ธนาคารกลางของหลายประเทศกำลังซื้อทองคำเข้าคลังในปริมาณมากที่สุดนับแต่ปี 1967 โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่าผู้ซื้อรายใหญ่ในเวลานี้คือ ‘จีนและรัสเซีย’ สะท้อนให้เห็นถึงการที่บางประเทศพยายามลดการพึ่งพิงดอลลาร์เพื่อเป็นทุนสำรอง
ข้อมูลจาก World Gold Council แสดงให้เห็นว่าความต้องการถือครองทองคำเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 55 ปี
Adrian Ash หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ BullionVault ศูนย์ซื้อขายทองคำ กล่าวว่า ความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้นของธนาคารกลางแต่ละประเทศสะท้อนว่าความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ดำเนินอยู่นี้กระทบต่อความเชื่อมั่น หลังจากที่สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรแช่แข็งเงินทุนสำรองของรัสเซียที่เป็นเงินดอลลาร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิด ‘5 ปัจจัย’ ที่ต้องจับตา เตรียมพร้อมก่อนลงทุน ‘ทองคำ’ ปี 2023
- คาด ‘ราคาทองคำ’ ปีหน้าพุ่งแตะ 4,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ผลพวงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
- ทองคำ กำลังไหลเข้าเอเชีย ท่ามกลางดอกเบี้ยโลกที่กำลังขึ้นต่อเนื่อง
การเข้าซื้อทองคำในปริมาณมากขนาดนี้เคยเกิดขึ้นล่าสุดตั้งแต่ปี 1967 ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในยุโรปซื้อทองคำจากสหรัฐฯ ด้วยปริมาณมหาศาล นำไปสู่การพุ่งขึ้นของราคาทองคำ และการล่มสลายของระบบการจัดการการเงิน Bretton Woods ซึ่งเคยผูกค่าเงินดอลลาร์ไว้กับทองคำ
เมื่อเดือนที่ผ่านมา World Gold Council คาดการณ์ว่าสถาบันการเงินต่างๆ เข้าซื้อทองคำรวม 673 ตัน และเฉพาะในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เฉพาะธนาคารกลางแต่ละแห่งเข้าซื้อทองคำรวมกันเกือบ 400 ตัน ซึ่งเป็นการเข้าซื้อทองคำมากที่สุดต่อไตรมาส นับแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลตั้งแต่ปี 2000
จากข้อมูลอย่างเป็นทางการที่เผยแพร่ออกมาในไตรมาส 3 พบว่า ตุรกีซื้อทองคำ จำนวน 31 ตัน คิดเป็น 29% ของทุนสำรอง ขณะที่อุซเบกิสถานซื้อทองคำเพิ่ม จำนวน 26 ตัน
ขณะที่ธนาคารกลางจีนรายงานเมื่อเดือนก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการเข้าซื้อทองคำเพิ่มเติมจำนวน 32 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 1.8 พันล้านดอลลาร์ ถือเป็นการเพิ่มการถือครองทองคำอีกครั้งนับแต่ปี 2019
สำหรับรัสเซีย การถูกคว่ำบาตรได้สร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมขุดเหมืองทองคำซึ่งมีปริมาณการผลิตประมาณ 300 ตันต่อปี แต่เป็นการขายในประเทศเพียงประมาณ 50 ตัน และด้วยข้อจำกัดในการส่งออกเนื่องจากรัสเซียถูกแช่แข็งเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้ธนาคารกลางรัสเซียอาจเป็นผู้เข้าซื้อทองคำแทน
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของรัสเซียหยุดการรายงานปริมาณทองคำสำรองในแต่ละเดือนหลังจากที่สงครามเริ่มต้นขึ้น
อ้างอิง: