัวก็ตาม โดยขณะนี้อังกฤษถือว่าเข้าสู่สภาวะถดถอยแล้ว และสหภาพยุโรป (EU) กำลังตามมาติดๆ ซึ่ง ECB คาดการณ์ว่า GDP ใน 19 ประเทศที่ใช้เงินยูโรอาจหดตัวในไตรมาสนี้และปีหน้า เนื่องจากราคาพลังงานที่สูง ความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมทั่วโลกที่อ่อนแอ และสภาวะทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น

 

ทั้งนี้ ทั้ง ECB และ BoE ต่างคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในปีใหม่ เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย 2%

 

คริสตีน ลาการ์ด ประธาน ECB กล่าวกับนักข่าวว่า ธนาคารกลางยุโรปยังคงมีเหตุในการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังคงสูงเกินไปและคาดว่าจะอยู่เหนือเป้าหมายนานเกินไป” พร้อมประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของ EU โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.4% ในปี 2024 และ 2.3% ในปี 2025

 

แม้จะปรับลดขนาดการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ลาการ์ดย้ำชัดเจนว่า ECB ไม่ได้เปลี่ยนแนวทางการรับมือกับเงินเฟ้อ โดยยังคงดำเนินนโบายการเงินแบบคุมเข้มเช่นเดิม เพราะเป้าหมายหลักยังคงอยู่ที่การปรับลดตัวเลขเงินเฟ้อเป็นหลัก 

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลตัวเลขจากหลายสำนักบ่งชี้ว่า ราคาสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลง ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายเริ่มดำเนินการได้ง่ายขึ้น หลังจากที่ต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

 

อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคประจำปีในสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 10.7% ในเดือนพฤศจิกายน ลดลงจาก 11.1% ในเดือนตุลาคม ส่วนในยุโรปดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 10% ในปีนี้จนถึงเดือนพฤศจิกายน เทียบกับสถิติสูงสุดที่ 10.6% ในเดือนตุลาคม

 

นักวิเคราะห์มองว่า ความท้าทายสำหรับธนาคารกลางในเวลานี้คือ การใช้นโยบายเพื่อชะลออุปสงค์ของผู้บริโภค ช่วยลดอัตราเงินเฟ้อ แต่ไม่ส่งผลกระทบมากจนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเจ็บปวด โดยภารกิจดังกล่าวยากเป็นพิเศษ จากปัจจัยที่เอื้อต่ออัตราเงินเฟ้อ เพราะราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากสงครามของรัสเซียในยูเครน และการเดินหน้ายุติการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซในรัสเซียของรัฐบาลยุโรป อาจทำให้ราคาผันผวนมากขึ้นจนถึงปีหน้า โดย ฟาติห์ บิรอล หัวหน้าสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ และ อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ต่างก็ออกมาเตือนว่า ยุโรปอาจเผชิญกับการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมในปี 2023

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X