นักเศรษฐศาสตร์ประเมินท่าที กนง. อาจปิดประตูสำหรับการปรับดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วในปีนี้ ขณะที่ ธปท. ยืนยันยึดหลัก Data Dependent และไม่ได้ยึดติดว่าอัตราดอกเบี้ยจะต้องอยู่ในระดับปัจจุบันไปตลอด
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า จากการแถลงในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 1/2024 ว่า ท่าทีแบงก์ชาติแทบจะปิดประตูสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว เนื่องจากมองเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้น และการเบิกจ่ายจากภาครัฐกำลังจะกลับมา ดังนั้นความจำเป็นในการใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแทบไม่มีแล้ว
นอกจากนี้ ดร.พิพัฒน์ยังมองว่า สิ่งที่แบงก์ชาติกังวลมากที่สุดคือ ‘หนี้ครัวเรือน’ ดังนั้นถ้าปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อกับการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้มีปัญหา ก็ไม่ควรทำให้เสถียรภาพระบบการเงินมีปัญหาในระยะยาว
“ผมมองว่า ธปท. ส่งสัญญาณชัดมากว่า ถ้าเศรษฐกิจไม่ได้แย่กว่าที่ประเมินไว้อย่างมีนัยสำคัญ ก็ไม่มีเหตุผลที่ต้องลดอัตราดอกเบี้ย” ดร.พิพัฒน์กล่าว นอกจากนี้ ธปท. ยังกล่าว (Defend) อีกว่า Potential GDP Growth และ Neutral Rate อาจไม่ได้เปลี่ยนไปเยอะ และความไม่แน่นอนมีสูง เท่ากับเป็นการปิดประตูแล้ว
ดร.พิพัฒน์ยังมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ไว้ถึงไตรมาสแรกของปี 2568 เนื่องจากหากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตดำเนินไปได้ น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และไตรมาสแรกของปีหน้า ดังนั้นหากเศรษฐกิจชะลอก็อาจเกิดขึ้นหลังจากนั้น ถ้าจะมี Room ให้ลดดอกเบี้ยก็น่าจะเกิดในไตรมาส 2 ปีหน้า
ส่วนความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในมุมมองของ ดร.พิพัฒน์เป็น 0% เนื่องจากตอนนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ได้ดีมาก เงินเฟ้อไม่ได้สูง ต่างจากสถานการณ์ในสหรัฐฯ ที่มีแรงกดดันจากอุปสงค์ (Demand Pull) เยอะ ต่างจากประเทศไทยที่ผู้คนยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีอยู่
อย่างไรก็ดี ดร.พิพัฒน์ยังแนะให้จับตาสัญญาณจากการประชุม กนง. นัดต่อไป โดยระบุว่า หากการประชุมในวันที่ 12 มิถุนายนไม่มีการลดดอกเบี้ย ในปีนี้ก็ไม่น่าจะมีแล้ว
ด้าน ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ก็มองว่า กนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับปัจจุบันไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นปีนี้ เนื่องจากแบงก์ชาติมองว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัว การเบิกจ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยวที่น่าจะมาต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังจากนั้น (สิ้นปี) อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า มีโอกาสทั้ง 2 ทางคือ ขึ้นและลดอัตราดอกเบี้ย “หากเศรษฐกิจดีขึ้น และเงินเฟ้อมีแนวโน้มร้อนแรงมาก ก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย” ดร.ปิยศักดิ์กล่าว
“มุมมองของแบงก์ชาติ ต้องการให้ดูแลหนี้ครัวเรือนเป็นหลัก ทางหนึ่งยังมองว่า เศรษฐกิจไม่ได้มีความเสี่ยง เงินเฟ้อไม่ได้สูงหรือต่ำเกินไป ดังนั้นจึงใช้นโยบายการเงินช่วยดูแลหนี้ครัวเรือน”
ขณะที่ ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและตลาดเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า โอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ย ‘มีน้อยลง’ จากเดิมที่ EIC คาดว่าจะเห็นการลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ดร.ฐิติมายังขอรอดูผลประชุม กนง. ในรอบเดือนมิถุนายนก่อน ว่าเสียงโหวตและการสื่อสารจะมีการปรับโทนอย่างไร ก่อน EIC จะมีการปรับ Outlook ในรอบเดือนมิถุนายน
ธปท. ยืนยัน Data Dependent มองเศรษฐกิจไทยกำลังกลับสู่ระดับศักยภาพ
ขณะที่ ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 1/2024 ว่า กนง. พร้อมที่จะทบทวนนโยบายอัตราดอกเบี้ย หากมีข้อมูลใหม่เข้ามาเพิ่มเติม และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อมุมมองเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมทั้งยืนยันว่า กนง. ไม่ได้ยึดติดว่าอัตราดอกเบี้ยจะต้องอยู่ในระดับนี้ไปตลอด
“หนึ่งในสิ่งที่ กนง. มุ่งเน้นในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายคือ อัตราดอกเบี้ยจะต้องไม่อยู่ในจุดที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไปสู่จุดศักยภาพ” ปิติกล่าว
โดย ธปท. ยังมองว่าในปี 2567 และ 2568 เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวกลับไปสู่ระดับศักยภาพ ดังนั้นภาวะการเงินและอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันก็น่าจะสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยแล้ว
นอกจากนี้ ในการแถลงข่าว ธปท. ยังยืนว่า อัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินระยะยาว อีกทั้งเป็น Robust Policy (สามารถรองรับความเสี่ยงต่างๆ ในระยะข้างหน้า)