มูลค่าตลาด คาร์บอนเครดิต ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 14% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2022 แม้ปริมาณการซื้อขายลดลง โดยตลาดคาร์บอน ‘ยุโรป’ คว้าแชมป์มูลค่าสูงสุดของโลก ส่วนตลาดคาร์บอนจีนหดตัวกว่า 60% เหตุรัฐบาลวุ่นกำราบโควิดและปัญหาอื่นๆ
ทีมนักวิเคราะห์จาก Refinitiv เผยว่า มูลค่าตลาดซื้อขายคาร์บอนทั่วโลกในปี 2022 สูงถึง 8.50 แสนล้านยูโร (หรือ 9.09 แสนล้านดอลลาร์) โดยมีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนราว 12.5 พันล้านตัน นับเป็นปริมาณที่น้อยกว่าปีก่อนหน้าถึง 20% แม้มูลค่าของตลาดเพิ่มขึ้น 14% เนื่องจากราคาคาร์บอนเครดิตสูงขึ้นมาก
ทั้งนี้ โครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Emissions Trading Schemes) เป็นเครื่องมือทางตลาด เพื่อจูงใจให้ทั่วโลกลดหรือจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะมีการจำกัดปริมาณคาร์บอนที่ประเทศหรือบริษัทสามารถปล่อยได้ โดยหากประเทศหรือบริษัทนั้นๆ ปล่อยคาร์บอนเกินขีดจำกัด ก็สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้อื่นได้
ปัจจุบันตลาดคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ ระบบการซื้อขายการปล่อยมลพิษของสหภาพยุโรป (EU ETS) ซึ่งเปิดตัวในปี 2005 ซึ่งในปีที่แล้วมีมูลค่าประมาณ 7.51 แสนล้านยูโร เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนหน้า และคิดเป็น 87% ของตลาดทั่วโลก
โดยราคาคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยใน EU ETS อยู่ที่ 80 ยูโรต่อตันในปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้าถึง 50% ส่วนหนึ่งมาจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นหลังสงครามในยูเครน
ส่วนคาร์บอนเครดิตในตลาดอังกฤษและอเมริกาเหนือก็มีราคาสูงกว่าในปี 2021 เช่นกัน
เมื่อปีที่แล้วฝ่ายนิติบัญญัติของสหภาพยุโรปยังได้ปฏิรูป EU ETS ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการคุมเข้มนโยบายด้านสภาพอากาศ และตกลงที่จะลดเครดิตในระบบ ซึ่งส่งผลทำให้ราคาเพิ่มขึ้นเช่นกัน
สำหรับตลาดคาร์บอนระดับภูมิภาคอีก 2 แห่งในอเมริกาเหนือ ได้แก่ Western Climate Initiative และ Regional Greenhouse Gas Initiative มีมูลค่ารวมกันมากกว่า 60,000 ล้านยูโรในปีที่แล้ว ตามข้อมูลจากรายงาน
ส่วนโครงการซื้อขายการปล่อยมลพิษแห่งชาติของจีน (China’s National Emissions Trading Scheme) ซึ่งเปิดตัวเมื่อกลางปี 2021 ปีที่แล้วมีมูลค่า 504 ล้านยูโร ลดลง 61% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากมีการซื้อขายอย่างจำกัด และการพัฒนาที่ล่าช้า เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้ออกแผนการจัดสรรใบอนุญาตใหม่ เพราะต้องให้ความสำคัญกับประเด็นอื่นๆ มากกว่า เช่น สถานการณ์การระบาดของโควิด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อ ‘เป้าหมายสีเขียว’ และ ‘เป้ายอดขาย’ ไม่สอดคล้องกัน เปิดช่องโหว่นโยบาย สิ่งแวดล้อม ในอุตสาหกรรมแฟชั่น
- ธปท. เตรียมออก Standard Practice ด้านสิ่งแวดล้อมในไตรมาส 3 พร้อมกำหนดให้แบงก์ส่งแผนและเป้าสีเขียวที่จับต้องได้ต้นปีหน้า
- ‘Bridgewater’ บริษัทจัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ใหญ่ที่สุดในโลก แนะวิธีลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อหนุนเป้าหมาย Net Zero
อ้างอิง: