วันนี้ (16 เมษายน) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประชุมร่วมกับ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. เพื่อหารือและรับฟังข้อมูลการเจรจากับสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
จากนั้น พิชัยแถลงผลการประชุมโดยระบุว่า ที่ประชุมได้พิจารณาผลที่จะเกิดขึ้นและสิ่งที่สหรัฐฯต้องการ วันนี้จึงได้มาติดตามความคืบหน้า แต่ยังไม่ทราบว่าจะจบลงอย่างไร เพราะสถานการณ์สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ทุกวัน สิ่งที่เราต้องดู การปรับการค้า การนำเข้า การส่งออก กติกาที่เปลี่ยนไป วันนี้ส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน โดยเฉพาะในเรื่องของตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตรและเรื่องค่าเงิน เป็นไปในทิศทางที่คาดเดาได้ลำบาก
พิชัยกล่าวว่า วันนี้จึงต้องมานั่งพูดคุยกันว่า จะมีกรณีใดเกิดขึ้นกับประเทศไทยบ้าง เนื่องจากเป็นสิ่งที่จะกระทบกับภาคธุรกิจและภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะผู้ส่งออก ดังนั้นจะต้องหามาตรการที่เหมาะสมและวางแนวทางในการรับมือกรณีที่ร้ายแรง เพราะเหตุการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นมีผลต่อผู้ส่งออก ซึ่งการส่งออกคงชะลอลง และมีปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียน หนี้ที่ครบกำหนดชำระ รวมถึงการนำเข้า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ มีปัญหาที่ตรงกัน คือ เรื่องของสภาพคล่อง ดังนั้นวันนี้จึงยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะดำเนินมาตรการใดคงต้องมอนิเตอร์ติดตามต่อไป
“วันนี้คงไม่มีใครบอกได้ว่า หยิบมาตรการไหนดี ซึ่งมาตรการต่างๆ ในอดีตมีเยอะ แต่สิ่งที่เราจะทำ เราจะทำงานใกล้ชิดมากขึ้น แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน และจะเจอกันบ่อยขึ้น เพื่อดูว่า เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป มีอะไรบ้างกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องดู เพื่อหามาตรการชัดเจนและมากำหนดร่วมกันที่จะแก้ไข” พิชัยกล่าว
พิชัยกล่าวว่า ขณะเดียวกัน ธปท. จะติดตามสถานการณ์ต่อไปด้วย ทั้งเรื่องดอกเบี้ย อัตราการแลกเปลี่ยนและปัญหาเกี่ยวกับสภาพคล่อง เพื่อนำข้อมูลมาประกอบในการเสนอมาตรการต่างๆ
ส่วนเรื่องดอกเบี้ยจะมีส่วนช่วยเรื่องสภาพคล่องหรือไม่ พิชัยกล่าวว่า เรื่องดอกเบี้ยนโยบายเป็นเรื่องไม่ควรไปพูดถึงแต่ทาง ธปท. ก็ต้องมีการมอนิเตอร์ ซึ่งจะมีการประชุมอาทิตย์หน้าด้วย
เมื่อถามว่า จะเดินทางไปเจรจากับสหรัฐฯเมื่อใดนั้น พิชัยระบุว่า ขอเตรียมตัวให้ชัดๆ และจะเปิดเผยวันเดินทางอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนจะนำผลการหารือของ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาอาเซียนทั้งหมด มาเป็นส่วนหนึ่งในประเด็นที่จะนำไปเจรจาหรือไม่ พิชัยระบุว่า คงไม่ เพราะการคุยรอบแรกคงไม่มีการพูดคุยถึงขนาดนั้น แต่ในอาเซียนด้วยกันคงจะมีการแลกเปลี่ยนร่วมกัน เพราะปัญหาของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน พร้อมยกตัวอย่างว่า สินค้าบางอย่างที่ส่งออกไปสหรัฐฯ จะส่งออกไปอาเซียนก่อนจะส่งไปสหรัฐฯต่อ จึงต้องดูเรื่องพวกนี้ด้วยและพูดคุยกันเพื่อเก็บข้อมูลทั้งหมด โดยจะต้องแก้ในส่วนของเราก่อน
พิชัยระบุอีกว่า ความสนใจของสหรัฐ ฯ อยู่ที่เรื่อง มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTB) ที่ไม่เอื้อต่อการนำเข้าและส่งออก ซึ่ง Non-Tariff เป็นเรื่องกว้าง แต่เรื่องภาษีศุลกากร (Tariff) เป็นเรื่องเล็ก เพราะเป็นไปตามกลไกอยู่แล้ว ฉะนั้นแต่ละประเทศต้องปรับไปตามนั้น และต้องมาดูแลแก้ไข ซึ่งจะมีการเชิญอีกหลายหน่วยงานมาพูดคุยเพิ่มเติม