×

‘เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน’ ตัวเปลี่ยนเกมการค้าโลก? ทำไม 3 ยักษ์ใหญ่ เปอร์ตามิน่า-ปิโตรนาส-ปตท.สผ. มองเป็นสิ่งที่ต้องทำ

29.06.2023
  • LOADING...
แท่นขุดเจาะน้ำมัน

3 ยักษ์ใหญ่พลังงานแห่งชาติอาเซียน เปอร์ตามิน่า, ปิโตรนาส และ ปตท.สผ. เร่งเดินหน้าลงทุนเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนแห่งเอเชีย เมื่อภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและกำลังกดดัน อีกทั้งต้องสู้กฎระเบียบโลกการค้าที่จะมีผลในอนาคต  

 

ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง กฎระเบียบการค้ากำลังกดดันแต่ละประเทศ และบริษัทอุตสาหกรรมพลังงานทั้งทางตรงเเละทางอ้อม ต่างมองหาวิธีการลดคาร์บอนให้ได้มากที่สุด เช่นเดียวกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุด 3 แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก็คือ เปอร์ตามิน่า ปิโตรนาส และ ปตท.สผ. ที่ล้วนมองเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย เพราะธุรกิจนี้กำลังเป็นโอกาสใหม่ของอุตสาหกรรมที่เพิ่งตั้งไข่ได้ไม่นานสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนใต้ท้องทะเลและมหาสมุทร

 

รายงานข่าวจาก Nikkei ระบุว่า ในการประชุม Energy Asia 2023 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปิโตรนาส บริษัทพลังงานแห่งชาติของมาเลเซีย ลงนามในข้อตกลงกับบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของฝรั่งเศส โททาล และบริษัทการค้ามิตซุยของญี่ปุ่น เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการ CCS ในมาเลเซีย 

 

โดยเบื้องต้นความร่วมมือนี้จะผลักดันแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีศักยภาพหลายแห่งในลุ่มน้ำมาเลย์ รวมถึงชั้นหินอุ้มน้ำเค็มและพื้นที่นอกชายฝั่งที่นับวันจะหมดลง โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบริการจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับผู้ค้า เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนแก่ลูกค้าภาคอุตสาหกรรมในเอเชีย

 

ปิโตรนาสรุกเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.3 ล้านตันต่อปี 

 

Tengku Muhammad Taufik ประธานและซีอีโอกลุ่มปิโตรนาส กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทที่มีเป้าหมายให้มาเลเซียเป็นศูนย์กลาง CCS ระดับภูมิภาค เพื่อคว้าโอกาสในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และเป็นหนึ่งในหลายโครงการ Petronas CCS รวมถึงโครงการ Kasawari CCS นอกรัฐซาราวักในทะเลจีนใต้ 

 

เรียกได้ว่านี่เป็นเพียงหนึ่งในโครงการ CCS นอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่บริษัทอื่นเคยทำมา และปิโตรนาสหวังที่จะกักเก็บ CO2 ครั้งแรกที่ไซต์ Kawasari ภายในต้นปี 2569 ปริมาณ 3.3 ล้านตันต่อปี  

 

ขณะที่ Takayuki Ueda ประธานและซีอีโอของ INPEX บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของญี่ปุ่น กล่าวว่า บริษัทต้องการเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติ เพื่อตอบสนองความต้องการเชื้อเพลิงเปลี่ยนผ่านในตลาดเอเชียเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การผลิตก๊าซธรรมชาติเองก็จำเป็นต้องสะอาดกว่าด้วย ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทญี่ปุ่นจึงวางแผนที่จะรวม CCS เข้ากับโครงการก๊าซธรรมชาติเหลว Abadi ในแปลง Masela Block ของอินโดนีเซียก่อนหน้านี้

 

เปอร์ตามิน่ามองเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนเป็นตัวเปลี่ยนเกมพลังงานโลก

 

Nicke Widyawati ประธานและซีอีโอของเปอร์ตามิน่า บริษัทพลังงานแห่งชาติอินโดนีเซีย มองว่า ขณะนี้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนเป็นตัวเปลี่ยนเกมพลังงานโลก แต่ในแง่ของการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ การปล่อยมลพิษไม่ใช่แค่ต้องเป็นศูนย์เพียงอย่างเดียว แต่เรายังต้องการพลังงานผสมผสานเพื่อความสมดุล วิธีลดคาร์บอนจากน้ำมันและก๊าซที่มีอยู่ของเราจึงเป็นความท้าทายใหม่

 

Salyadi Saputra ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และกิจการใหม่ของเปอร์ตามิน่า เสริมว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้สำหรับโครงการ CCUS ที่มีศักยภาพถึง 7 โครงการกับพันธมิตรต่างชาติหลายราย สิ่งเหล่านี้รวมถึงองค์การเพื่อความมั่นคงด้านโลหะและพลังงานของญี่ปุ่น ผู้สำรวจทรัพยากรของรัฐ และบริษัท ExxonMobil รวมถึงยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันของสหรัฐฯ 

 

ดังนั้นเปอร์ตามิน่าหวังที่จะใช้ประโยชน์จากแหล่งกักเก็บน้ำมันและก๊าซที่กำลังจะหมดไปจำนวนมาก ซึ่งกระจายอยู่ทั่วหมู่เกาะอันกว้างใหญ่ของอินโดนีเซีย เพื่อเปลี่ยนประเทศให้กลายเป็นศูนย์กลางการจัดเก็บคาร์บอนในเอเชีย

 

ปตท.สผ. เลือกแหล่งอาทิตย์เป็นโครงการนำร่องกักเก็บคาร์บอนของไทย

 

ทางด้าน มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า การกักเก็บคาร์บอนเป็นสิ่งที่ต้องทำ หากเอเชียไม่สามารถทำ CCS ได้ เราจะไม่เห็นโลกลดคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593

 

ซึ่ง ปตท.สผ. มีส่วนร่วมในการศึกษาโครงการ CCS คนละส่วนกับ Petronas และกลุ่มพลังงานของญี่ปุ่น โดย INPEX ทำงานเพื่อพัฒนาโครงการดักจับคาร์บอนของ ปตท.สผ. เอง โดยบริษัทมีเป้าหมายวางโครงการนำร่องกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ล้านตันต่อปีภายในปี 2570 มนตรีกล่าว

 

ขณะที่รายงานข่าวระบุว่า ล่าสุด ปตท.สผ. อยู่ระหว่างศึกษาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ที่แหล่งอาทิตย์ ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์นั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนศึกษาและออกแบบด้านวิศวกรรม (Front-End Engineering and Design: FEED) โดยบริษัทคาดว่าจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision) ในครึ่งหลังปีนี้

 

อย่างไรก็ตาม การทำเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนให้เป็นเชิงพาณิชย์ยังคงเป็นความท้าทายใหม่ที่สำคัญสำหรับการพัฒนา CCS เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันยังคงมีราคาแพงอย่างมากและตลาดคาร์บอนเอเชียยังถือว่าล้าหลัง แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ แม้ว่าอาจมีเสียงสะท้อนจากนักอนุรักษ์บางฝ่ายมองว่า เป็นวิธีการลดผลกระทบด้านลบของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล 

 

ดังนั้นมาตรการจูงใจและกลไกคาร์บอน รวมถึงการสนับสนุนด้านกฎระเบียบ นโยบายที่ถูกต้อง ควรจะต้องเดินไปในทิศทางใด เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อไป

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X