×

เอกสารภายในจากศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯ ชี้เชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาฝ่าการป้องกันวัคซีน-ทำให้เกิดโรครุนแรงขึ้น แพร่เชื้อง่ายพอๆ กับโรคอีสุกอีใส

31.07.2021
  • LOADING...

เว็บไซต์ The New York Times ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่าได้รับสำเนาเอกสารซึ่งเป็น ‘เอกสารภายใน’ ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ที่ระบุว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาสามารถติดต่อกันได้ง่าย มีแนวโน้มที่จะฝ่าการป้องกันของวัคซีน และอาจจะทำให้เกิดโรคที่รุนแรงมากขึ้นกว่าเชื้อสายพันธุ์อื่นที่เป็นที่รู้จักในขณะนี้ นอกจากนี้ เชื้อสายพันธุ์เดลตายังแพร่ได้ง่ายกว่าไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส, เมอร์ส, อีโบลา, หวัดธรรมดา, ไข้ทรพิษ และแพร่เชื้อได้ง่ายพอๆ กับโรคอีสุกอีใส เนื้อหาของเอกสารฉบับนี้ถูกรายงานผ่านสำนักข่าว The Washington Post เป็นที่แรกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

 

เอกสารฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ขั้นตอนต่อไปของ CDC คือการยอมรับว่าสงครามได้เปลี่ยนไปแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางผู้ได้เห็นงานวิจัยที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าว ระบุว่าน้ำเสียงของเอกสารฉบับนี้สะท้อนคำเตือนถึงอันตรายเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาทั่วประเทศในหมู่นักวิทยาศาสตร์ของ CDC

 

อย่างไรก็ตาม The Washington Post บอกว่าเอกสารดังกล่าวระบุหมายเหตุไว้ว่าการค้นพบและข้อสรุปเป็นของผู้เขียน และไม่จำเป็นต้องแสดงถึงจุดยืนอย่างเป็นทางการของ CDC

 

ข้อมูลจาก CDC ระบุค่าเฉลี่ย 7 วันของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน ณ วันที่ 28 กรกฎาคมอยู่ที่ 66,606 ราย ซึ่งเป็นแนวโน้มขาขึ้นของการระบาด The New York Times ระบุว่าข้อมูลใหม่แสดงให้เห็นว่าบุคคลที่ได้รับวัคซีนแล้วกำลังแพร่เชื้อไวรัส และมีส่วนต่อจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ แม้อาจจะอยู่ในระดับที่น้อยกว่าผู้ที่ยังไม่ฉีดวัคซีนมากก็ตาม

 

ดร.โรเชลล์ พี วาเลนสกี ผู้อำนวยการ CDC ระบุไว้ว่าการแพร่เชื้อโดยผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วถือเป็นเหตุการณ์ที่พบได้ยาก แต่นักวิทยาศาสตร์รายอื่นๆ บอกว่าเหตุการณ์แบบนี้อาจจะเป็นเรื่องปกติมากกว่าที่เคยคิด

 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา CDC มีการเปลี่ยนแปลงคำแนะนำด้านสาธารณสุข ‘ชั่วคราว’ สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดครบถ้วนแล้ว ระบุชัดเจนว่าเป็นไปตามหลักฐานใหม่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยมีการเพิ่มเติมคำแนะนำให้ ‘ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิดครบถ้วนแล้ว’ สวมหน้ากากอนามัยในอาคารซึ่งเป็นที่สาธารณะ หากอยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่เชื้อ ‘หนาแน่น (Substantial)’ หรือ ‘สูง (High)’ หรือในอีกกรณีหนึ่ง ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิดครบถ้วนแล้วยังอาจเลือกสวมหน้ากากอนามัยโดยไม่จำกัดว่าพื้นที่ที่อยู่นั้นจะมีการแพร่เชื้ออยู่ในระดับใด โดยเฉพาะในกรณีที่พวกเขามีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด หรือในกรณีหากมีคนในครอบครัวที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีความเสี่ยงมากกว่าที่จะมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด หรือยังไม่ได้รับวัคซีนครบถ้วน ทว่า เอกสารภายในฉบับดังกล่าวที่สื่อสหรัฐฯ นำมาเสนอบอกว่าคำแนะนำดังกล่าวอาจยังไม่มากพอ และ ‘การสวมหน้ากากอนามัยแบบถ้วนหน้า’ อาจเป็นเรื่องจำเป็น โดยอ้างถึงหลักฐานการแพร่ระบาดที่สูง และความครอบคลุมของวัคซีนในปัจจุบัน

 

เอกสารฉบับดังกล่าวยังระบุถึงข้อมูลที่ CDC เก็บมาได้จนถึงวันที่ 24 กรกฎาคม โดยระบุว่าพบการติดเชื้อแบบมีอาการราว 35,000 รายต่อสัปดาห์ในกลุ่มชาวอเมริกันที่ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 162 ล้านคน แต่ทาง CDC ไม่ได้ติดตามการติดเชื้อแบบไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ดังนั้นจำนวนอุบัติการณ์ของการติดเชื้อแม้รับวัคซีนแล้วอาจจะสูงกว่านั้น นอกจากนี้เอกสารยังเผยว่าการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาจะสร้างไวรัสในทางเดินหายใจเป็นจำนวนที่สูงกว่าที่พบในผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟาราวสิบเท่า ส่วนต้นฉบับงานวิจัยที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาตรวจสอบ (Peer Review) จากคณะนักวิจัยของจีนซึ่งศึกษาจากการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาในจีนในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนที่ผ่านมา พบหลักฐานว่าปริมาณเชื้อไวรัสที่พบในผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตามากกว่าการติดเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ระบาดในจีนเมื่อช่วงต้นปี 2020 โดยเฉลี่ยแล้วราว 1,000 เท่า ซึ่งบ่งชี้ถึงการเพิ่มจำนวนของไวรัสที่อาจเร็วขึ้น และความสามารถในการแพร่เชื้อที่สูงขึ้นของสายพันธุ์เดลตาในระหว่างช่วงแรกของการระบาด

 

นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวยังระบุถึงผลการศึกษาต่างๆ อาทิ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากเมืองแห่งหนึ่งในรัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐฯ ที่พบว่าผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตามีปริมาณไวรัสที่จมูกและคอมากโดยไม่จำกัดว่าจะรับวัคซีนมาแล้วหรือไม่ หรือการศึกษาที่แคนาดาและสกอตแลนด์ที่พบว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตามีแนวโน้มที่จะเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น หรือการวิจัยในสิงคโปร์ที่ชี้ว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตามีแนวโน้มมากขึ้นที่จะต้องการออกซิเจน เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าจากสถิติของ CDC ยังแสดงให้เห็นว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรง การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตในหมู่ผู้รับวัคซีนแล้ว เช่นเดียวกับที่ The Washington Post รายงานว่าเอกสารระบุไว้ชัดเจนว่าการฉีดวัคซีนจะให้การป้องกันอย่างมากต่อไวรัส แต่ก็บอกไว้เช่นกันว่า CDC ต้อง “ปรับปรุงการสื่อสารเกี่ยวกับความเสี่ยงของแต่ละบุคคลในกลุ่มผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว” เพราะความเสี่ยงนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ รวมถึงอายุและเงื่อนไขว่าบุคคลนั้นๆ มีระบบภูมิคุ้มกันที่บกพร่องหรือไม่ ซึ่งเอกสารนี้ได้รวมข้อมูลของ CDC จากการศึกษาที่พบว่าวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้อาศัยในสถานรับดูแล (Nursing Home) ซึ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่ว่าบุคคลกลุ่มเสี่ยงอาจต้องการวัคซีนเพิ่มเติมขึ้นมาอีกหนึ่งเข็ม

 

ดร.เจฟฟรีย์ ชาแมน นักระบาดวิทยาของมหาวิทยาลัยโคลอมเบียระบุหลังได้อ่านเอกสารของ CDC ว่าในความเห็นของเขา ปัญหาหลักตอนนี้คือผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของเชื้อเดลตาอย่างมาก การฉีดวัคซีนในตอนนี้จึงเกี่ยวกับการป้องกันส่วนบุคคล ป้องกันตนเองจากโรคร้ายแรง แต่อาจไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะมีหลักฐานจำนวนมากถึงการติดเชื้อซ้ำหรือการติดเชื้อแม้รับวัคซีนแล้ว ส่วน ดร.แคธลีน นิวซิล ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนจากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ระบุว่าการให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นได้รับวัคซีนยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่สาธารณชนอาจจะต้องปรับแนวคิดเกี่ยวกับไวรัส โดยอาจจะต้องเปลี่ยนเป้าหมายไปสู่การป้องกันโรคร้ายแรง ความทุพพลภาพและผลทางการแพทย์ โดยไม่กังวลเกี่ยวกับไวรัสทุกตัวที่ถูกตรวจพบในจมูก

 

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ระบุกับ The Washington Post ว่าข้อมูลทั้งหมดจะถูกเผยแพร่เต็มรูปแบบในวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น ขณะที่ ดร.วาเลนสกี ผู้อำนวยการ CDC ได้บรรยายสรุปให้แก่สมาชิกสภาคองเกรสไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาแล้ว

 

ภาพ: Steve Pfost / Newsday RM via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising