เคธี วูด ราชินีนักลงทุนและผู้ก่อตั้ง ARK Investment Management ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านการตัดสินใจถอดชื่อบริษัท Tesla ออกจากดัชนี S&P 500 ESG Index ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสำนึกเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ของบริษัทต่างๆ
ในฐานะนักลงทุนที่สนับสนุน Tesla มาโดยตลอด วูดกล่าวว่า การถอด Tesla ออกจากดัชนีดังกล่าวเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่ควรค่าที่จะพูดถึงแม้แต่น้อย เพราะไม่ว่าใครต่างก็รู้ดีว่าโมเดลธุรกิจของ Tesla ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เป็นการพัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ Tesla ถือเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดที่ถูกถอดออกจากดัชนี S&P 500 ESG โดยพิจารณาจากน้ำหนักของหุ้นที่สัมพันธ์กับมูลค่าโดยรวมของดัชนี ซึ่งทีมงานผู้บริหาร S&P 500 ให้เหตุผลของการถอด Tesla จากดัชนี เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับองค์ประกอบของธุรกิจ รวมถึงการขาดกลยุทธ์คาร์บอนต่ำและความกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อพนักงานภายในองค์กร
มาร์กาเร็ต ดอร์น ผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้าดัชนี ESG ในอเมริกาเหนือของ S&P Dow Jones Indices ได้ยกตัวอย่างกรณีอื้อฉาวเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติที่โรงงานของ Tesla ในแคลิฟอร์เนีย และการสอบสวนของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เกี่ยวกับการขัดข้องที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยี Autopilot ของบริษัท
ดอร์นกล่าวว่า เหตุการณ์ทั้งสองนี้มีผลกระทบในทางลบต่อคะแนน DJI ESG ของบริษัท แม้ว่า Tesla อาจมีส่วนสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการช่วยลดจำนวนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงออกไปจากท้องถนนทั่วโลก แต่ Tesla ก็ยังล้าหลังในหลายปัจจัยเมื่อตรวจสอบผ่านเลนส์ ESG ที่กว้างขึ้น
ก่อนหน้านี้หลังมีรายงานถอดชื่อ Tesla อีลอน มัสก์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัท ได้ทวีตข้อความแสดงการตัดพ้อทันทีว่า ในขณะที่ Exxon บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของโลก ติด 1 ใน 10 บริษัทด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล (ESG) ของดัชนี S&P 500 แต่ Tesla กลับไม่ได้ติดโผในบัญชีรายชื่อดังกล่าวเลย ก่อนปิดท้ายความเห็นของตนด้วยการระบุว่า ESG ช่างเป็นเรื่องที่แหกตา (ESG is a scam)
วันเดียวกัน Tencent หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สัญชาติจีน ได้ออกมาเปิดเผยผลประกอบการในไตรมาสแรกของปีนี้ ที่มีการขยายตัวต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยบริษัทมีรายได้อยู่ที่ 1.355 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 1.353 แสนล้านหยวน และยังต่ำกว่าประมาณการของตลาด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว เพราะการใช้มาตการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ รวมถึงการที่รัฐบาลระงับการออกใบอนุญาตเกมใหม่ๆ และการเดินหน้าจัดระเบียบของทางการจีน
ทั้งนี้ ในฐานะบริษัทจีนที่ใหญ่ที่สุดที่จดทะเบียนในตลาด Hang Seng ของฮ่องกง หุ้นของ Tencent วานนี้ (19 พฤษภาคม) ปรับตัวร่วงลงถึง 7% ในขณะที่กำไรสำหรับผู้ถือหุ้นลดลงถึง 23% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
รายงานระบุว่า รายรับของบริษัทจากฟินเทค ซึ่งเป็นตัวทำรายได้อันดับที่ 2 ของบริษัท ลดลง 10.8% มาอยู่ที่ 42,770 ล้านหยวน ขณะที่บริการธุรกิจอื่นๆ ซึ่งรวมถึง WeChat Mobile Pay ก็ลดลงเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาสเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการระบาดครั้งใหญ่ครั้งแรกของโควิดเช่นกัน
ด้าน Grab Holdings บริษัทผู้บริการเรียกรถและบริการส่งอาหารอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยผลประกอบการประจำไตรมาสแรกของปีนี้ที่พบว่า มีรายรับเพิ่มขึ้น 6% เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมานิยมสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้น
นอกจากนี้ Grab ยังได้รับประโยชน์จากความต้องการแชร์รถที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้คนกลับมาดำเนินกิจวัตรเหมือนก่อนเกิดโรคระบาดอีกครั้ง
Grab กล่าวว่า ปริมาณสินค้ารวม หรือ Gross Merchandise volume (GMV) ซึ่งเป็นหน่วยวัดปริมาณธุรกรรม เพิ่มขึ้น 32% ในไตรมาสแรก คิดเป็นมูลค่า 4,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ รายรับของ Grab ในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 228 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 216 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนตัวเลขขาดทุนในช่วงเดียวกันลดลงเหลือ 435 ล้านดอลลาร์ จาก 666 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับไตรมาสที่ 2 Grab คาดการณ์ GMV สำหรับบริการเดลิเวอรีจะอยู่ระหว่าง 2,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ – 2,650 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสำหรับเซ็กเมนต์การขนส่งจะอยู่ระหว่าง 950 ล้านดอลลาร์ – 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่า ผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิดได้จบลงแล้ว
อ้างอิง: