วันนี้ (24 กันยายน) ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติว่า วานนี้มีการประชุมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.), สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.), กรมอุตุนิยมวิทยา, ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรมประชาสัมพันธ์ ในเรื่องการเตือนภัยให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ ส่วนการส่งข้อความ (Sender Name) ได้มอบหมายให้ ปภ. เป็นผู้ส่ง แต่ข้อมูลที่จะส่งเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ดูแลสภาพอากาศ อย่างเรื่องดินโคลนถล่มเป็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องฟ้าฝนเป็นของกรมอุตุนิยมวิทยา
ขณะเดียวกันได้เชิญผู้ให้บริการเครือข่าย เพื่อเพิ่มช่องทางในการแจ้งเตือนประชาชน หากมีเรื่องจำเป็นเร่งด่วนจะมีหน้าที่ส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ได้มอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ออกประกาศตามสื่อวิทยุโทรทัศน์ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนทางหนึ่ง พร้อมกล่าวว่า ขณะนี้ยังมีพายุเข้ามาอีกลูกหนึ่ง จึงต้องเตรียมความพร้อมในการเตือนภัยทั้งอุทกภัย วาตภัย ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มแล้ว
ประเสริฐยังระบุอีกว่า ระบบการแจ้งเตือนภัยดังกล่าวสามารถแจ้งเตือนหากเกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์พื้นที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งไปยัง ปภ. และ กสทช. เพื่อส่งต่อไปยังเครือข่ายมือถือ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบว่าสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ในระดับใด ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระดับตามความรุนแรงของสถานการณ์ แต่จะไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก โดยข้อความการแจ้งเตือนจะระบุชัดเจนว่าประชาชนควรปฏิบัติตนอย่างไร
ส่วนระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติฉุกเฉิน (Cell Broadcast Service) จะเสร็จประมาณไตรมาส 2/68 โดยในไตรมาส 1/68 จะทดสอบระบบซึ่งจะมีการวิเคราะห์ข้อมูล แม้ไม่รู้เบอร์โทรศัพท์ก็สามารถยิงเข้าไปได้ทุกหมายเลขที่อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติ