×

หมอวาโย เปิดงานวิจัยระดับโลกอัดรัฐ รู้ว่า Sinovac รับมือเดลตาไม่ได้ แต่ยังดึงดันสั่ง ประยุทธ์-อนุทิน ต้องร่วมรับผิด

โดย THE STANDARD TEAM
01.09.2021
  • LOADING...
Wayo Assawarungruang

วันนี้ (1 กันยายน) ที่อาคารรัฐสภา นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่บริหารจัดการวัคซีนและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดผิดพลาด จนนำความเสียหายมาสู่ประเทศชาติและประชาชน

 

นพ.วาโยได้อภิปรายถึงกรณีการจัดซื้อวัคซีน Sinovac ของรัฐบาลว่าเป็นการจงใจจัดซื้อ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา ที่กำลังเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ในประเทศไทยขณะนี้

 

นพ.วาโยได้ยกเอาผลการวิจัยโดยวารสารทางวิชาการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล งานวิจัยในประเทศไทยที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับสากล และความเห็นของผู้เชี่ยวชาญมาชี้ให้เห็นว่า วัคซีน Sinovac นั้นมีประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าวัคซีน AstraZeneca ที่มีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์เดลตา 67% และ Pfizer ที่มีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ 80% โดยวัคซีน Sinovac ใช้ได้ผลกับสายพันธุ์เดลตาเพียงแค่ 48% เท่านั้น

 

นพ.วาโยยังระบุอีกว่า ผู้เชี่ยวชาญอย่าง ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ก็ยังเคยระบุไว้ในการสนทนาบน Clubhouse วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เอง ว่าการระบาดในประเทศไทยวันนั้นเป็นสายพันธุ์เดลตาอยู่ถึง 50% แล้ว คนที่ได้วัคซีนแบบเชื้อตายสองเข็มน่าจะจำเป็นต้องได้รับวัคซีนบูสเตอร์ และจะต้องได้รับเพียงสองชนิดเท่านั้น คือ mRNA หรือ Viral Vector และไม่ควรสั่งซื้อ Sinovac เข้ามาเพิ่มแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 รัฐบาลก็ยังสั่งซื้อ Sinovac เพิ่มอีก 12 ล้านโดส โดยให้เหตุผลว่า ความต้องการวัคซีนในประเทศไทย ต้องได้เดือนหนึ่งประมาณ 15 ล้านโดส แต่ AstraZeneca จะส่งมอบให้ได้เพียง 5-6 ล้านโดส จึงต้องสั่งเอาไว้เสริมเพื่อให้ครบเดือนละประมาณ 10 ล้านโดส

 

ส่วนเหตุผลที่สอง คือการอ้างอิงถึงงานวิจัยการฉีดวัคซีนสูตร Sinovac ตามด้วย AstraZeneca โดยศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่ปรากฏออกมา 4 สไลด์ ซึ่ง นพ.วาโย ตั้งข้อสังเกตว่า งานวิจัยโดยศิริราชมีกลุ่มตัวอย่างร่วมวิจัยเพียงหลักสิบเท่านั้น เมื่อเทียบกับงานวิจัยในระดับสากลที่ใช้กลุ่มตัวอย่างถึงหลักหมื่น

 

ปัญหาก็คือกลุ่มตัวอย่างยิ่งน้อย ความแปรปรวนก็ยิ่งสูง อีกทั้งเป็นงานวิจัยที่ยังไม่ผ่านการตรวจทานอย่างเข้มข้น (Peer Review) โดยคณะแพทย์และคณะนักวิจัยเชี่ยวชาญ ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์หรือเผยแพร่ตามหลักวิชาการสากล และวิธีการทำงานวิจัย (Methodology) ก็ยังไม่ได้ถูกเผยแพร่ด้วย

 

“แต่รัฐกำลังจะตีขลุม เอางานแบบนี้ไปใช้ออกนโยบาย ใช้ข้อมูลจาก 4 สไลด์ไปออกนโยบายระดับชาติ ซึ่งส่งผลกระทบกับชีวิตของประชาชนเกือบ 70 ล้านคน แล้วโยนความผิดบาปให้กับทางศิริราช สิ่งนี้ผมไม่เห็นด้วย” นพ.วาโยกล่าว

