วันนี้ (17 มกราคม) เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่คำวินิจฉัยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง พร้อมดำเนินคดีอาญากับ เกศกานดา อินช่วย ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เขต 16 คือพื้นที่เขตคลองสามวา (ยกเว้นแขวงสามวาตะวันออก และแขวงทรายกองดินใต้) พรรคประชาธิปัตย์ เพิ่มเติมอีกหนึ่งคดี
ไทม์ไลน์เหตุแจกเงิน จนเดินมาสู่ถูกดำเนินคดี
สำหรับกรณีดังกล่าว กกต. ได้ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนว่า ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง สส. เหตุเกิดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 เวลากลางวัน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแจ้งให้ผู้ร้องทราบว่า สถาพร ไกรถวิล ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ช่วยหาเสียงของเกศกานดา ผู้ถูกร้องที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนดังกล่าวนัดหมายให้เกศกานดามาพบที่บ้านพักของผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนดังกล่าว ในช่วงเวลาค่ำของวันเดียวกัน เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง
มีบทสนทนาตอนหนึ่งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนดังกล่าวถามว่า “เอาแบบเปล่าเลยเหรอ” และสถาพรตอบว่า “เอาแบบนั้นแหละ ไม่มีทางเลือกแล้ว ไม่ต้องจด ทำอะไรก็ทำไปเลย ผมบอกน้องมันแล้ว บอกให้ไปเหอะ พวกๆ กันทั้งนั้น ก็เดี๋ยวช่วยสัก 40 เสียง 30 เสียง ก็ไม่เสียหายอะไร เพราะว่าเราก็อยากให้สตางค์เอาไว้ใช้ ไม่เสียหายอะไรหรอก”
บทสนทนาดังกล่าวมีลักษณะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับการแจกเงินซื้อเสียงว่าจะต้องจดรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่
ต่อมาเวลาประมาณ 18.10 น. ของวันเดียวกัน สถาพรไปที่บ้านของผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนดังกล่าวขอให้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งให้เกศกานดา เนื่องจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนดังกล่าวเป็นประธานหมู่บ้านวงศกร 5 และเป็นตัวแทนหรือหัวคะแนนของผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่นในพื้นที่
จากนั้นเวลาประมาณ 18.30 น. เกศกานดา และ ฐนวัฒน์ ภูมี ผู้ถูกร้องที่ 3 และพยานผู้ถูกร้อง เดินทางมาถึงบ้านผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนดังกล่าว ผู้ถูกร้องทั้งสามพูดคุยกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนดังกล่าว ในทำนองขอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนดังกล่าวแบ่งคะแนนเสียงของหมู่บ้านวงศกร 5 ให้แก่เกศกานดา
บทสนทนาช่วงหนึ่งเกศกานดาพูดว่า “เกศก็พอรู้ว่าพี่สถาพรโทรมาคุยกับพี่เรื่อยๆ วันนี้เลยอยากมาหาพี่ เกศอยากจะขอโอกาส เพราะว่าแนวโน้มที่โพลออกมา เกศก็มีโอกาส แต่เกศตามอยู่นิดหนึ่ง แต่ของคุณบอน คะแนนมันไม่ขึ้นเลย ไม่ติด 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 เลยด้วยซ้ำ เกศเลยว่าในเมื่อเกศเป็นคนแพ้ เกศหาคะแนนเพิ่มอยู่แล้ว ดังนั้นเกศอยากจะขอคะแนนที่จะไปให้คุณบอน ขอถ่ายมาเป็นฝั่งเกศ เพราะว่าเกศมีโอกาสมากกว่า ไม่อย่างนั้น ก็เสียของ เกศก็ไม่อยากให้คะแนนมันหายไปเลย เกศแพ้มาก่อน เกศหาคะแนนเพิ่มอย่างเดียว เอาทุกวิถีทาง อย่างที่พี่โตบอก เอาทุกวิถีทาง”
สำหรับคำว่า ‘พี่โต’ หมายถึง ฐนวัฒน์ และ ‘บอน’ หมายถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งคนหนึ่ง ซึ่งฐนวัฒน์พูดว่า
“ตอนนี้โพลติด 1 ใน 3 มีเบอร์ 4 เบอร์ 14 เบอร์ 11 แต่เบอร์ 5 มีประปราย ไม่ติด 1 ใน 4 ถ้ามันพอพลิกเกมได้ก็อยากจะพลิก เพราะว่าพี่ดันทางพี่บอนใช่ไหมมันก็ไม่ขึ้นอยู่ดี เพราะเปอร์เซ็นต์มันไม่ขึ้นเลยนะ เผื่อว่าพี่มาช่วยเกศ”
สถาพรพูดว่า “ตามนิดเดียว วันนี้ซอย 2 ซอยพวกเย็บผ้า พนักงานแรงงาน ผมก็ใส่ไปแล้ว 20 คน ช่วยเหลือไปคนละ 500 บาท มันถึงแฮปปี้ไง ถ้าได้มาสัก 200 กว่าเสียง มันจะทำให้ตัวเลขมันขึ้น” ปรากฏตามบันทึกเสียงการสนทนา ตั้งแต่นาทีที่ 26.21
กกต. เชื่อว่าแจกเงินซื้อเสียง หลังวิเคราะห์คลิปเสียง-กล้องวงจรปิด
กกต. ระบุว่า จากบทสนทนาดังกล่าว น่าเชื่อว่าผู้ถูกร้องทั้งสามพูดคุยเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งและการแจกเงินซื้อเสียง
ประกอบกับจากการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด นาทีที่ 1.42.30 ปรากฏภาพ เกศกานดา นำธนบัตรจำนวนหนึ่งวางบนโต๊ะ แล้วนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนดังกล่าววางทับเอาไว้ พร้อมกับพูดว่า
“อันนี้เกศฝาก ฝากวางไว้ก่อน เกศไม่สร้างความลำบากใจ เกศเข้าใจ แต่ถ้าทอนตรงไหนมาได้ก็ทอนมาให้เกศหน่อย ด้วยของตัวพรรคบอนเองคนในพื้นที่เขาก็ไม่ได้ชอบเยอะ เกศก็เลยหนีไปอยู่ประชาธิปัตย์ไง ยังไงให้เกศมีคะแนนบ้างล่ะ” ปรากฏตามบันทึกเสียงการสนทนา นาทีที่ 48.26
ซึ่งเมื่อพิจารณาภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดตั้งแต่ นาทีที่ 1.42.30 เป็นต้นไป และขยายภาพขณะที่เกศกานดาวางวัตถุบนโต๊ะ และขณะผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนดังกล่าวหยิบวัตถุดังกล่าวขึ้นมาจากโต๊ะนำมาใส่กระเป๋ากางเกง และล้วงออกจากกระเป๋ากางเกงนำมาใส่ถุงพลาสติกใสและเก็บวัตถุดังกล่าวไว้ในตู้
น่าเชื่อได้ว่าวัตถุดังกล่าวเป็นธนบัตรที่อยู่ในลักษณะพับครึ่งจำนวนหนึ่ง ไม่ใช่เอกสารหาเสียงเลือกตั้งตามที่ผู้ถูกร้องทั้งสามกล่าวอ้าง เนื่องจากหากเป็นเอกสารหาเสียงเลือกตั้งที่มี ลักษณะเป็นบัตรแนะนำตัวตามที่ฐนวัฒน์ส่งมอบให้แก่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนเพื่อประกอบการให้ถ้อยคำแล้ว
การวางบัตรแนะนำตัวซึ่งเป็นกระดาษที่มีความหนาและมีน้ำหนักมากกว่าธนบัตรนั้น ไม่จำต้องนำวัตถุอื่นมาวางทับไว้ ซึ่งตามภาพที่ปรากฏวัตถุดังกล่าวมีลักษณะโค้งงอเหมือนกับธนบัตรจำนวนหนึ่งที่พับครึ่งไว้ มิใช่ลักษณะของบัตรแนะนำตัว
อีกทั้งจากการตรวจสอบการสนทนาทางแอปพลิเคชัน LINE ระหว่างผู้ร้องกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนดังกล่าว เมื่อวันที่ 5, 7 และ 12 พฤษภาคม 2566 หลังจากที่เกศกานดาให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนดังกล่าวแล้ว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนดังกล่าวประสงค์จะขอคืนเงินบางส่วนให้สถาพร เนื่องจากเพิ่งแจกเงินไป 10,000 กว่าบาท
กรณีนี้จึงปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าเกศกานดากระทำการและก่อ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้ สถาพรและฐนวัฒน์ ให้เงินดังกล่าวแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเอง ซึ่งเป็นการทุจริตการเลือกตั้ง อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 73 (1) ประกอบมาตรา 138 วรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้ผลการเลือกตั้ง สส. กรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 16 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเกศกานดา มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
จึงมีคำสั่งให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ เกศกานดา อินช่วย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 73 (1) ประกอบมาตรา 138 วรรคหนึ่ง
ให้ดำเนินคดีอาญาแก่เกศกานดา, สถาพร และฐนวัฒน์ ตามกฎหมายเดียวกันในมาตรา 73 (1) ประกอบมาตรา 158 วรรคหนึ่ง
ให้กันผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนดังกล่าวไว้เป็นพยาน โดยไม่ดำเนินคดีตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2560 มาตรา 46 ประกอบระเบียบ กกต. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกันบุคคลไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี พ.ศ. 2563 ข้อ 5 และ 6
อ้างอิง: