วันนี้ (21 กรกฎาคม) พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยเปิดโปงการซื้อสปายแวร์ระดับอาวุธสงครามร้ายแรง 3 ชนิด ตั้งแต่ปี 2557-2565 โดยหนึ่งในนั้นคือสปายแวร์เพกาซัส ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา จากการเปิดรายงานของ iLaw ที่ระบุว่านักวิชาการ นักกิจกรรม และนักสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 30 คน ถูกแฮ็กโดยเพกาซัส
พิจารณ์อ้างอิงรายงานจาก Citizen Lab ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมในแคนาดา ที่เชี่ยวชาญด้านการติดตามการจารกรรมทางไซเบอร์และการใช้สปายแวร์ ระบุว่าพบการใช้เพกาซัสในไทยครั้งแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 มีการทำงานใน Time Zone หรือเขตเวลาของไทย อีกทั้งยังชี้ไปที่เว็บไซต์ชื่อว่า Siamha, ThTube และ Thainews และมีการใช้งานเพกาซัสอย่างต่อเนื่องมาจนถึงอย่างน้อยในปี 2564
นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการสั่งซื้อสปายแวร์อื่นๆ อีก ได้แก่ สปายแวร์ที่ชื่อ RCS จากบริษัท Hacking Team ในอิตาลี คู่แข่งของเพกาซัส โดยชื่อหน่วยงานที่ซื้อคือกรมราชทัณฑ์ ซื้อในปี 2556 ในราคา 286,482 ยูโร หรือประมาณ 11.5 ล้านบาท บวกค่าธรรมเนียมการจัดการรายปีอีก 52,000 ยูโร หรือประมาณ 2 ล้านบาท และกองทัพบก ซื้อในปี 2557 ในราคา 360,000 ยูโร หรือประมาณ 14.4 ล้านบาท
ที่สำคัญ พิจารณ์ได้เปิดเผยว่าตรวจสอบพบหลักฐานการเบิกจ่ายงบประมาณของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด เพื่อซื้อชุดอุปกรณ์ค้นหาตำแหน่งโทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อ Circles จำนวน 9 รายการ ในระหว่างปี 2558-2563 และพบอีก 10 รายการที่เบิกจ่ายงบประมาณซื้อชุดอุปกรณ์ค้นหาตำแหน่งโทรศัพท์มือถือเช่นเดียวกัน แต่ไม่ระบุยี่ห้อ โดยจากรายงานของ Citizen Lab ตรวจพบการใช้งานสปายแวร์ Circles โดยหน่วยงานราชการไทย 3 หน่วยงาน คือหน่วยข่าวกรองทหารบก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. และกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด
พิจารณ์ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้สปายแวร์ระดับโลกที่สามารถแฮ็กเข้าโทรศัพท์มือถือของประชาชนได้เพียงแค่รู้เบอร์โทรศัพท์ หรือ Apple ID และสามารถล้วงข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดของเหยื่อ รวมถึงเปลี่ยนโทรศัพท์เหยื่อเป็นกล้องและอุปกรณ์ดักฟังตลอด 24 ชั่วโมง หากใช้กับอาชญากรร้ายแรง ป้องกันการก่อการร้าย หรือตามจับพ่อค้ายาเสพติด ก็คงไม่เป็นปัญหา คุ้มค่ากับเงินหลักพันล้านที่ใช้ซื้ออุปกรณ์เหล่านี้
แต่ปรากฏว่าผู้ที่ถูกแฮ็กกลับกลายเป็นนักวิชาการ ไม่ว่าจะเป็น สฤณี อาชวานันทกุล, รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์, รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รวมถึงนักการเมืองฝ่ายค้าน เช่น ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า, พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า, ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล, เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. พรรคก้าวไกล, และ ปกรณ์ อารีกุล ผู้ช่วย ส.ส. รังสิมันต์ โรม ซึ่งบุคคลเหล่านี้ไม่ได้เป็นอาชญากรร้ายแรงใดๆ เพียงแต่เป็นผู้ที่เป็นศัตรูของระบอบประยุทธ์เท่านั้น
“ในวันนี้ชัดเจนว่า พล.อ. ประยุทธ์ไม่ได้ใช้อาวุธสงครามร้ายแรงอย่างสปายแวร์เพกาซัสกับอริราชศัตรู แต่กลับใช้กับประชาชน อ้างว่าใช้กับอาชญากร แต่แท้จริงตนเองนั่นแหละกำลังประพฤติตนเป็นอาชญากรไซเบอร์ หันอาวุธสงครามใส่ประชาชนเสียเอง”
พิจารณ์ทิ้งท้ายว่า ขอเตือนประชาชนว่าอย่าคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว สปายแวร์นี้สามารถถูกใช้สอดแนมใครก็ได้ที่ พล.อ. ประยุทธ์เห็นว่าเป็นภัยต่อตนเอง ไม่แน่ว่าโทรศัพท์มือถือของพี่น้องประชาชนทุกวันนี้อาจถูกแฮ็กโดยเพกาซัสแล้วก็เป็นได้