‘เซ็นทารา’ ทุ่มงบ 15,000-23,000 ล้านบาท เดินหน้าเปิดโรงแรมในไทย-ต่างประเทศ รองรับท่องเที่ยวฟื้นตัว พร้อมเล็งหาตลาดใหม่ หลังลูกค้ายุโรปหายไปจากพิษเงินเฟ้อ พร้อมโชว์รายได้ปี 2565 โต 57% พลิกกลับมาทำกำไรสุทธิ 398 ล้านบาท หลังช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุน 1,734 ล้านบาท
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวนับเป็นธุรกิจแรกๆ ที่กลับมาฟื้นตัวหลังโควิดคลี่คลาย นักท่องเที่ยวหลายๆ ประเทศทั่วโลกเริ่มออกเดินทางอีกครั้ง นับเป็นสัญญาณบวกต่อภาพรวมธุรกิจโรงแรม เช่นเดียวกับ ‘เซ็นทารา’ ที่ยืนอยู่บนเส้นทางธุรกิจโรงแรมมากว่า 40 ปี เริ่มมั่นใจว่าต่อจากนี้จะเห็นการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเดินหน้าขยายธุรกิจไปทั่วทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงแรมและรีสอร์ตในเครือเซ็นทารา กล่าวว่า เทรนด์การท่องเที่ยวในไทยระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ มีแนวโน้มดีขึ้น เห็นได้จากโรงแรมของเซ็นทาราในไทย เราได้ลูกค้านักท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะโรงแรมในหัวเมืองหลักๆ อย่างเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ที่มีผู้เข้าพักกว่า 80% ตามด้วยพัทยา สมุย และภูเก็ต เริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘เซ็นทารา’ ตั้งเป้าขยายโรงแรมและรีสอร์ตในเครือให้ครบ 200 แห่ง ภายในปี 2569 คาดปีนี้รายได้แตะ 5.9 พันล้านบาท
- “ถ้าธุรกิจโรงแรมกำไรน้อย คงไม่เปิดกันเยอะแบบนี้” อ่านความคิด ธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ ซีอีโอเครือเซ็นทาราและเป้าหมายโตเท่าตัว
- ‘กรุงไทย’ เปิด 4 ปัจจัยหนุนท่องเที่ยวไทยฟื้นตัว คาดต้องใช้เวลาถึงปลายปี 2567 จึงจะกลับสู่ระดับก่อนโควิด
ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากอินเดีย รัสเซีย และเกาหลีใต้ ส่วนจีนหลังจากเปิดประเทศเริ่มทยอยเข้ามาเที่ยวเป็นครอบครัว แต่กรุ๊ปทัวร์ยังไม่กลับมา
“ต้องยอมรับว่าสิ่งที่ธุรกิจกังวลในตอนนี้คือเรื่องสายการบินที่ยังไม่กลับมาบิน 100% ถ้าเทียบกับปี 2562 ซึ่งอาจต้องใช้เวลายาวไปถึงต้นปี 2567”
เร่งขยายโรงแรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ กวาดลูกค้ารอบทิศ
สำหรับแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ บริษัทวางงบไว้ประมาณ 15,000-23,000 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนขยายธุรกิจโรงแรมและอาหารในระยะเวลา 5 ปี แต่หลักๆ แล้วงบมากกว่าครึ่งจะถูกใช้ในธุรกิจโรงแรมเป็นหลัก
เริ่มจากการขยายโรงแรมในไทย 5 แห่ง ได้แก่ อุบลราชธานี จำนวน 160 ห้องพัก, ระยอง จำนวน 200 ห้องพัก, สุราษฎร์ธานี จำนวน 110 ห้องพัก, พระนครศรีอยุธยา จำนวน 224 ห้องพัก และเกาะสมุย จำนวน 61 ห้องพัก โดยจะทยอยเปิดตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป รวมถึงยังมีการลงนามสัญญาบริหารโรงแรมเพิ่มอีก 5 แห่งในสุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ กระบี่ และเชียงราย
แม้กระทั่งโรงแรมแบรนด์เซ็นทารา รีเซิร์ฟ ที่เปิดแห่งแรกในสมุยเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และเตรียมขยายแบรนด์ไปเปิดในเมืองท่องเที่ยวหลักอื่นๆ เช่น หัวหิน กระบี่ และมัลดีฟส์
เช่นเดียวกับต่างประเทศ เตรียมเปิดให้บริการโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า นับเป็นการเปิดโรงแรมครั้งแรกในญี่ปุ่นภายใต้แบรนด์เซ็นทารา ตึกมีความสูง 33 ชั้น มีห้องพักจำนวน 515 ห้อง ราคาเริ่มต้น 8,000 บาท เตรียมเปิดให้บริการวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นและต่างชาติ
ในช่วงเปิดแรกๆ คาดว่าจะมีผู้เข้าพักประมาณ 60% เพราะปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะคนไทย เกาหลีใต้ และจีน
นอกจากนี้ยังมีแผนเปิดสำนักงานในหัวเมืองโฮจิมินห์ เซี่ยงไฮ้ ดูไบ และโอซาก้า เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต โดยเซ็นทาราได้ตั้งเป้าลงนามสัญญาบริหารโรงแรมใหม่เพิ่มอีก 10 แห่งในต่างประเทศ เช่น เวียดนามและกาตาร์ ควบคู่กับการหาโอกาสในตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันเซ็นทารามีกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางเป็นตลาดหลัก
คาดปี 2566 รายได้เฉลี่ยต่อห้องเติบโต 30-37%
ทั้งนี้ ในปี 2566 เซ็นทาราจะมีโรงแรมและรีสอร์ตในเครือทั้งหมด 92 แห่ง โดยเปิดให้บริการแล้ว 50 แห่ง และอยู่ระหว่างการพัฒนา 42 แห่ง มีจำนวนห้องพักทั้งหมด 19,348 ห้องพัก ใน 13 ประเทศ โดยคาดการณ์ว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยจะอยู่ที่ 65-72%
และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar) เติบโต 30-37% ซึ่งมาจากอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้นและราคาห้องพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโรงแรมต่างประเทศ เช่น มัลดีฟส์ ดูไบ และญี่ปุ่น ที่ราคาห้องพักสูงกว่าไทย
“ต้องยอมรับว่าการปรับราคาห้องพักขึ้นอยู่ที่โปรดักต์และเซอร์วิส เพราะที่ผ่านมาเราเน้นเรื่องของวอลุ่มค่อนข้างมาก แต่เมื่อผ่านพ้นโควิดไปแล้วเริ่มสะท้อนให้เห็นว่าสามารถปรับราคาห้องขึ้นได้ เพื่อให้ครอบคลุมกับต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานและพลังงาน”
นอกจากการขยายโรงแรมแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือทำการตลาด ผ่านการจับมือพันธมิตรกลุ่มธุรกิจสายการบิน ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า และบริษัทท่องเที่ยว เพื่อทำการตลาดในแง่ของแคมเปญและโปรโมชัน เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยจะเชื่อมต่อกับโปรแกรมสมาชิกเซ็นทาราเดอะวัน (CentaraThe1) ที่มีฐานลูกค้าอยู่ 7 ล้านคน โดยปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มฐานสมาชิกให้ได้มากกว่า 8 ล้านคน
พิษเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อกระทบนักท่องเที่ยวยุโรป
หัวเรือใหญ่เซ็นทารายังย้ำอีกว่า อีกด้านหนึ่งธุรกิจยังต้องเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เริ่มกระทบในยุโรป ปกติแล้วช่วงไตรมาส 1 นักท่องเที่ยวยุโรปจากอังกฤษและเยอรมนีจะเข้ามาเป็นอันดับต้นๆ ของไทย แต่ตอนนี้ยังไม่เห็น ก็ถือว่ากระทบอัตราการเข้าพักบ้าง เพราะตลาดยุโรปจะจองระยะยาว ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศในแถบเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย จะเข้าพักระยะสั้น
“เราหวังว่าอุปสรรคดังกล่าวจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2567 แต่ถ้าไม่เป็นอย่างที่หวังเราก็ต้องหาตลาดใหม่ๆ เข้ามาทดแทน เช่น อินเดียและซาอุดีอาระเบีย”
พร้อมยังให้มุมมองทิ้งท้ายถึงสถานการณ์การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ประเมินว่าไม่มีผลต่อธุรกิจโรงแรม เพราะตอนนี้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาแตะ 30 ล้านคนแล้ว แม้ยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิดก็ตาม
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะรัฐบาลเก่าหรือใหม่ก็ต่างให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเป็นหลักอยู่แล้ว แต่สิ่งที่อยากแนะนำให้รัฐบาลให้ความสำคัญต่อไปคือนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว ให้มีระยะยาวและครอบคลุมมากขึ้น
โชว์กำไรสุทธิปี 2565 โต 123% จากปีก่อนขาดทุน 1,734 ล้านบาท
สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปี 2565 มีรายได้รวม 18,216 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% และมีกำไรสุทธิ 398 ล้านบาท หรือเติบโต 123% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 1,734 ล้านบาท
โดยสัดส่วนยอดขายหลักๆ มาจากไตรมาส 4/2565 มีรายได้รวม 5,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% และมีกำไรสุทธิ 498 ล้านบาท หรือเติบโต 228% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน