ถ้าคุณเป็นหนึ่งในแฟนซีรีส์เกาหลี เราเชื่อว่าคุณน่าจะรู้จัก ‘tvN’ ช่องเคเบิลโทรทัศน์ในประเทศของพวกเขาแน่ๆ
ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ Total Variety Network (tvN) สามารถผลิตคอนเทนต์จำพวกละครเข้าไปครองใจคนดูมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ชื่อของซีรีส์ดังๆ ตระกูล Reply (1988, 1994, 1997), Goblin (Guardian: The Lonely and Great God), Oh My Ghost หรือที่ซีรีส์แนวสืบสวนสอบสวนที่เพิ่งจะลาจอไปอย่าง Stranger (Secret Forest) ผุดขึ้นมาทันทีที่เอ่ยถึง tvN
ความนิยมของซีรีส์เรื่อง Stranger จากช่อง tvN ยังดังไกลไปเตะตา Netflix ผู้ให้บริการสตรีมมิงออนดีมานด์ จนพวกเขาตัดสินใจปิดดีลซื้อไปฉายต่อทั่วโลกทันทีในราคาตอนละ 2 แสนเหรียญสหรัฐ รวมทั้งหมด 16 ตอน เบ็ดเสร็จเป็นเงินกว่า 32 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 106 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ซีรีส์ยังไม่ลาจอไปเลยด้วยซ้ำ!
แม้ปัญหาของการเป็นช่องเคเบิลโทรทัศน์จะทำให้การวัดผลเรตติ้งความนิยมเปรียบเทียบกับช่องโทรทัศน์หลักช่องอื่นๆ ในประเทศอย่าง KBS, MBC หรือ SBS จะทำได้ยาก แต่ในเชิงการยอมรับจากผู้บริโภค นาทีนี้คงไม่มีใครปฏิเสธแล้วว่าพวกเขาเป็นหนึ่งในช่องโทรทัศน์ที่มีศักยภาพเทียบเท่าช่องโทรทัศน์เจ้าหลักจริงๆ
THE STANDARD พาคุณมาดูวิธีการปั้นช่องเคเบิลโทรทัศน์ในแบบ tvN ว่าพวกเขาทำอย่างไรให้ตัวเองติดตลาดจนได้รับความนิยมและกลายเป็นที่ยอมรับในวงกว้างเช่นนี้
‘คนรุ่นใหม่และเกมโชว์?’ กว่าจะมีวันนี้ กับ 11 ปีแห่งการล้มลุกคลุกคลานของ tvN
ความจริงแล้ว tvN ไม่ใช่ช่องโทรทัศน์น้องใหม่อย่างที่เราหรือหลายๆ คนอาจจะเคยเข้าใจ พวกเขาก่อตั้งมานานกว่า 11 ปีแล้ว โดยออนแอร์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2006 เพียงแต่ในช่วงระยะหลังๆ ผลงานของ tvN โดดเด่นจนจับต้องได้ชัดขึ้นกว่าเดิม
tvN เปิดตัวเป็นครั้งแรกพร้อมสโลแกน ‘Content Trend Leader’ หรือผู้นำด้านเทรนด์คอนเทนต์ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ คือพวกเขาไม่ได้เอาจริงเอาจังกับการผลิตคอนเทนต์จำพวกซีรีส์ สุดท้ายแล้วจึงไม่มีผลงานละครเรื่องไหนของ tvN ที่น่าจดจำเลย สถานการณ์ในช่วงแรกจึงเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น
เชื่อกันว่าสาเหตุที่ทำให้พวกเขาผ่านพ้นช่วงเวลาตั้งตัวจนรุ่งเรืองเหมือนปัจจุบันมาจากการที่องค์กรเต็มไปด้วย ‘คนรุ่นใหม่’ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอายุประมาณ 31.3 ปี และมีชั่วโมงบินในวงการบันเทิงอยู่ที่ระหว่าง 1-3 ปีเท่านั้น ซึ่งถึงแม้ส่วนใหญ่จะอายุน้อยและด้อยประสบการณ์กว่าบุคลากรจากสถานีโทรทัศน์เจ้าอื่นๆ แต่คนทำงานกลุ่มนี้ก็กล้าทำอะไรที่แตกต่างแหวกขนบเดิมๆ
อีด็อกแจ (Lee Deok-jae) กรรมการบริหาร tvN ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Korea Times ในเกาหลีว่า “การเป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มีทั้งข้อดีและข้อเสียในเวลาเดียวกัน ผมคิดว่าข้อดีคือการที่พวกเราสามารถปล่อยไอเดียสร้างสรรค์ได้อิสระกว่าสถานีโทรทัศน์เจ้าใหญ่และหน้าเดิมๆ ซึ่งเป็นผลดีสำหรับเรา แต่ก็ทำให้พวกเราขาดเสถียรภาพด้วยเช่นกัน”
เมื่อรู้ว่าตัวเองมีอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานและไม่ใช่ผู้เล่นที่แข็งแกร่งมากนักในตลาดซีรีส์ tvN จึงหันไปให้ทุ่มเทกับการผลิตคอนเทนต์จำพวกรายการเกมโชว์วาไรตี้แทน และก็ทำได้ดีจนสามารถส่งออกเป็นสินค้าขายดีไปยังต่างแดน
เซอร์ไววัลเกมโชว์ The Genius ถูกซื้อลิขสิทธิ์รูปแบบรายการไปผลิตใหม่ที่เนเธอร์แลนด์ ส่วนรายการร้องเพลงที่เปิดรับผู้เข้าแข่งขันเฉพาะแม่บ้าน Super Diva ก็ถูกจัดจำหน่ายไปยังเม็กซิโก โคลอมเบีย และอาร์เจนตินา เช่นเดียวกับรายการ Grandpas Over Flowers ที่ถูกซื้อไปรีเมกใหม่โดยสหรัฐอเมริกา จีน และไต้หวัน
อีด็อกแจบอกว่า พวกเขาจะให้ความสำคัญกับการเฝ้าสังเกตรสนิยมในการผลิตคอนเทนต์เกมโชว์ของประเทศต่างๆ เรียนรู้จากรายการที่ประสบความสำเร็จ แล้วถอดสูตรการทำงานออกมาเป็นคัมภีร์ของตัวเอง
“ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทีมของพวกเราทำเป็นไปเพื่อสร้างรากฐานการผลิตคอนเทนต์ส่งออกต่างประเทศ ไบเบิลของพวกเราประกอบไปด้วยวัตถุประสงค์ของรายการ, กลุ่มเป้าหมาย, สไตล์การแต่งหน้าที่เหมาะสมกับนักแสดงแต่ละคน, แคสต์นักแสดงที่จะใช้และวิธีทำให้บรรลุผล, ทักษะการถ่ายทำนอกสถานที่ในสถานการณ์ที่ต่างกัน ตลอดจนปัญหาและวิธีแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับบุคลากรในกองถ่าย พวกเรามีไบเบิลแบบนี้ 7 เล่ม และไบเบิลจำนวน 6 เล่มถูกส่งออกไปยังต่างประเทศอย่างน้อยหนึ่งประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“ผมคิดว่ารายการ Grandpas Over Flowers ประสบความสำเร็จได้เพราะตัวรายการพูดถึงปัญหาระดับโลก และเสนอวิธีแก้ไขปัญหาของการสื่อสารระหว่างคนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นและผู้สูงอายุ ในท่าทีที่คนดูสามารถเพลิดเพลินไปกับตัวรายการได้ ส่วนตัวแล้วผมคิดว่ารายการบันเทิงเป็นสิ่งที่คนดูเพื่อฆ่าเวลาเท่านั้น และยังสูญเสียความนิยมได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งรายการที่จะได้รับการพูดถึงในวงกว้างและได้รับฟีดแบ็กดีจะต้องสอดแทรกบทเรียนและความอบอุ่น หรือนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการนำไปปรับใช้ในชีวิต”
และนอกจากจะผลิตเกมโชว์จนได้รับการยอมรับจากต่างแดน พวกเขาก็ใช้วิธีกว้านซื้อคอนเทนต์ต่างประเทศมาผลิตในรูปแบบของตัวเอง เกิดเป็นรายการทอลก์โชว์วาไรตี้ ‘Saturday Night Live Korea’ ขึ้นครั้งแรกในปี 2011 และยังคงออกอากาศอยู่เรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับซีรีส์ยอดฮิต ‘Criminal Minds’ ที่ถูกนำมารีเมกใหม่ในเวอร์ชันเกาหลีและเพิ่งออกอากาศในปีนี้
ด้วยเหตุนี้เอง tvN จึงค่อยๆ ลืมตาอ้าปากได้ด้วยพลังคนหนุ่มสาว รายการเกมโชว์ที่สร้างสรรค์และก้าวข้ามข้อจำกัดด้านวัฒนธรรมโดยไม่ลืมที่จะพูดถึงปัญหาใกล้ตัวที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ
ความสดใหม่หลากหลายของคอนเทนต์ซีรีส์ที่ตอบโจทย์คนทุกรุ่นทุกวัย
เสน่ห์ของซีรีส์จากช่อง tvN ที่คอซีรีส์ขาจรและขาประจำหลงใหลและเทใจให้คือมุมมองและการนำเสนอเนื้อหาที่สดใหม่ แตกต่างจากคอนเทนท์ที่มีอยู่ในท้องตลาด
ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าผลงานละครส่วนใหญ่ของพวกเขาไม่ได้เน้นขายแค่เนื้อเรื่องที่อบอวลไปด้วย ‘เลิฟไลน์กุ๊กกิ๊ก’ ตามประสาหนุ่มสาววัยรุ่นแบบล้วนๆ แต่จะให้ความสำคัญกับประเด็นความสมจริงควบคู่ไปกับเนื้อหาแนวดราม่าเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมทำคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์และเข้าถึงคนได้ทุกรุ่นทุกวัย
ตัวอย่างที่ชัดเจนและกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการกำหนดทิศทางการผลิตซีรีส์ของช่อง tvN ในช่วงเวลาต่อมาให้เข้ากับคอนเซปต์ดังกล่าวคือ ซีรีส์จากตระกูล Reply (1988, 1994, 1997) ผลงานระดับมาสเตอร์พีซของผู้กำกับชินวอนโฮ (Shin Won-Ho)
แก่นของ Reply ว่าด้วยการบอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อนและครอบครัว พร้อมสอดแทรกเหตุการณ์สำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนวัฒนธรรมป๊อปที่เกิดขึ้นในช่วงปีนั้นๆ เรียงจาก Reply 1997 ที่ออกฉายเมื่อปี 2012, Reply 1994 ในปี 2013 และ Reply 1988 ที่ฉายส่งท้ายเมื่อปี 2015 ซึ่งได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย ส่งผลให้ดาราหน้าใหม่ในเรื่องแจ้งเกิดในวงการได้อย่างเต็มตัวและเป็นที่รักของแฟนๆ กันทุกคน ไม่เว้นแม้แต่นักแสดงที่รับบทพ่อและแม่
Nielsen Korea หน่วยงานวัดเรตติ้งช่องโทรทัศน์ในประเทศเกาหลีใต้ได้เปิดเผยคะแนนเรตติ้งของ Reply 1988 และพบว่าซีรีส์ทั้งหมด 20 ตอนมีคะแนนเรตติ้งความนิยมเฉลี่ยทั่วประเทศถึง 12.43% โดยตอนสุดท้ายมีเรตติ้งสูงสุดที่ประมาณ 18.8%! ซึ่งถือว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ซีรีส์ดราม่าจากช่องเคเบิลในช่วงเวลาดังกล่าว แม้แต่ละตอนจะมีความยาวไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง 30 นาทีก็ตาม เพราะโดยปกติแล้วซีรีส์ส่วนใหญ่จากช่องเคเบิลจะมีเรตติ้งเฉลี่ยเป็นเลขหลักเดียว ต่างจากซีรีส์ฟรีทีวีที่ได้เลขเรตติ้งเฉลี่ย 2 หลักกันเป็นว่าเล่น
Reply 1988 ครองใจคนดูได้ทุกวัย เพราะตัวซีรีส์พาผู้ชมย้อนไปสำรวจความเป็นอยู่และไลฟ์สไตล์ผู้คนในปี 1988 ซึ่งเป็นช่วงที่เกาหลีใต้กำลังก่อร่างสร้างฐานความเจริญรุ่งเรืองจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งแรก ตลอดจนเหตุการประท้วงรัฐบาลโดยกลุ่มนักศึกษา ซึ่งทำให้ผู้ใหญ่ที่ชมได้หวนรำลึกถึงความหลังและความทรงจำที่สวยงาม เช่นเดียวกับเด็กๆ รุ่นใหม่ที่ได้ศึกษาเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน และความนิยมนี้เองที่ทำให้สถานีโทรทัศน์ช่อง One 31 ตัดสินใจซื้อมาฉายต่อที่ไทยในเวลาต่อมา
ว่ากันว่าผลพวงจากความสำเร็จของ Reply และวาไรตี้โชว์รายการต่างๆ ในช่วงนั้นทำให้รายรับจากค่าสปอนเซอร์โฆษณาตลอดทั้งปี 2014 ของช่องเคเบิลโทรทัศน์ในเครือ CJ E&M Corporation ซึ่งประกอบไปด้วย tvN, Mnet และ OCN เพื่มขึ้นสูงกว่า 341% เมื่อเทียบกับปี 2005 โดยคิดเป็นเงินจำนวนกว่า 233 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.7 พันล้านบาท
นอกจากนี้พวกเขายังมีซีรีส์เรื่อง Dear My Friends ที่ลงจอฉายไปเมื่อปีที่แล้ว และมุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุและกลุ่มคนหนุ่มคนสาวโดยเฉพาะ เนื่องจากใช้โมเดลเดียวกับรายการ Grandpas Over Flowers ที่เคยประสบความสำเร็จไปก่อนหน้านี้
ขณะที่ซีรีส์แนวแฟนตาซี ดราม่า และโรแมนติกอย่าง Guardian: The Lonely and Great God หรือที่รู้จักกันในชื่อ Goblin ซึ่งออกฉายในปี 2016 ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน โดยมีเรตติ้งความนิยมเฉลี่ยทั่วประเทศ 16 ตอนอยู่ที่ 12.924% แซงหน้าสถิติความนิยมของซีรีส์จากช่องเคเบิลและซีรีส์ช่องเดียวกันอย่าง Reply 1988
เช่นเดียวกับ Stranger ซีรีส์แนวสืบสวนสอบสวนที่ให้น้ำหนักกับการแก้ปมปริศนาซับซ้อนซ่อนเงื่อนแบบสุดทางจนถูกซื้อไปฉายต่อโดย Netflix ทั้งๆ ที่ยังออนแอร์ไม่จบเลยด้วยซ้ำ ซึ่งวิธีการหยิบจับเนื้อหาและบิดมุมมองการสร้างคอนเทนต์ให้สดใหม่ต่างจากซีรีส์เรื่องอื่นๆ ที่มีอยู่ในท้องตลาดก็ช่วยส่งให้ tvN คลำทางการสร้างซีรีส์ยอดนิยมได้ถูกจุดเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ความสามารถในการดึงดูดดาราระดับแม่เหล็กของวงการมาร่วมงาน
ที่ผ่านมา tvN มีโอกาสได้ร่วมงานกับดารา-นักแสดงระดับ S+ และแม่เหล็กของวงการมาโดยตลอด ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นวิธีช่วยเพิ่มฐานคะแนนนิยมให้กับซีรีส์และสถานีโทรทัศน์ของพวกเขาได้อย่างชาญฉลาด