 

นพ.วาโยอภิปรายต่อว่า การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนเมษายน เคยมีทั้งผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลาง และจากฝั่งรัฐบาล ทั้ง นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา และ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ออกมาเตือนตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนแล้ว ว่าเดลตาจะกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศไทย แต่รัฐบาลกลับยังคงสั่งซื้อ Sinovac เพิ่ม ในวันที่ 6 กรกฎาคม 10.9 ล้านโดส และวันที่ 16 สิงหาคม 12 ล้านโดส ทั้งที่ได้รับการยืนยันจากงานวิชาการระดับสากลแล้ว ว่ามีประสิทธิภาพไม่มากพอที่จะรับมือกับสายพันธุ์เดลตาได้

 

นพ.วาโยกล่าวว่า การอ้างว่ารัฐบาลไม่ทราบนั้นไม่น่าเชื่อถือ เพราะผู้ที่ออกมาเตือนล้วนเป็นบุคคลที่รายล้อมทั้ง พล.อ. ประยุทธ์ และอนุทินทั้งสิ้น การสั่งซื้อในเดือนกรกฎาคมอาจจะบอกได้ว่าเพราะข้อมูลยังไม่พอยืนยันว่า Sinovac ไม่มีประสิทธิภาพต่อเชื้อเดลตา เป็นเรื่องที่ยังพอรับฟังได้ เพราะวารสารวิชาการที่ออกมายืนยันเรื่องนี้ ออกมาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม

 

“แต่การที่วันที่ 16 สิงหาคม รัฐบาลยังคงดื้อดึงสั่งซื้อ Sinovac เพิ่มอีก 12 ล้านโดส ในวันที่ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ของการระบาดในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์เดลตาไปแล้ว แปลว่าท่านได้ซื้อวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพกับสายพันธุ์ของเชื้อโรคที่ระบาดอยู่ในประเทศไทย โดยที่ท่านรู้หรือควรจะต้องรู้อยู่แล้วว่ามันไม่ได้ผล และไม่มีพยานหลักฐานอะไรใดๆ เลยที่จะมาสนับสนุนว่าท่านจะสามารถใช้ Sinovac แบบใดให้มีประสิทธิภาพ” นพ.วาโยกล่าว

 

นพ.วาโยยังอภิปรายชี้ให้เห็นว่า อนุทินจะต้องร่วมรับผิดชอบกับกรณีความผิดพลาดนี้ด้วย แม้อนุทินจะเคยบอกว่าตนไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดซื้อวัคซีน เพียงแค่ให้กำลังใจ ส่วนการลงนามทุกขั้นตอนเป็นการทำงานของฝ่ายแพทย์ แต่ในความเป็นจริง เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 นายกรัฐมนตรีที่ได้ประกาศถ่ายโอนอำนาจทางกฎหมายมาไว้ที่ตัวเองรวม 31 ฉบับ โดยมี 13 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนั้น แต่วันที่ 29 เมษายน 2564 นายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศอีกฉบับคืนอำนาจบางส่วน โดยมีใจความว่า

 

  1. การถ่ายโอนอำนาจ มิได้หมายถึงอำนาจทั้งหมด แต่ให้อำนาจหน้าที่อื่นๆ โดยเฉพาะของคณะกรรมการตามกฎหมาย ให้ดำเนินการต่อไปตามปกติ 

 

  1. รัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้บัญชาการหรือเป็นประธานคณะกรรมการตามกฎหมาย ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามปกติ เว้นแต่กรณีที่นายกรัฐมนตรีจะเข้าไปดำเนินการเอง และ 3. ให้หน่วยงานต้องรายงานปัญหา อุปสรรค วิธีการแก้ไขปัญหาให้ทราบทุกครั้ง ต้องติดตามตรวจสอบรายงานให้ทราบ

 

นพ.วาโยระบุว่า เรื่องนี้มีความสำคัญมาก เพราะในการยื่นเรื่องขออนุญาต การขอขึ้นทะเบียน การนำเข้า การจัดหา การประสาน หรือติดต่อกับต่างประเทศ และการจัดสรรวัคซีนที่เกี่ยวกับโรคโควิด ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทั้งสิ้น

 

นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม มาตรา 5 ระบุว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รักษาการ, ตามมาตรา 18 วรรค 2 คณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ก็คือรวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีกระทรวงอื่นๆ คือผู้ที่แต่งตั้งกรรมการองค์การเภสัชกรรมเอง และในส่วนของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในฐานะรองประธานด้วย

 

“อนุทินจึงไม่ได้ถูกรวบอำนาจในส่วนนี้ เพราะประกาศของนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 9 เมษายน ได้คืนอำนาจให้รัฐมนตรีและคณะกรรมการแต่ละกฎหมายไปแล้ว เพราะฉะนั้น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างว่าตัวเองไม่มีหน้าที่และอำนาจ เพราะถูกนายกรัฐมนตรียึดอำนาจไปหมดแล้ว เป็นเรื่องที่รับฟังไม่ได้เลย” นพ.วาโยกล่าว

 

นพ.วาโยยังได้อภิปรายต่อไป ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการบริหารผิดพลาดของรัฐบาล เช่น อัตราการฉีดวัคซีนที่น้อยกว่าแม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน การที่ประชากรได้รับวัคซีนสองเข็มเพียง 9.4% และเป็นวัคซีน Sinovac ที่ไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงอัตราการติดเชื้อใหม่ที่ประเทศไทยขึ้นไปอยู่จุดเดียวกับสหรัฐฯ และผ่านจุดที่มากกว่าสหรัฐฯ มาแล้ว รวมทั้งอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศอื่นค่อยๆ ลดลงด้วย แม้จะมีมาตรการล็อกดาวน์ที่ออกมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม แต่ผู้ป่วยใหม่รายวันก็ยังคงพุ่งสูงขึ้น ผู้เสียชีวิตรายวันก็เพิ่มขึ้น

 

“นี่เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก แม้หลังการล็อกดาวน์ดูเหมือนผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่คำถามคือนี่เป็นการลดลงที่แท้จริงหรือไม่? หรือเป็นการลดลงเพียงเพราะเราตรวจน้อยลง ได้มีการนำเอา ATK เข้ามาร่วมด้วยหรือไม่? อัตราการตายที่สูงขึ้นสวนทางกับอัตราการติดเชื้อ คือกราฟที่เรียกว่าเป็น Convergence เป็นสัญญาณอันตราย และเป็นสัญญาณที่แสดงถึงความล้มเหลวของการบริหารนโยบายสาธารณสุข” นพ.วาโยกล่าว

 

นพ.วาโยยังระบุด้วยว่า เมื่อเทียบกับประเทศอังกฤษ กราฟมีการหักออกเป็น Divergence จะเห็นได้ว่าแม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังคงเยอะอยู่ แต่ว่าอัตราการเสียชีวิตกลับน้อยลง จนเป็นเส้นที่เริ่มตีห่างออกมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อเรื่อยๆ

 

“นี่คือกราฟที่เป็นวิถีชีวิตแบบ ‘New Normal’ อย่างแท้จริง คือทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกัน ถึงแม้จะติดโควิดก็ติดไป กลายเป็นเหมือนไข้หวัดธรรมดา ก็คือติดแต่ไม่ตาย นักวิชาการหลายท่านเคยพูดมาตั้งแต่แรกแล้ว ว่ามันกลายเป็นเหมือนกับโรคไข้หวัดใหญ่ คืออาจจะมีการติดกันบ้างประปราย ในแต่ละช่วงแต่ละฤดูกาล แต่ว่าอัตราการตายจะไม่เป็นแบบที่ประเทศไทยเป็นอยู่ตอนนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการฉีดวัคซีนไม่มีคุณภาพ และช้าเกินไปแบบที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน” นพ.วาโยกล่าว

 

นพ.วาโยอภิปรายต่อไปว่า ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แสดงให้เห็นถึงจำนวนการตรวจหาเชื้อต่อวัน และเปอร์เซ็นต์ของการตรวจพบเชื้อ ซึ่งในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นว่าตัวเลขการตรวจพบเชื้อพุ่งขึ้นสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 20%

 

แม้รัฐบาลระบุว่าผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงแล้ว แต่หากเรามาดูเส้นแนวโน้ม (Trend) จะพบว่าการที่มีผู้ติดเชื้อน้อยลง เป็นผลมาจากการตรวจที่น้อยลง แม้แต่ข้อมูลของกรมควบคุมโรค ยังระบุเส้นแนวโน้มการตรวจรายวันว่าน้อยลงจริง

 

“ดังนั้น การบอกว่าแนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลงนั้นไม่จริง เพราะถ้าแนวโน้มจะลดลงจริงกราฟจะต้องโค้งลง แต่ความชันของกราฟนี้จะเห็นได้ว่าคงที่อยู่ที่ 45 องศา และที่สำคัญเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อยังเป็นกราฟขาขึ้นอยู่ หรืออาจจะตีความว่าคงที่ก็ได้ แต่ก็เป็นการคงที่ที่ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ โดยสรุปก็คือวันนี้เรามีแนวโน้มการตรวจหาเชื้อที่ลดลง แต่อัตราการตรวจพบเชื้อยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น หรือคงที่อยู่ที่ 20% นี่จึงไม่ใช่แนวโน้มการติดเชื้อที่ลดลงอย่างที่รัฐบาลกล่าวอ้างเลย” นพ.วาโยกล่าว

 

นพ.วาโยอภิปรายเป็นประเด็นสุดท้าย ถึงกรณีการรับผิดของทั้ง พล.อ. ประยุทธ์ และอนุทิน โดยระบุว่าแม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขปฏิเสธความรับผิดชอบ แต่หลักฐานเชิงประจักษ์ตามกฎหมายที่ตนไล่เรียงมาระบุชัดเจนว่า อนุทินมีหน้าที่ต้องทำอยู่ นั่นแปลว่ามีหน้าที่แต่ไม่ได้ทำ ก็เท่ากับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เข้าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

 

ส่วนนายกรัฐมนตรีมีความผิดสลับกันคือเดิมทีไม่ได้มีหน้าที่ แต่รวบอำนาจดึงหน้าที่มา แล้วไปสั่งวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพต่อเชื้อที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศไทย

 

ความผิดประการแรก คือความผิดตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มาตรา 8 ที่ระบุหลักการว่าต้องคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้ การซื้อของที่ไม่มีประสิทธิภาพและยังไม่คุ้มค่าด้วย ถึงแม้จะโปร่งใสตรวจสอบได้ ก็มีความผิดตามมาตรา 8 และมีโทษตามมาตรา 120 พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพราะเป็นการจงใจซื้อวัคซีนที่รู้แล้วว่าใช้ไม่ได้ นายกรัฐมนตรีจึงปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151

 

“การที่ท่านสั่งวัคซีนที่มันไม่มีประสิทธิภาพกับสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดอยู่ในประเทศไทย เอามาฉีดกับคนเป็นสิบๆ ล้านคน แล้วทำให้คนต้องตาย จากที่จริงๆ แล้วเขาอาจจะยังไม่สมควรตาย นี่คือความผิดที่วันหนึ่ง จะต้องมีคนพาท่านไปขึ้นศาลอย่างแน่นอน ผมเชื่อว่าอย่างไรเสีย นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะได้รับเสียงโหวตไว้วางใจในวันนี้ แต่ผู้ที่จะตัดสินเรื่องนี้จริงๆ ไม่ใช่เพื่อนสมาชิก แต่คือประชาชนทั้งประเทศ ที่จะเป็นคนตัดสินความผิดของท่านต่อไป และปลายทางของท่านเมื่อลงจากอำนาจ ก็คงไม่ได้ไปไหนนอกจากคุกเท่านั้น” นพ.วาโยกล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising