วานนี้ (31 สิงหาคม) รายงานจากสมาคมการธนาคารแห่งประเทศจีน (CBA) เผยว่า ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 สกุลเงินหยวนของจีนในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน โดยยอดการชำระเงินและการรับเงินยังคงอยู่ในระดับที่มีความสมดุล
รายงานระบุว่า ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน ยอดการรับ-จ่ายเงินหยวนข้ามพรมแดนอยู่ที่ 12.67 ล้านล้านหยวน (ราว 57.58 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.33 เมื่อเทียบปีต่อปี
ในยอดการทำธุรกรรมทั้งหมด ยอดการชำระเงินข้ามพรมแดนด้วยเงินหยวนอยู่ที่ 6.36 ล้านล้านหยวน (ราว 28.9 ล้านล้านบาท) ขณะที่ยอดการรับเงินข้ามพรมแดนด้วยเงินหยวนอยู่ที่ 6.31 ล้านล้านหยวน (ราว 28.68 ล้านล้านบาท)
ช่วงปลายเดือนมิถุนายน ส่วนแบ่งของเงินหยวนในยอดการชำระเงินทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 1.76 ทำให้เงินหยวนกลายเป็นสกุลเงินที่มีความสำคัญด้านการชำระเงินสูงสุดเป็นอันดับ 5 ของโลก
รายงานระบุด้วยว่า สัดส่วนของเงินหยวนในยอดการชำระเงินทั่วโลกประสบความผันผวนช่วงต้นปี 2020 เนื่องจากผลกระทบของโรคโควิด-19 แต่ก็สามารถฟื้นคืนเสถียรภาพได้ เพราะธนาคารพาณิชย์ยกระดับบริการชำระเงินหยวน หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทุเลาลง และการผลิตกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง
การผลักดันให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากลเผชิญความท้าทายหลายประการ ทั้งความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิทัศน์ของโลกและแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลก โดยรายงานเรียกร้องให้มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนการใช้เงินหยวนในการชำระเงินข้ามพรมแดน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- สำนักข่าวซินหัว