×

อนาคตของกาตาลุญญา ในวันที่ความฝันสูงสุดหยุดชะงัก

11.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • นายการ์เลส ปิกเดมองต์ ผู้นำแคว้นกาตาลุญญา แถลงต่อรัฐสภาแคว้น เสนอให้มีการระงับการประกาศเอกราชแต่เพียงฝ่ายเดียวออกไปก่อน พร้อมเดินหน้าเจรจากับรัฐบาลกลางที่กรุงมาดริด เพื่อหาทางออกที่สันติสำหรับทุกฝ่าย
  • ในขณะที่นายมาริอาโน ราฆอย ปฏิเสธการเจรจากับผู้นำแคว้นกาตาลุญญา แม้จะมีการระงับการประกาศเอกราชแล้วก็ตาม
  • นักวิชาการไทยชี้ ผู้นำและรัฐบาลท้องถิ่นของกาตาลุญญาตกที่นั่งลำบากเหมือนหาทางลงไม่เจอ อาจจะเกิดการเสียงแตกในรัฐบาลท้องถิ่นและนำไปสู่การยุบสภาในที่สุด

 

Photo: LLUIS GENE/AFP

 

     เมื่อคืนนี้เวลาประมาณ 23.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ทั่วทั้งโลกต่างจับตามองท่าทีของนายการ์เลส ปิกเดมองต์ (Carles Puigdamont) ผู้นำแคว้นกาตาลุญญา ที่มีกำหนดการจะขึ้นแถลงขอประกาศเอกราชแต่เพียงฝ่ายเดียวต่อรัฐสภาของแคว้นและจะเดินหน้าสร้างความชอบธรรมและสร้างการยอมรับให้แก่กาตาลุญญาในฐานะประเทศเกิดใหม่ในประชาคมโลก

 

Photo: JAVIER SORIANO/AFP

Photo: LLUIS GENE/AFP

 

     ซึ่งหากสิ่งนี้เกิดขึ้นจริง อาจบีบบังคับให้รัฐบาลกลางที่กรุงมาดริดภายใต้การนำของนายมาริอาโน ราฆอย (Mariano Rajoy) จำเป็นต้องใช้อำนาจตามมาตรา 155 ในรัฐธรรมนูญปี 1978 สั่งปลดรัฐบาลท้องถิ่นของแคว้นกาตาลุญญายกชุด พร้อมทั้งรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางอีกครั้ง ซึ่งจะก่อให้เกิดความโกลาหลขึ้นอย่างแน่นอนและนำพาสเปนไปสู่จุดแตกหักที่ยากจะประสานรอยร้าวได้

 

Photo: Josep LAGO/AFP

 

     แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น นายการ์เลสปรับเปลี่ยนท่าที (แทบจะในนาทีสุดท้าย) ภายหลังจากที่ได้พูดคุยกับนายฌอง-โคลด ยุงเคอร์ (Jean Claude Juncker) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ จนในที่สุดผู้นำแคว้นกาตาลุญญาจึงตัดสินใจ ‘เลื่อน’ การประกาศเอกราชแต่เพียงฝ่ายเดียว (Unilateral Declaration of Independence) ออกไปก่อน พร้อมทั้งยินดีที่จะนั่งโต๊ะเจรจากับรัฐบาลกลางสเปน เพื่อหาทางออกที่สันติสำหรับคนสเปนและชาวคาตาลันทุกคน โดยเขายังเสนออีกว่า การใช้ตัวกลางในการเจรจาอาจจะช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ภายในสังคมสเปนได้

     แต่อย่างไรก็ตามนายการ์เลสยืนยันว่า ชาวคาตาลันหลายล้านคนมีสิทธิ์ที่จะมีประเทศเป็นของตนเอง การระงับการแยกตัวเป็นเอกราชดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวและจะยังคงเดินหน้าทำตามเสียงของประชาชนตามผลลงประชามติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

 

https://www.youtube.com/watch?v=a39bWm8LFPw

 

ทางเลือกของกาตาลุญญา : ข้อเสนอที่ถูกปฏิเสธ

 

     รศ.ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านสหภาพยุโรปและการเมืองสเปน ได้วิเคราะห์ทางเลือกที่น่าจะเป็นไปได้ของแคว้นกาตาลุญญาไว้ในงานเสวนาในหัวข้อ ‘มากกว่าเรื่องการเมืองสมัยใหม่?: ร่วมกันเข้าใจสถานการณ์และความขัดแย้งสเปน-กาตาลุญญา’ ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์ยุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการแถลงต่อรัฐสภาของแคว้นกาตาลุญญาขึ้น

     โดย รศ.ดร. สมชาย มองว่า ทางเลือกที่ 1 ถ้าหากแคว้นกาตาลุญญายังคงเดินหน้าขอประกาศเอกราชแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่มีความชอบธรรม (เนื่องจากขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญและหลักประชาธิปไตยของประเทศ) และไม่ได้รับการยินยอมจากรัฐบาลกลางที่กรุงมาดริด อาจจะทำให้สถานการณ์บานปลาย แตกร้าวมากยิ่งขึ้นจนอาจนำไปสู่การใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 155 ด้านกาตาลุญญาเองก็จะต้องเผชิญความท้าทายอีกมากมายหากเลือกทางเลือกนี้

     ทางเลือกที่ 2 เปิดพื้นที่ให้การเจรจาระหว่างกัน โดยผู้นำแคว้นกาตาลุญญาหวังให้สหภาพยุโรปเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจา ซึ่งทั้งรัฐบาลสเปนและสหภาพยุโรปเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องภายในของสเปน ที่สเปนจะต้องจัดการด้วยตนเอง ซึ่งหากมีการเจรจาเกิดขึ้น อาจจะนำไปสู่การเจรจาเพื่อขอให้มีการจัดลงประชามติทั่วประเทศอย่างเป็นทางการขึ้นในอนาคต ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายนัก

     ทางเลือกที่ 3 จัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 1978 พร้อมพูดคุยในเรื่องขอบเขตของอำนาจในการปกครองตนเองที่เพิ่มขึ้นของแต่ละแคว้น โดยเฉพาะเรื่องนโยบายด้านการคลังที่กาตาลุญญาต้องการ การปรับเปลี่ยนสมดุลแห่งอำนาจนี้จะกระทบต่อแคว้นอื่นๆ ที่ต้องการแยกตัวเป็นเอกราชอย่าง แคว้นบาสก์ ทางตอนเหนือของสเปนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน (แต่ทั้งหมดอาจจะยังต้องอยู่ในกรอบของการเป็นรัฐเดี่ยวและไม่สามารถแบ่งแยกได้)

     ทางเลือกที่ 4 เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จัดตั้งสหพันธรัฐสเปนขึ้น (ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก)

     จากสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคืนนี้จะเห็นได้ว่า นายการ์เลส ผู้นำแคว้นกาตาลุญญาเปลี่ยนท่าทีตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ 2 แทนที่จะเดินหน้าประกาศเอกราชแต่เพียงฝ่ายเดียว ตามทางเลือกที่ 1 ที่ตนตั้งใจไว้ เพื่อหาบทสรุปหรือจุดลงตัวที่เป็นผลลัพธ์ที่ดีที่สุด (เท่าที่จะเป็นไป) สำหรับทั้ง 2 ฝ่าย

     ล่าสุดนายมาริอาโน ราฆอย นายกรัฐมนตรีของสเปนประกาศกร้าวจะไม่ขอเจรจากับรัฐบาลกาตาลุญญา แม้จะมีการระงับการประกาศเอกราชแต่เพียงฝ่ายเดียวแล้วก็ตาม

     ผศ. นุชธิดา ราศีวิสุทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโทสเปนและลาตินอเมริกันศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นต่อสถานการณ์การเมืองสเปนขณะนี้ว่า ผู้นำและรัฐบาลท้องถิ่นของแคว้นกาตาลุญญากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก ที่เหมือนกับหาทางลงไม่เจอ การที่นายราฆอยจะออกมาปฏิเสธไม่เดินหน้าเจรจากับผู้นำแคว้นกาตาลุญญาไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมาย เนื่องจากรัฐบาลกลางถือไพ่เหนือกว่ารัฐบาลกาตาลุญญาเป็นอย่างมาก

     “รัฐบาลกลางไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะต้องยอมเจรจาต่อรองกับผู้นำแคว้นกาตาลุญญา สิ่งที่รัฐบาลกลางสเปนจะทำคือ พยายามไม่ให้เกิดการปะทะกันด้วยความรุนแรงและคงรักษาความชอบธรรมของตนเองไว้ ทั้งหมดนี้กลับมาอยู่ที่ว่า รัฐบาลกาตาลุญญาจะทำอย่างไรต่อจากนี้ เพราะหนทางข้างหน้ามีความเป็นไปได้ที่จะมีแต่แพ้กับแพ้”

     สิ่งที่รัฐบาลกาตาลุญญาทำได้มากที่สุดตอนนี้คงเป็นการหาตัวกลางไกล่เกลี่ย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือโน้มน้าวให้รัฐบาลกลางยินยอมเจรจาด้วยและร่วมกันหาทางออกอย่างสันติ ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นไปได้น้อยมากหากมองตามหลักความเป็นจริง ไม่แน่ว่ารัฐบาลท้องถิ่นของแคว้นกาตาลุญญาอาจจะเสียงแตก เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลท้องถิ่นที่สนับสนุนการแยกตัวนั้นกดดันในรัฐบาลเดินหน้าประกาศเอกราชให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน แรงกดดันและจุดยืนที่เริ่มเคลื่อนนี้อาจส่งผลให้มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในที่สุด กลับสู่วังวนของปัญหาอีกครั้ง

 

Photo: JORGE GUERRERO/AFP

Photo: JORGE GUERRERO/AFP

 

ความเป็นรัฐของกาตาลุญญา หากการประกาศเอกราชแต่เพียงฝ่ายเดียวเกิดขึ้นจริง

     THE STANDARD ยังมีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร. วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ถึงความเป็นรัฐของกาตาลุญญา หากผู้นำของแคว้นเดินหน้าประกาศเอกราชแต่เพียงฝ่ายเดียวจากสเปนจริง

     ผศ.ดร. วิบูลพงศ์ ให้ความเห็นว่า โดยทั่วไปแล้วหากมีการก่อกำเนิดรัฐใหม่จากการแยกตัวออกจากรัฐเดิม (Separating from existing states) กฎหมายระหว่างประเทศจะมีช่วงเวลาที่ประเทศหรือองค์กรอื่นๆ ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง ปล่อยให้เป็นเรื่องภายในของรัฐที่แยกตัวและรัฐที่ถูกแยกตัว ซึ่งโดยปกติแล้วรัฐเกิดใหม่เหล่านี้มักจะผ่านการทำสงครามกับประเทศเดิมของตน เพื่อประกาศเอกราช แต่ในกรณีของกาตาลุญญาที่ต่อสู้ด้วยกระบวนการและกรอบของความเป็นประชาธิปไตยและสันติวิธี กระบวนการให้ได้มาซึ่งความชอบธรรมจึงอาจยุ่งยากและซับซ้อนมากกว่า

     ถ้าหากมีรัฐหนึ่งรัฐใดให้การรับรองสถานะความเป็นรัฐของกาตาลุญญา ภายหลังการประกาศเอกราชแยกตัวออกจากสเปน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปเพราะเหตุผลทางการเมือง กาตาลุญญาก็จะถือว่าเป็นรัฐเกิดใหม่ในสายตาของรัฐที่ให้การรับรอง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่รัฐนั้นมีต่อสเปนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีรัฐไหนแสดงตนที่จะให้การรับรองกาตาลุญญาแต่อย่างใดหากการประกาศเอกราชเกิดขึ้นจริง

 

Photo: PAU BARRENA/AFP

 

     แต่ก่อนที่จะไปพูดถึงเรื่องการสร้างความชอบธรรมและได้รับการรับรองในฐานะหนึ่งในรัฐในประชาคมโลกของกาตาลุญญา ผศ.ดร. วิบูลพงศ์ มองว่า “รัฐเกิดใหม่นั้นจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติบางประการ คือ จะต้องแยกตัวเป็นอิสระจากรัฐเดิม พร้อมทั้งได้รับการยินยอมจากรัฐที่ถูกแยกตัว และมีรัฐบางรัฐให้การรับรองสถานะความเป็นรัฐเกิดใหม่ของรัฐนั้น

     “ในกรณีของกาตาลุญญาจะยังไม่ถือว่าเป็นรัฐ เนื่องจากดินแดนของกาตาลุญญายังคงเป็นส่วนหนึ่งของสเปน และสเปนเองก็ยังไม่ได้ให้ความยินยอม องค์ประกอบของรัฐสำหรับกาตาลุญญาจึงยังไม่สมบูรณ์ กาตาลุญญาจึงยังไม่มีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ”

     นอกจากนี้ผลการลงประชามติที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐบาลกลางและขัดต่อหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศจึงยังไม่เข้าไปทำหน้าที่ในส่วนตรงนี้ โดย ผศ.ดร. วิบูลพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายกับ THE STANDARD ว่า “ตัวบ่งชี้ที่สำคัญที่จะชี้ให้เห็นว่า กาตาลุญญาจะเป็นรัฐที่เกิดใหม่อย่างสมบูรณ์ได้คือ การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติและได้รับการรับรองจากรัฐอื่นๆ ในประชาคมโลก หากแคว้นกาตาลุญญาเดินทางไปถึงจุดนั้นได้จริงๆ”

 

Photo: PAU BARRENA/AFP

 

     กาตาลุญญาอาจจะต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นสภาวะเศรษฐกิจที่อาจจะหดตัวภายหลังจากที่ต้องออกจากสหภาพยุโรป ภาระหนี้ที่มีต่อรัฐบาลกลางของสเปนมูลค่าหลายหมื่นล้านยูโร ยังไม่รวมถึงความยากลำบากที่จะต้องพยายามจากการยอมรับจากรัฐต่างๆ ในประชาคมโลก จนเกิดเป็นคำถามที่ว่า แท้จริงแล้วการแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปนคือทางออกที่ดีที่สุดสำหรับกาตาลุญญาแล้วจริงๆ หรือไม่

     แต่ก่อนที่จะเดินทางไปถึงจุดนั้น เราอาจจะต้องจับตามองว่า ผู้นำแคว้นกาตาลุญญาอย่างนายการ์เลสจะเดินหมากเกมนี้ต่อไปอย่างไร ในสภาวะที่รัฐบาลกลางถือไพ่เหนือกว่ามาโดยตลอด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X