นักวิชาการมอง ‘เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป’ ยื่นฟื้นฟูกิจการ หวังใช้เป็นทางออกแก้ปัญหาเงินสดขาดมือ ไม่พอใช้หนี้ จับตาศาลฯ รับคำร้องหรือไม่ เสี่ยงกระทบผู้ถือหุ้นรายย่อย-เจ้าหนี้ได้คืนช้า
แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป หรือ JKN แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทในฐานะลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 โดยในวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทเรียบร้อยแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
แหล่งข่าวนักวิชาการด้านการเงินให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า การที่ JKN ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง สะท้อนว่าบริษัทกำลังมีปัญหาทางการเงิน โดยประสบภาวะขาดสภาพคล่องหรือขาดกระแสเงินสด ส่งผลให้บริษัทมีการผิดนัดชำระหนี้หุ้นที่ส่งสัญญาณมาแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ อีกทั้งกำลังจะมีหุ้นกู้ที่กำลังจะทยอยครบจ่ายคืนหนี้เพิ่มเติมในรอบถัดไปอีกด้วย
ดังนั้นการที่ JKN ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง คาดว่าจะเป็นการเข้ามาช่วยหยุดกระบวนการไม่ให้เจ้าหนี้มาทวงติดตามหนี้และให้พักการจ่ายคืนชำระหนี้ไปก่อน โดยหากศาลล้มละลายกลางเห็นชอบให้ JKN เข้าสู่กระบวนการให้ฟื้นฟูกิจการตามที่ยื่นคำร้อง ซึ่งจะมีผลให้มีการพักชำระหนี้ทั้งหมดจนกว่าที่บริษัทจะดำเนินการตามแผนฟื้นฟูเสร็จสิ้น โดยเข้าสู่กระบวนการให้ฟื้นฟูกิจการ จะเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้ของ JKN มีโอกาสตั้งคณะผู้ทำและบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และเจ้าหนี้ต้องยินยอมให้ดำเนินการด้วย เพื่อมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของบริษัท หากดำเนินการจนบริษัทสามารถนำพาออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ จึงมีการชำระหนี้กับเจ้าหนี้อีกครั้งตามเงื่อนไขที่กำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการ
“มอง JKN เลือกวิธีขอฟื้นฟูกิจการเป็นทางรอดสุดท้ายทางเลือกเดียวในตอนนี้ เพื่อใช้ปกป้องบริษัทให้มีโอกาสทำธุรกิจอยู่รอดได้ต่อไปมาใช้แก้ปัญหาสภาพคล่องที่บริษัทกำลังเจอ เจ้าหนี้จะไม่สามารถเรียกขอคืนหนี้ได้ในช่วงเวลานี้ จนกว่าจะสามารถแก้ปัญหาออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้ สามารถทำธุรกิจได้ปกติ เพราะหากไม่ใช้วิธีนี้ มีโอกาสที่เจ้าหนี้แต่รายจะรุมทวงหนี้นำเอาทรัพย์ของบริษัทต่อไป จนมีความเสี่ยงทำให้บริษัทล้มละลายได้ทันที อาจไม่มีเงินเพียงพอจ่ายคืนหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทุกราย”
ทั้งนี้ หากศาลล้มละลายกลางเห็นชอบให้ JKN เข้าสู่กระบวนการให้ฟื้นฟูกิจการ จะมีผลกระทบต่อทั้งเจ้าหนี้สถาบันการเงินกับเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ของ JKN ทันที เพราะจะไม่ได้รับเงินต้นและดอกเบี้ยคืนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้เดิม เพราะเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายฟื้นฟูกิจการ โดยเจ้าหนี้จะได้รับเงินต้นและดอกเบี้ยคืนหลังจากบริษัทออกจากแผนฟื้นฟูแล้ว
ทั้งนี้ ปัจจุบัน JKN มียอดหนี้หุ้นกู้จำนวน 7 ชุด มูลค่ารวมประมาณ 3,212 ล้านบาท ที่ผิดนัดชำระ รวมถึงเกิด DNP (Default not related to payment) มีเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิเกิดขึ้น เนื่องจากผู้ออกตราสารหนี้ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิในข้ออื่นๆ อีกทั้งจากรายงานประจำปีของบริษัท ณ สิ้นปี 2565 มีการกู้ยืมสถาบันการเงิน 537 ล้านบาท
ผู้ถือหุ้น-หุ้นกู้ JKN เสี่ยงโดนกระทบ
ด้านนักวิเคราะห์ บล.หยวนต้า ระบุว่า แนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้น JKN ออกไปก่อน และปรับคำแนะนำเป็น ‘Under Review’ เพราะยังไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องไม่มีเงินนำมาจ่ายคืนดอกเบี้ยได้ จนส่งผลต้องยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และแผนในการออกหุ้นกู้ในอนาคตเพื่อรีไฟแนนซ์จะทำได้ลำบากขึ้น
ด้านนักวิเคราะห์อีกแห่งให้มุมมองกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สำหรับกระบวนการฟื้นฟูกิจการของ JKN หากมีการปรับโครงสร้างทางการเงินโดยใช้วิธีการลดทุน มองว่าจะเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบด้านลบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย อีกทั้งเจ้าหนี้ทั้งสถาบันการเงินและผู้ถือหุ้นกู้มีความเสี่ยงที่จะได้รับเงินคืนลดลง หากมีกระบวนการลดหนี้ (Hair Cut) เกิดขึ้น
ตลาดหลักทรัพย์ฯ แนะเกาะติดข้อมูล JKN
ด้านแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า หากศาลล้มละลายกลางเห็นชอบรับคำร้องที่ JKN ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ โดยตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย ‘C’ หรือ Caution บนหุ้นของ JKN เพื่อเตือนผู้ลงทุนกรณีมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินธุรกิจ เพราะถือเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่เข้าเกณฑ์ต้องขึ้นเครื่องหมาย C
“ตอนนี้คงต้องรอผลการพิจารณาของศาลล้มละลายกลางว่าจะพิจารณารับคำร้องหรือไม่ หากรับคงต้องขึ้นเครื่องหมาย C ทันทีตามเกณฑ์”
สำหรับกรณีของการขึ้นเครื่องหมาย SP (Trading Suspension) จะต้องพิจารณาว่าจะมีเหตุให้หุ้นเข้าสู่เหตุถูกเพิกถอนหรือไม่ตามเกณฑ์ ซึ่งส่วนหนึ่งต้องติดตามความคืบหน้ากระบวนการของศาลล้มละลายกลางในระยะข้างหน้าด้วย และขั้นตอนในการทำแผนฟื้นฟูฯ โดยขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่มีเหตุที่จะต้องขึ้นเครื่องหมาย SP หุ้น JKN แต่ยังเฝ้าติดตามปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นของ JKN รวมถึงแนะนำให้นักลงทุนติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีประเด็นที่เกิดนัยสำคัญจนเข้าเหตุถูกเพิกถอนหรือไม่