×

Cartoon Club แถลงข่าวแต่งตั้งที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เร่งแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในวงการ

29.06.2023
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน Cartoon Club จัดงานแถลงข่าวแต่งตั้งให้บริษัท Avanta & Co เป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์การ์ตูน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ยังคงเกิดขึ้นในปัจจุบัน พร้อมมีการเปิดเวทีพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์การ์ตูนจาก Online Video Platform 

 

งานแถลงข่าวครั้งนี้สืบเนื่องมาจากกรณีที่บริษัท Cartoon Club ต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์การ์ตูนมาอย่างต่อเนื่อง ทราบว่ามีแพลตฟอร์มลิขสิทธิ์แท้เจ้าหนึ่ง ได้ปล่อยปละละเลยให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ในแพลตฟอร์มจนเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘เถื่อนในแท้’ โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวเปิดให้ผู้ชมสามารถอัปโหลดคอนเทนต์ต่างๆ ได้อย่างอิสระ หรือที่เรียกว่า User-Generated Content (UGC) ซึ่งทำให้มีคอนเทนต์จาก Cartoon Club จำนวนมากถูกละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการถูกนำไปอัปโหลดบนแพลตฟอร์มดังกล่าว

 

โดย Cartoon Club มีการยื่นเรื่องถึงแพลตฟอร์มดังกล่าวแล้ว ซึ่งทางแพลตฟอร์มดำเนินการลบคอนเทนต์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์จริง แต่กลับไม่มีการตอบรับหรือขอโทษใดๆ กลับมา อีกทั้งแม้ว่าทางแพลตฟอร์มจะมีการลบคอนเทนต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ไปแล้ว แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์ละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้รับการแก้ไข 

 

ด้วยเหตุนี้ทาง ธนพ ตันอนุชิตติกุล CEO บริษัท การ์ตูนคลับ มีเดีย จำกัด จึงแต่งตั้งให้ เป็นต่อ กมลยะบุตร ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายจากบริษัท Avanta & Co เป็นตัวแทนในการดำเนินการด้านกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการถูกละเมิดลิขสิทธิ์การ์ตูนต่อไป  

 

นอกจากนี้ ภายในงานแถลงข่าวยังมีการเปิดเวทีพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์การ์ตูนจาก Online Video Platform โดยมีตัวแทนจากแพลตฟอร์มออนไลน์ นำโดย โกมินทร์ อ่าวอุดมพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการพันธมิตรด้านคอนเทนต์ TrueID, กนกพร ปรัชญาเศรษฐ Chief Commercial Officer, Tencent Thailand and Country Manager, WeTV Thailand, ผ่านศึก ธงรบ Country Director, iQIYI Thailand พร้อมด้วยตัวแทนจากทีมงานนักพากย์ไทย อย่าง อิทธิพล มามีเกตุ นักพากย์เสียงตัวละครลูฟี่ จากเรื่อง One Piece และ พิพัฒน์ บุญสิทธิเลิศ Dubbing Director เรื่อง ดาบพิฆาตอสูร และ นารูโตะ เข้ามาร่วมพูดคุยในครั้งนี้ 

 

โดย โกมินทร์ อ่าวอุดมพันธ์ กล่าวถึงผลกระทบของการละเมิดลิขสิทธิ์ช่วงหนึ่งว่า “การรับชมคอนเทนต์แบบไม่ถูกลิขสิทธิ์เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศเรามาอย่างยาวนาน เรื่องของผลกระทบของการชมคอนเทนต์แบบไม่ถูกลิขสิทธิ์จริงๆ แล้วมันมีผลกระทบที่หลากหลาย และสุดท้ายจะส่งผลกระทบถึงคนดูด้วย ลองจินตนาการว่าแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งที่ลงทุนทำคอนเทนต์ใดๆ ก็ตาม สิ่งที่เราคาดหวังในการลงทุนในการทำธุรกิจต่างๆ ก็เป็นเรื่องของการทำกำไร แต่ส่วนหนึ่งเรื่องของยอดวิวก็จะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับรายได้ที่จะกลับมา 

 

“ทีนี้เรื่องของแพลตฟอร์มที่ไม่ถูกลิขสิทธิ์ต่างๆ พอมีการแชร์ยอดวิวต่างๆ ไป รายได้ในแพลตฟอร์มที่เราคาดหวังว่าจะสร้างได้ก็จะหายไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนเกี่ยวกับการ์ตูนหรือคอนเทนต์ใหม่ๆ ในอนาคต และผลกระทบที่กลับไปยังคนดูก็คือคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่เข้ามาให้ดูแบบภาพชัด หรือให้ผลประโยชน์ที่ดีที่สุดแก่คนดูก็จะหายไปด้วย”

 

ด้าน พิพัฒน์ บุญสิทธิเลิศ แบ่งปันมุมมองในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงานถึงผลกระทบของการชมแบบละเมิดลิขสิทธิ์ว่า “เราเป็นคนสร้างงาน เราอาจไม่ได้เป็นคนที่ซื้อลิขสิทธิ์มา แต่เราก็เป็นเหมือนพ่อครัว ทุกขั้นตอนเราผ่านการคิด การทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจ อย่างงานพากย์ก่อนอื่นเราต้องมาเคาะเรื่องงบประมาณเอย หาคนแปลบท แล้วการแปลบทบางเรื่องมันไม่ใช่ว่าแปลไม่กี่วันเสร็จ บางเรื่องต้องหาข้อมูลเยอะมาก แล้วเราต้องทำงานภายในกรอบเวลาที่ทุกอย่างจำกัด มันเป็นการทำงานที่ไม่ง่าย 

 

“เพราะฉะนั้น เวลาที่เราทำออกมาเสร็จแล้ว เวลามีคนชื่นชมเราก็ดีใจ แต่ว่าก็มีบางคนที่เข้ามาชื่นชมเรา แต่พอเราถามว่าดูมาจากที่ไหน มันก็กลายเป็นช่องทางผิดลิขสิทธิ์ ทำให้เรารู้สึกว่าเหมือนเราเหนื่อยแทบตาย แต่สุดท้ายทำไมไปดูช่องทางนั้น 

 

“คือการทำงานพากย์เรื่องค่าตอบแทนมันอาจจะจบ ณ การทำงาน แต่ว่าถ้าสมมติว่าคุณผู้ชมไม่ได้ช่วยกันอุดหนุนทางที่ถูกลิขสิทธิ์ สุดท้ายแล้วเม็ดเงินที่หมุนอยู่ในอุตสาหกรรม ก็ไม่มีการเกิดการจ้างงาน ผลิตงานให้ผลงานออกมาดีได้ เพราะคนที่เขาใช้เม็ดเงินซื้อลิขสิทธิ์มา เขาจ้างให้เราทำสิ่งดีๆ ออกมาขาย แต่เขาขาดทุน เขาโดนขโมย สุดท้ายจะส่งผลต่อการผลิต เราก็ผลิตงานดีๆ ออกมาไม่ได้เพราะเขาไม่มีต้นทุนที่จะจ้างเราให้ทำงานดีๆ ออกมา แล้วคนดูเองก็จะไม่ได้รับชมงานที่ดีเช่นเดียวกันครับ”

 

สามารถรับชมงานแถลงข่าวย้อนหลังได้ที่

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X