กงยู (Gong Yoo) โอปป้าขวัญใจมหาชนวัย 38 ปี ตัดสินใจกลับมาแสดงซีรีส์เต็มตัวในเรื่อง Goblin กับช่อง tvN หลังห่างหายจากผลงานการแสดงในจอแก้วไปถึง 5 ปีเต็ม (ก่อนหน้านี้กงยูได้รับเชิญในซีรีส์เรื่อง Dating Agency: Cyrano เมื่อ ปี 2013 กับช่อง tvN ส่วนปี 2012 เป็นนักแสดงนำเรื่อง Big กับช่อง KBS2)
แบดูนา (Bae Doo-Na) นักแสดงหญิงชาวเกาหลีใต้ที่โกอินเตอร์จนมีผลงานฮอลลีวูด เช่น Cloud Atlas, Jupiter Ascending และ Sense8 ก็ตกลงปลงใจกลับมารับงานซีรีส์เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีกับ tvN ในเรื่อง Stranger (ผลงานซีรีส์เรื่องล่าสุดในประเทศของแบดูนาคือ Gloria เมื่อปี 2010) เช่นเดียวกับพระเอกในเรื่อง โจซึงอู (Cho Seung-Woo) เจ้าของบทบาทอัยการไร้อารมณ์ ‘ฮวังชีมก’ ที่ก็ตัดสินใจกลับมารับงานซีรีส์เป็นเรื่องแรกในรอบ 3 ปีของเขาเหมือนกัน
อะไรทำให้ดารารุ่นใหญ่ระดับกงยู แบดูนา และโจซึงอู หวนกลับมาร่วมงานกับสถานีเคเบิลโทรทัศน์ tvN แทนที่จะเป็นสถานีโทรทัศน์ 3 เจ้าใหญ่ในประเทศ?
ครั้งหนึ่งกงยูเล่าถึงเหตุผลที่เขาเลือกเล่นซีรีส์ Goblin กับ tvN ว่า “ผมเป็นคนที่ชอบความสร้างสรรค์ ผมมักจะเลือกร่วมงานกับโปรเจกต์ที่สามารถมอบความรู้สึก ‘สดใหม่’ ให้กับผมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากผ่านพ้นช่วงวัยเลข 3 มาแล้ว ดังนั้นผลงานในระยะหลังๆ ของผมจึงมีความหลากหลายมากขึ้น”
ด้านแบดูนาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เนื้อเรื่องที่ท้าทายและบทที่แปลกใหม่ของ Stranger ช่วยให้เธอแทบจะไม่ต้องลังเลในการกลับมาเล่นซีรีส์ประเทศบ้านเกิดอีกครั้งเลย
“หลายปีที่ผ่านมานี้ฉันทำงานในวงการบันเทิงต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และคิดถึงแฟนๆ ที่เกาหลีมาก หลังจากนั้นฉันก็ได้รับการทาบทามให้เล่นบทนี้ (นักสืบฮัน ในเรื่อง Stranger) ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ทำให้ฉันได้ร่วมงานกับนักแสดงที่ฉันอยากทำงานด้วยมาตลอด นอกจากนี้ฉันก็ยังชอบคาแรกเตอร์นักสืบ ซึ่งเป็นบทบาทที่ฉันไม่เคยได้เล่นมาก่อน ฉันคิดว่ามันน่าจะสนุก เพราะมันต่างจากสิ่งที่ฉันเคยทำมา”
ส่วนโจซึงอูบอกว่า สิ่งที่ดึงดูดให้เขากลับมาเล่นซีรีส์เกาหลีอีกครั้งเป็นเพราะคาแรกเตอร์ในเรื่องที่ต่างจากซีรีส์เรื่องก่อนๆ ที่เขาเคยเล่น “ก่อนหน้านี้ผมได้เล่นแต่บทที่มีคาแรกเตอร์ชวนหลงใหลมาตลอด แต่กับบทนี้ผมต้องเล่นเป็นคนที่สูญเสียความสามารถในการมีอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ใหม่มากๆ สำหรับผม”
ความแปลกใหม่ของเนื้อหาซีรีส์ไม่เพียงแต่จะช่วยดึงความสนใจจากคนดูจำนวนมหาศาล แต่ยังช่วยส่งต่อความท้าทายในด้านการพัฒนาฝีไม้ลายมือของอาชีพนักแสดงไปยังดาราระดับแม่เหล็กของวงการให้อยากพัฒนาตัวเองและเลือกมาร่วมงานกับ tvN
เงินทุนสนับสนุนและคอนเน็กชันขั้นพระกาฬจาก CJ Group
เมื่อค้นดูข้อมูลเพิ่มเติมของผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จและเจ้าของสถานีเคเบิลโทรทัศน์ tvN เรากลับไม่แปลกใจแม้แต่น้อยเลยว่าทำไมช่องเคเบิลโทรทัศน์ช่องนี้ถึงมีทุนมหาศาลและบ้าพลังในการผลิตคอนเทนต์ขนาดนี้
‘CJ Group’ คือบริษัทผู้ให้กำเนิด tvN พวกเขาเป็นเจ้าของธุรกิจที่ใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ในประเทศเกาหลีใต้ โดยนิตยสาร Forbes เปิดเผยว่า ในปี 2017 นี้ CJ Group มีมูลค่าทางการตลาดมากถึง 4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 146,500 ล้านบาท และยังฟันกำไรจากผลประกอบการได้มากกว่า 192 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.4 พันล้านบาท
พวกเขามีธุรกิจอยู่ในมือแทบจะครอบคลุมในทุกๆ อณูของไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิตของผู้บริโภค ไล่ตั้งแต่สินค้ากลุ่มบริโภค CJ Cheil Jedang, ธุรกิจช้อปปิ้งสินค้า CJ O Shopping (มีสาขาในประเทศไทยด้วยการจับมือกับแกรมมี่), ธุรกิจโลจิสติกส์ CJ Logistics, ธุรกิจเพื่อความบันเทิงในนาม CJ Entertainment & Media (เจ้าของสถานีโทรทัศน์ tvN และ Mnet) และ CJ CGV ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ที่มีสาขาอยู่ในสหรัฐอเมริกา, จีน, ตุรกี, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และเมียนมา
ซึ่งการที่ CJ มีทั้ง tvN ช่องโทรทัศน์ที่เป็นผู้นำด้านคอนเทนต์ซีรีส์ดราม่า-เกมโชว์ และ Mnet ผู้นำด้านรายการเพลงอยู่ในมือเช่นนี้ก็ทำให้เป็นประโยชน์ต่อบริษัทลูกในเครือของพวกเขามากๆ
โดย tvN Asia (2009-ปัจจุบัน) เวอร์ชันที่ฉายในฮ่องกง, สิงคโปร์, มาเก๊า, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ไต้หวัน, ไทย, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา, เมียนมา, ออสเตรเลีย และเวียดนาม ก็ดึงเอาคอนเทนต์ปังๆ จำพวก Produce 101, I Can See Your Voice, Superstar K จากช่อง Mnet มาเสริมสรรพกำลังอยู่เรื่อยๆ ทั้งยังทำให้แบรนด์ของพวกเขาเป็นที่รู้จักในระดับทวีปอยู่ตลอดเวลา
ด้วยการพัฒนาที่ไม่หยุดหย่อน จึงทำให้ในตลอด 2 ปีที่ผ่านมา (2015-2016) CJ Group มีรายรับสุทธิจากสื่อด้านความบันเทิงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2015 มีรายรับอยู่ที่ 3.56 ล้านล้านวอน หรือคิดเป็นเงินไทยที่ 104 ล้านบาท ส่วนในปีที่ผ่านมามีรายรับเพิ่มขึ้นที่ 3.92 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 114 ล้านบาท
ขณะที่ในปี 2017 นี้ เว็บไซต์ Variety เปิดเผยว่า CJ E&M Corporation ทุ่มงบไม่อั้นจำนวนกว่า 39.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.3 พันล้านบาทในการลงทุนผลิตคอนเทนต์จำพวกเกมโชว์ ซีรีส์ และรายการเพลงป้อนสถานีโทรทัศน์ tvN และ Mnet (มากกว่ารายรับสุทธิสื่อบันเทิงที่เปิดเผยออกมาเสียด้วยซ้ำ)
เพราะฉะนั้นการที่ tvN มี CJ Group เป็นนายทุนหนุนหลังซึ่งพร้อมทุ่มไม่อั้นไปกับการผลิตคอนเทนต์คุณภาพดีก็น่าจะพอตอบได้ว่า เหตุใด tvN จึงมีศักยภาพพอจะก้าวขึ้นมาเป็น Content Trend Leader ในเกาหลีใต้ที่แท้จริง ทั้งยังได้รับการยอมรับทัดเทียมกับสถานีโทรทัศน์ช่องฟรีทีวีเจ้าอื่นๆ ในประเทศ
อ้างอิง:
- www.koreatimes.co.kr/www/art/2017/07/688_233109.html
- english.cj.net/brand/list_enjoy.asp
- www.koreatimes.co.kr/www/news/culture/2014/05/386_156855.html
- www.nielsenkorea.co.kr/
- english.chosun.com/site/data/html_dir/2017/06/03/2017060300411.html
- english.yonhapnews.co.kr/culturesports/2016/02/23/0701000000AEN20160223003200315.html
- edition.cnn.com/2017/05/28/asia/gong-yoo-talk-asia/index.html
- en.wikipedia.org/wiki/TVN_(South_Korea)
- en.wikipedia.org/wiki/TVN_(Asia)
- english.cj.net/brand/list_enjoy.asp
- asianwiki.com
- variety.com/2017/tv/asia/cj-to-invest-40-million-in-original-tv-content-1202000666/
- english.cj.net/ir/notice/notice/notice_list.asp
- en.wikipedia.org/wiki/CJ_CGV
- www.forbes.com/global2000/list/2/#country:South%20Korea
- us.blastingnews.com/showbiz-tv/2017/07/forest-of-secrets-k-drama-steady-with-viewership-as-tvns-1st-success-of-2017-001834317.html
- อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ Netflix ซื้อ Stranger มาฉายบนแพลตฟอร์มของพวกเขามาจากการที่ซีรีส์เรื่องนี้มี แบดูนา เป็นนักแสดงนำ โดยถือเป็นการกอบโกยความนิยมจากฐานแฟนคลับของเธอทั่วโลก หลังประสบความสำเร็จกับซีรีส์เรื่อง Sense8 ซึ่งเป็น Original Content ของ Netflix
- ทีมงานโซเชียลมีเดียของ tvN ให้ความสำคัญกับการขยี้กระแสของคอนเทนต์ซีรีส์เอามากๆ โดยทุกครั้งที่ซีรีส์แต่ละเรื่องฉายจบในแต่ละตอนก็มักจะปล่อยคลิปโปรโมตซีรีส์เรื่องนั้นๆ ตามหลังมาตลอด
- เดิมที CJ Group เป็นบริษัทลูกที่อยู่ในเครือ Samsung บริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยี กระทั่งช่วงยุค 90s พวกเขาจึงแยกงานบริหารธุรกิจออกจากกัน
- ในสมัยที่ช่องโทรทัศน์ tvN Asia ยังไม่เป็นที่นิยม พวกเขาเคยเปลี่ยนไปใช้ชื่อ ‘Channel M’ ซึ่งอิงมาจากแบรนด์ Mnet ที่ติดตลาดอยู่ก่อนแล้ว