ในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ กระบวนการการเลือกพระสันตะปาปา หรือคอนเคลฟ (Conclave) ก็จะเริ่มต้นขึ้น คณะพระคาร์ดินัลกว่า 132 องค์ (College of cardinals) จากทั่วทุกมุมโลกจะเข้าสู่การลงคะแนนลับภายในวัดน้อยซิสติน (Sistine Chapel) เพื่อสรรหาพระสันตะปาปาองค์ใหม่ หลังจากที่โป๊ปฟรานซิสทรงสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา
การเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่นั้นถือว่าเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญยิ่ง ผู้ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา ไม่เพียงแต่จะกำหนดบทบาทของพระศาสนจักรคาทอลิกบนเวทีโลกในฐานะรัฐที่มีเครือข่ายทางการทูตที่ใหญ่ที่สุด แต่ยังกำหนดทิศทางของพระศาสนจักรคาทอลิกในด้านการบริหารจัดการ การเทศน์สอน และการรับมือกับกรณีการล่วงละเมิดทางเพศโดยบาทหลวงและนักบวช
เนื่องด้วยสภาพการณ์ปัจจุบัน ทั้งจากมิติภูมิรัฐศาสตร์และจากบริบทของพระศาสนจักรคาทอลิก ได้ส่งผลให้การสรรหาบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาองค์ที่ 227 ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่น่าแปลกที่คณะคาร์ดินัลรวมทั้งพระคาร์ดินัลกิตติคุณได้ออกมาเชิญชวนคริสตชนให้สวดภาวนา เพื่อที่จะได้สามารถเฟ้นหาบุคคลที่เหมาะสมที่สุด เช่น พระคาร์ดินัล เยราล์ด ซีเพรียน ลาครัวซ์ (Gérald Cyprien Lacroix) อาร์คบิชอปแห่งควิเบก ซึ่งได้กล่าวผ่านวิดีโอแก่คริสตชนชาวแคนาดาว่า “…ขอเชิญชวนให้พวกเราแต่ละคนภาวนา และขอพระจิตเจ้า เพื่อที่พวกเราสามารถไตร่ตรองแยกแยะ (Discernment) รับฟังซึ่งกันและกัน อีกทั้งรับรู้ถึงสถานการณ์ปัจจุบันของพระศาสนจักรและโลกที่พวกเราอาศัยอยู่ เพื่อจะได้เลือกบุคคลที่เพียบพร้อมมากที่สุด…”
บทบาทในฐานะผู้นำรัฐ และผู้นำทางจิตวิญญาณของคริสตชนคาทอลิกทั่วโลกได้ทำให้ผู้ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นพระสันตะปาปามีภาระความรับผิดชอบที่สำคัญยิ่ง พระสันตะปาปาองค์ใหม่ไม่เพียงสะท้อนความจำเป็นของพระศาสนจักรคาทอลิกสากลในยุคปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังต้องสามารถรับมือกับความต้องการของประชาคมโลกอีกด้วย
ความท้าทายจากประเด็นปัญหาของโลก
ตามหลักการแล้ว พระศาสนจักรและการเมืองเป็นสถาบันที่มีความเป็นเอกเทศ และไม่มีความเกี่ยวข้องกัน (สังฆธรรมนูญว่าด้วยเรื่องพระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ Gaudium et Spes 76-3) แต่ทว่านั่นไม่ได้หมายความว่า พระสันตะปาปาและพระศาสนจักรคาทอลิกจะหันหลังให้กับการเมืองโลกอย่างสิ้นเชิง พระสันตะปาปารวมทั้งพระศาสนจักรได้เข้ามามีบทบาทในด้านการเมืองก็ต่อเมื่อเกิดประเด็นที่ขัดกับหลักศีลธรรมและสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ อันสอดคล้องกับภารกิจของพระศาสนจักรซึ่ง “ให้คำชี้แนะทางศีลธรรม แม้กระทั่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ในยามจำเป็นต้องปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์…” (Gaudium et Spes 76-5)
ด้วยเหตุนี้ พระสันตะปาปาจึงเข้ามามีบทบาทในภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งปัญหาระดับโลกที่เกินขอบเขตอำนาจรัฐใดรัฐหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอพยพย้ายถิ่น และความยากจน เป็นต้น
หากแต่ว่าประเด็นปัญหาต่างๆ นั้นแตกต่างกันไปตามภูมิภาค โดยในกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยชาติตะวันตกที่พัฒนาแล้ว ต่างให้ความสนใจเกี่ยวกับสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ภาวะโลกร้อน และกระแสประชานิยมและชาตินิยมที่กำลังคุกคามต่อคุณค่าประชาธิปไตย ทว่าในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ กลับเน้นเรื่องความเหลื่อมล้ำ คอร์รัปชัน ปัญหาการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน และความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่การปฏิวัติหรือสงครามกลางเมือง
ประเด็นปัญหาที่หลากหลายทำให้การสรรหาบุคคลที่ตอบโจทย์กับสถานการณ์โลกในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย
ยิ่งไปกว่านั้น พระสันตะปาปาในฐานะประมุขของรัฐจำเป็นต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ตามหลักการและความเชื่อที่ยึดถือ ผ่านพระดำรัส การเสด็จเยือนและการพบปะ เพื่อให้ผู้นำประเทศต่างๆ ก้าวข้ามผลประโยชน์ของตนอันนำไปสู่การหันหน้าเจรจาและหาทางออกร่วมกัน ทว่าในขณะเดียวกันพระองค์ต้องคงความเป็นกลาง ซึ่งอาจสร้างความสับสนขึ้นได้ อันเห็นได้จากกรณีที่โป๊ปฟรานซิสซึ่งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติสงครามในยูเครน แต่ทว่าพระองค์ไม่เคยตำหนิรัสเซียอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
มุมมองที่หลากหลายภายในพระศาสนจักรคาทอลิก
อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณของคริสตชนคาทอลิก ภารกิจที่สำคัญที่สุดของพระสันตะปาปา คือ การรักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างคริสตชนทั่วโลก
ความแตกต่างในกระบวนการอบรมทางจิตวิญญาณ และบริบทท้องถิ่นได้ส่งเสริมความหลากหลายทางความคิดและแนวทางปฏิบัติภายในพระศาสนจักรคาทอลิก ซึ่งไม่สามารถแบ่งออกเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม (Conservative) และเสรีนิยม (Liberal) ตามคำนิยามแนวคิดทางการเมือง ที่แบ่งออกเป็นสองขั้วความคิดระหว่างแนวคิดที่ยึดติดกับกรอบประเพณีดั้งเดิม และแนวคิดที่ต้องการปฏิรูป
โดยความหลากหลายดังกล่าว (ในทัศนะของผู้เขียน) สามารถกล่าวอย่างคร่าวๆ ได้ดังนี้ :
- ความสัมพันธ์ระหว่างคำสอน (Doctrine) หรือ ชีวิตความเป็นอยู่ของคริสตชน / งานอภิบาล (Pastoral) : ในขณะที่คำสอนคือรากฐานการดำเนินชีวิตของคริสตชนคาทอลิก และวางกรอบการปฏิบัติศาสนกิจ การปฏิบัติตามคำสอนจนมองข้ามผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ ‘พิเศษ’ (เช่น คริสตชนที่หย่าร้าง ซึ่งไม่สามารถรับศีลในพิธีมิสซาได้ เป็นต้น) ทำให้คริสตชนที่อยู่ในสภาวะดังกล่าวรู้สึกถูกกีดกันจากพระศาสนจักร ทว่าในมุมมองงานอภิบาลนั้น “จำเป็นต้องช่วยแต่ละคนให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพระศาสนจักร เพื่อให้บุคคลนั้นรับรู้ถึงความรักความเมตตาที่ยิ่งใหญ่ แบบไม่มีเงื่อนไข หรือสิ่งตอบแทนใดๆ” (Amoris Laetitia 297)
- มุมมองต่อพระศาสนจักร : การสังคายนาวาติกันที่ 2 (1962-1965) ได้เน้นย้ำว่าคริสตชนทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด ต่างมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน (เทียบ Lumen Gentium 32) ทว่ามุมมองดังกล่าวไม่ได้เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ส่วนหนึ่งยังคงเห็นด้วยกับมุมมองที่ว่าพระศาสนจักรแบ่งออกเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน ระหว่าง (1) “ศาสนจักรที่สอน” (Ecclesia docens) อันหมายถึงผู้ที่ได้รับ “ศักดิ์สงฆ์” ซึ่งมีหน้าที่เทศน์สอน และ (2) “ศาสนจักรที่ถูกสอน” (Ecclesia discens) อันหมายถึงฆราวาส ซึ่งรับบทเป็นนักเรียน(ที่ซ้ำชั้น)ตลอดชีวิต และมีสถานะต่ำกว่ากลุ่มแรก
- วัฒนธรรมท้องถิ่น : ในขณะที่พระศาสนจักรคาทอลิกพยายามปรับสิ่งต่างๆ ให้เข้ากับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ (inculturation) แต่ทว่าข้อกำหนดบางอย่างก็ยังคงไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยหนึ่งในประเด็นร้อนที่ยังเป็นข้อถกเถียงนั้น ได้แก่ การถือโสดของเหล่าบาทหลวงและนักบวชในวัฒนธรรมแอฟริกัน ทั้งนี้ พระคาร์ดินัล โพลีคาร์ป เพนโก (Polycarp Pengo) อดีตประธานสภาบิชอปแห่งแอฟริกาและมาดากัสการ์ (SECAM) ได้อธิบายว่า “การไม่มีบุตรถือเป็นความโชคร้ายอย่างยิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับชายหรือหญิงชาวแอฟริกัน […] บุคคลที่ไม่มีลูกต้องรับภาระมากขึ้นในการดูแลลูกของญาติหรือเพื่อน […] เมื่อเห็นว่าการครองโสดขัดต่อวัฒนธรรมแอฟริกัน ผู้ที่สนับสนุนการปรับเข้าหาวัฒนธรรมจึงได้เสนอแนวทางแก้ไขต่างๆ”
อย่างไรก็ตาม ความเห็นและมุมมองที่หลากหลายในพระศาสนจักรคาทอลิกได้นำไปสู่ความตึงเครียดภายใน การอนุญาตให้บาทหลวงสามารถอวยพรคู่รักเพศเดียวกันของโป๊ปฟรานซิส สร้างความไม่พอใจให้กับคริสตชนและบาทหลวงชั้นสูงบางส่วน ยิ่งไปกว่านั้น การที่โป๊ปฟรานซิสได้ดำริให้เริ่มกระบวนการพิจารณาเรื่องการแต่งตั้งพระเจ้าโบดวงแห่งเบลเยียม (Baudouin of Belgium) เป็นบุญราศี ได้ก่อให้เกิดปัญหาแก่พระศาสนจักรท้องถิ่น การแต่งตั้งเป็นบุญราศีอาจนำไปสู่ความแตกแยกระหว่างคริสตชนเบลเยียมที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เนื่องจากอดีตกษัตริย์แห่งเบลเยียมองค์นี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารผู้นำในคองโก
ปัจจัยที่มีส่วนในการเลือกพระสันตะปาปา
ณ เวลานี้ บุคคลที่จะขึ้นมาเป็นพระสันตะปาปาไม่เพียงแต่จะเข้าใจโลกตามความเป็นจริง แต่ยังเป็นบุคคลที่ส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักรท่ามกลางความหลากหลาย พร้อมทั้งสามารถแสดงให้เห็นถึงการใช้ชีวิตในความเชื่อคาทอลิกที่สอดคล้องกับยุคสมัย
หากพิจารณาภาพรวม หลักเกณฑ์การเลือกบุคคลเป็นพระสันตะปาปานั้นประกอบไปด้วย:
- อายุและสุขภาพ: ภาระหน้าที่ของพระสันตะปาปาทำให้ปัจจัยทางสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 อายุเฉลี่ยของผู้ที่ได้รับเลือกเป็นโป๊ปนั้นอยู่ที่ 70 ปี
- พื้นฐานด้านจิตวิญญาณ: หน้าที่แรกของพระสันตะปาปาคือการเป็นผู้นำของบรรดาคริสตชนทั่วโลก ทั้งนี้บุคคลที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งนักบุญเปโตรนั้นเผยให้เห็นถึงแบบอย่างการใช้ชีวิตตามหลักความเชื่อ
- มุมมองที่ครอบคลุมทั่วโลก: พระศาสนจักรคาทอลิกตั้งอยู่บนพื้นฐานของความหลากหลาย ด้วยเหตุนี้พระสันตะปาปาจึงจำเป็นต้องเข้าใจสภาพและบริบทที่แตกต่างกันภายในพระศาสนจักรคาทอลิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชีย และแอฟริกาที่มีจำนวนผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกมากขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับประเทศตะวันตก อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้นำรัฐ ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นความท้าทายบนเวทีโลกก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญสำหรับผู้ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาองค์ต่อไป
- เป็นที่ยอมรับของทุกคนและไม่มีประวัติ: จากสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปามีแนวโน้มที่จะมาจากบุคคลที่ไม่ได้ก่อให้เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และไม่เกี่ยวข้องกับกรณีการปกปิดเรื่องการละเมิดทางเพศโดยบาทหลวงและนักบวช
- ภาวะผู้นำ: พระสันตะปาปาในยุคปัจจุบันกลายเป็นบุคคลที่ต้องทำงานกับผู้คนจากหลากหลายชาติและวัฒนธรรม ประสบการณ์การทำงานในสภาพแวดล้อมนานาชาติ และประสบการณ์การบริหารที่เกี่ยวข้องกับผู้คนจากหลายเชื้อชาติ เช่น การทำงานในโรมัน คูเรีย หรือในสภาบิชอประดับภูมิภาค ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญ
ถึงกระนั้น หลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ไม่เพียงพอที่จะกำหนดว่าใครจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา เนื่องจากกระบวนการเลือกพระสันตะปาปานั้นประกอบด้วยมิติทางจิตวิญญาณ ที่ไม่มีมนุษย์คนใดสามารถคาดเดาได้
ภาพ: REUTERS / Stoyan Nenov
อ้างอิง:
- จากการเสด็จเยือนไทยของโป๊ปฟรานซิส ย้อนรอยการทูตวาติกัน : ‘พระ’ ในคราบ ‘นักการทูต’
https://themomentum.co/foreign-relation-of-vatican/ - Décès du pape François. Église catholique de Québec. https://www.ecdq.org/deces-du-pape-francois/
- Gaudium et spes: Pastoral constitution on the Church in the modern world. https://www.vatican.va/archive/hist_councils/ii_vatican_council/documents/vat-ii_const_19651207_gaudium-et-spes_en.html
- Guerre en Ukraine : Les silences du pape François sur la Russie. Le Monde. https://www.lemonde.fr/international/article/2022/03/10/guerre-en-ukraine-les-silences-du-pape-francois-sur-la-russie_6116976_3210.html
- Amoris Laetitia: Post-synodal apostolic exhortation on love in the family. https://www.vatican.va/content/francesco/fr/apost_exhortations/documents/papa-francesco_esortazione-ap_20160319_amoris-laetitia.html
- Lumen Gentium: Dogmatic constitution on the Church. https://www.vatican.va/archive/hist_councils/ii_vatican_council/documents/vat-ii_const_19641121_lumen-gentium_fr.html
- Priestly celibacy and problems of inculturation. https://www.vatican.va/roman_curia/congregations/cclergy/documents/rc_con_cclergy_doc_01011993_prob_en.html
- Le cardinal Sarah mène la charge contre la bénédiction des couples homosexuels. https://www.lefigaro.fr/actualite-france/le-cardinal-sarah-mene-la-charge-contre-la-benediction-des-couples-homosexuels-20240109
- Béatification du roi Baudouin : un “énorme problème” pour l’Église catholique belge, à cause de sa “tache noire”. https://www.rtl.be/actu/belgique/societe/beatification-du-roi-baudouin-un-enorme-probleme-pour-leglise-catholique-belge/2024-12-24/article/733154
- Conclave : 5 critères non officiels pour être élu pape
https://www.la-croix.com/religion/conclave-5-criteres-non-officiels-pour-etre-elu-pape-20250426#:~:text=Pour%20%C3%AAtre%20pape%2C%20il%20faut%E2%80%A6&text=Avoir%20bonne%20r%C3%A9putation%20%3B,4.