×

เรือสินค้าเกยฝั่งขวางคลองสุเอซ กระทบโลกอย่างไร

26.03.2021
  • LOADING...
เรือสินค้าเกยฝั่งขวางคลองสุเอซ กระทบโลกอย่างไร

จุดเริ่มต้นวิกฤตของเรือ Ever Given

เหตุเกิดเมื่อวันอังคารที่ 23 มีนาคม 2021 เรือบรรทุกน้ำมัน Ever Given เกยขวางคลองสุเอซในอียิปต์ หลังเดินทางออกจากท่าเรือในจีนและกำลังมุ่งหน้าสู่เนเธอร์แลนด์

 

องค์การคลองสุเอซ (SCA) ระบุถึงสาเหตุของการ ‘ขวางคลอง’ ของ Ever Given ว่า ขณะที่เรือกำลังแล่นผ่านคลองสุเอซเมื่อวันอังคาร เกิดพายุทรายที่มีความเร็วลมมากกว่า 40 น็อต (ประมาณ 74 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และทำให้วิสัยทัศน์การมองเห็นต่ำ จนในที่สุดเรือก็สูญเสียการควบคุม หัวเรือเกยเข้ากับฝั่งบริเวณกิโลเมตรที่ 151 โดยมีตัวลำเรือกีดขวางเส้นทางของคลองสุเอซโดยสมบูรณ์ ส่วนลูกเรือทั้งหมด 25 คนยังอยู่บนเรือและปลอดภัยดี ส่วนตัวเรือยังไม่มีความเสียหาย

 

การกู้เรือ Ever Given เป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากมีความยาวกว่า 400 เมตร กว้าง 60 เมตร เฉพาะตัวเรือก็มีน้ำหนักถึง 220,940 ตัน สื่อหลายแห่งระบุให้เห็นภาพอันใหญ่โตของ Ever Given ให้ชัดเจนว่ามันมีความยาวพอๆ กับความสูงของตึกเอ็มไพร์สเตท 

 

ขณะเกิดเหตุ เรือ Ever Given บรรทุกน้ำมันดิบกว่า 870,000 ตัน และผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่นสำเร็จกว่า 670,000 ตัน ปีเตอร์ เบอร์ดาวสกี ประธานบริษัท Boskalis บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ที่เชี่ยวชาญการกู้เรือที่รับผิดชอบงานนี้เผยว่า เรือ Ever Given อยู่ในสภาพเหมือนกับ ‘วาฬเกยตื้น’

 

ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าจะใช้เวลานับสัปดาห์ ขณะนี้ทีมกู้เรือจากเนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่นได้มีการเร่งใช้เรือขุดโคลนและทราย รวมถึงเรือลากจูงจำนวน 2 ลำตลอด 24 ชั่วโมง โดยแผนล่าสุดคือจะต้องมีการขุดทรายให้ได้ถึง 20,000 คิวบิกเมตร เพื่อเพิ่มความลึกของสุเอซเป็น 16 เมตร รวมถึงขนสินค้าลงจากเรือเพื่อลดน้ำหนัก เพื่อให้เรือสามารถลอยได้อีกครั้ง 

 

รู้จักคลองสุเอซ แหล่งรายได้สำคัญของอียิปต์บนพื้นที่ขัดแย้ง

 

คลองสุเอซอยู่ที่ประเทศอียิปต์ เป็นคลองที่ขุดโดยฝีมือมนุษย์ เพื่อเชื่อมเส้นทางเดินเรือระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและมหาสมุทรอินเดีย เปิดใช้งานครั้งแรกในปี 1869 มีความกว้าง 91.44 เมตร ยาว 193.3 กิโลเมตร ใช้เวลาขุดนาน 10 ปี

 

นับแต่เปิดใช้งาน คลองสุเอซก็กลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศอียิปต์มาโดยตลอด จากการตัดเส้นทางผ่านแผ่นดินอียิปต์โดยตรง เรือสินค้าที่ต้องการเดินทางจากเอเชียใต้ไปจนถึงยุโรป จากเดิมที่ต้องอ้อมที่แหลมกู๊ดโฮปของแอฟริกาใต้อีก 7,000 กิโลเมตร ซึ่งจะใช้เวลาขนส่งสินค้าเพิ่มเกือบสองสัปดาห์ และเสี่ยงกับการเดินเรือผ่านกระแสน้ำที่ไหลแรง

 

เมื่อปีที่แล้วคลองสุเอซทำรายได้สูงเป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์คือ 5.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.67 แสนล้านบาท) ถือว่าประสบความสำเร็จต่อเนื่องจากปี 2019 ที่สามารถทำรายได้แตะ 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.75 แสนล้านบาท) ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

 

คลองสุเอซเคยถูกปิดมาแล้วหลายครั้ง เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2004 ก็เคยมีเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมัน Tropical Brilliance ของบริษัท Sovcomflot จากรัสเซียที่พวงมาลัยควบคุมมีปัญหา ส่งผลให้ Tropical Brilliance กีดขวางการเดินเรือในคลองสุเอซ ก่อนที่จะมีการช่วยเหลือได้สำเร็จในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2004 ด้วยการใช้เรือลากจูงและขนถ่ายสินค้าลงจากเรือเพื่อระบายน้ำหนัก

 

นอกจากอุบัติเหตุในปี 1967 คลองสุเอซก็เคยถูกปิดเป็นเวลานานเกือบสิบปีในช่วงสงครามอาหรับและอิสราเอล โดยคลองสุเอซที่อยู่ในพื้นที่แนวหน้าของการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกองทัพอียิปต์ ส่งผลให้เรือสินค้าจำนวน 14 ลำต้องจอดรอจนถึงปี 1975 กว่าที่คลองสุเอซจะเปิดให้ใช้งานอีกครั้ง

 

นอกจากนี้ยังมีวิกฤตการณ์คลองสุเอซที่เกิดขึ้นในปี 1956 เมื่ออียิปต์ต่อสู้เพื่อสิทธิการครอบครองคลองสุเอซคืนจากอังกฤษและฝรั่งเศส ก่อนที่สหประชาชาติจะมีมติต่างๆ นำไปสู่การที่อียิปต์กลายเป็นผู้ครองสิทธิ์ในคลองสุเอซแต่เพียงผู้เดียว

 

ทุกนาทีคือความเสียหาย

ถึงคลองสุเอซจะมีการปิดหลายครั้ง แต่ทุกวันนี้ผ่านไปหลายทศวรรษ การค้าระหว่างยุโรปและเอเชียขยายตัวไปมากขึ้น แน่นอนว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจะเพิ่มเป็นเงาตามตัว 

 

ปัจจุบันคลองสุเอซมีเรือสัญจรปีหนึ่งนับหมื่นลำ หรือเฉลี่ยวันละกว่า 50 ลำ ใช้ขนส่งน้ำมัน 1.9 ลัานบาร์เรลต่อวัน และสินค้า 6 แสนตันต่อวัน ทุกนาทีที่ผ่านไปคือความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ค่อยๆ สะสม 

 

หากเร็วๆ นี้การกู้ Ever Given ยังไม่สำเร็จ หลายบริษัทก็ต้องเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งสินค้าไปอ้อมปลายสุดของทวีปแอฟริกาแทน ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องกระทบเครือข่ายซัพพลายเชนทั่วโลก โดยเว็บไซต์ข่าวชิปปิ้ง Lloyd’s List รายงานว่า โดยรวมแล้วการขนส่งที่หยุดชะงักอาจสร้างความเสียหายราว 9.6 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน 

 

เรือสินค้าเกยฝั่งขวางคลองสุเอซ กระทบโลกอย่างไร

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X