×

‘ธนาคารกลาง’ ทั่วโลกเทขาย ‘ทองคำ’ ครั้งแรกรอบ 10 ปี

29.10.2020
  • LOADING...
‘ธนาคารกลาง’ ทั่วโลกเทขาย ‘ทองคำ’ ครั้งแรกรอบ10 ปี

สภาทองคำโลก (WGC) เผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ระบุว่า ธนาคารกลางทั่วโลกกลายเป็นผู้ขายสุทธิทองคำในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นครั้งแรกรอบ 10 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2553 โดยเฉพาะธนาคารกลางของประเทศผู้ผลิตทองคำที่ใช้โอกาสในช่วงที่ราคาทองคำพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เทขายทองคำเพื่อระดมเงินสดไว้ใช้ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

“หลังจากการซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายไตรมาสตั้งแต่ต้นปี 2554 ธนาคารกลางเปลี่ยนมาเป็นผู้ขายสุทธิในไตรมาสที่ 3 โดยลดปริมาณทองคำสำรองทั่วโลกลง 12.1 ตัน” WGC เผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ 

 

WGC ระบุเพิ่มว่า แม้จะขายสุทธิในไตรมาสล่าสุด ธนาคารกลางก็ยังคงเป็นผู้ซื้อสุทธิหากนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) โดยมีความต้องการใน 3 ไตรมาสแรก รวม 220.6 ตัน จึงยังคงคาดหวังว่าธนาคารกลางจะยังคงเป็นผู้ซื้อสุทธิในปี 2563 แม้ว่าจะซื้ออย่างชะลอตัวลงกว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

 

การขายสุทธิในไตรมาสที่ 3 สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณ 2 ประการคือ การซื้อชะลอตัว และการขายเร่งตัว

 

ธนาคารกลาง 6 แห่งยังซื้อสุทธิ

ในส่วนของด้านซื้อนั้นพบว่า ธนาคารกลาง 6 แห่งสำรองทองคำเพิ่มในไตรมาส 3 ประกอบด้วย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (+7.4 ตัน), อินเดีย (+6.8 ตัน), กาตาร์ (+6.2 ตัน), สาธารณรัฐคีร์กีซ (+5 ตัน), คาซัคสถาน (+4.9 ตัน) และกัมพูชา (+1 ตัน) 

 

“โควิด-19 ยังคงสร้างความยากลำบากทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางให้กับทั้งธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลก ความไม่แน่นอนมีสูงขึ้นจากการระบาดของโรคได้กระตุ้นให้นักลงทุนจำนวนมากรวมถึงธนาคารกลางแสวงหาสินทรัพย์ที่จะกระจายและปกป้องความเสี่ยงในช่วงวิกฤต ทั้งนี้ธนาคารกลางได้รับผลกระทบอย่างหนักจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและติดลบของพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นสินทรัพย์สำรองสัดส่วนใหญ่ที่สุด” รายงานจากสภาทองคำโลกระบุ 

 

‘ตุรกี-อุซเบกิสถาน’ แชมป์ขายสุทธิไตรมาส 3

ด้านฝั่งขายพบว่า รายงานยอดขายรวมเพิ่มขึ้นเป็น 78.9 ตันในไตรมาสที่ 3 โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากธนาคารกลาง 2 แห่ง ได้แก่ ตุรกีและอุซเบกิสถาน โดยตุรกีลดการสำรองทองคำลง 22.3 ตันในไตรมาสนี้ ซึ่งเป็นไตรมาสแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2561  

 

ขณะที่อุซเบกิสถานลดปริมาณสำรองทองคำลง 34.9 ตันในช่วงไตรมาส 3 ทำให้ยอดขายสุทธิตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบันอยู่ที่ 28.6 ตัน แม้จะมีการขายอย่างมากในไตรมาส 3 แต่ทองคำสำรอง 307 ตันยังคงคิดเป็น 56% ของทุนสำรองทั้งหมดของอุซเบกิสถาน 

 

ส่วนประเทศอื่นๆ ที่เป็นผู้ขายสุทธิ ประกอบด้วย ทาจิกิสถาน (-9.2 ตัน), ฟิลิปปินส์ (-7.8 ตัน), มองโกเลีย (-2.4 ตัน) และรัสเซีย (-1.2 ตัน) 

 

ข้อมูลจาก WGC ระบุว่า ราคาทองคำทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาส 3 แม้ความต้องการทองคำแท่งปรับตัวลง 19% สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2552 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความต้องการอัญมณีในอินเดียที่ลดลงถึง 50% ขณะที่ความต้องการอัญมณีในจีนชะลอตัวลงเช่นกัน

 

ส่วนปริมาณทองคำในไตรมาส 3 ลดลง 3% เมื่อเทียบรายปี เนื่องจากการผลิตในเหมืองทองคำยังคงได้รับแรงกดดันอย่างหนัก แม้ในช่วงหลังจากที่หลายประเทศ เช่นแอฟริกาใต้ ได้ประกาศยกเลิกมาตรการคุมเข้มในการสกัดโควิด-19 แล้วก็ตาม

 

วรุต รุ่งขำ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และนักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยทางเทคนิค บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) กล่าวว่า ราคาทองคำในระยะสั้นจะยังผันผวนในกรอบ เนื่องจากนักลงทุนยังรอติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า โดยสะท้อนได้จากวานนี้ที่ราคาทองปรับตัวลดลงและมีแรงเทขาย แต่ก็มีแรงซื้อกลับจนทำให้ราคาฟื้นตัวได้แม้จะไม่มากนัก 

 

ทั้งนี้ประเมินว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีผลต่อทิศทางราคาทองคำ โดยหาก โจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง ตลาดคาดการณ์ว่าจะส่งผลดีต่อราคาทองคำและทำให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นได้อีก สวนทางตลาดหุ้นที่คาดว่าจะปรับลดลง และเงินดอลลาร์จะอ่อนค่า

 

ในทางตรงกันข้าม หาก โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง จะทำให้ตลาดหุ้นฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เงินดอลลาร์แข็งค่า และกดดันให้ราคาทองคำปรับลดลง

 

“ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 หรือการเลือกตั้งครั้งก่อนที่ทรัมป์เป็นผู้ชนะ พบว่าตลอดเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นเดือนที่จัดการเลือกตั้งและนับผลคะแนนนั้น จนทราบผลการเลือกตั้ง ราคาทองคำปรับตัวลดลงไป 104 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ฉะนั้นการเลือกตั้งรอบนี้ตลาดทองคำจึงเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวัง” 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X