หลังจากช่วงค่ำได้มีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์ไปเรียบร้อยถึงความร่วมมือครั้งใหญ่ระหว่าง ‘ธนาคารกสิกรไทย’ และ ‘บริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว’ วันรุ่งขึ้นทั้งสองก็ได้จับมือกันมาแถลงข่าวเพื่อบอกเล่าถึงที่มาที่ไป และก่อนอื่นขอเล่าจุดเริ่มต้นของ ‘ร้านถูกดี มีมาตรฐาน’ ซึ่งพัฒนาโดย ‘เสถียร เศรษฐสิทธิ์’ ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ที่มีแนวคิดสร้างมาตรฐานวงการร้านค้าปลีกชุมชน ด้วยการยกระดับมาตรฐานร้านค้าปลีกให้ทันสมัยด้วยความรู้ ระบบเทคโนโลยีการบริหารจัดการร้าน และจัดหาสินค้าและบริการที่ตอบความต้องการในชุมชน
โดยชูโมเดล ‘ร้านค้าชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน’ ร้านสะดวกซื้อชุมชนสมัยใหม่ที่สนิทใจกับลูกค้า เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน มุ่งแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย ทั้งเจ้าของร้านซึ่งเป็นคนในชุมชน ผู้ผลิตสินค้าและบริการต่างๆ มาโดยตลอด กับแนวคิด ‘กินแบ่ง ไม่กินรวบ’
นั่นคือความฝันของ ‘เสถียร’ ที่ตอนนี้ได้กลายมาเป็นความจริงกับร้านถูกดี มีมาตรฐาน ซึ่งวันนี้มีกว่า 5,000 ร้านค้ากระจายอยู่ใน 62 จังหวัดทั่วประเทศไทย
“ผมทำคาราบาวมา 10 กว่าปี ร้านโชห่วยถือเป็นพันธมิตรที่สำคัญ ซึ่งนี่คือธุรกิจที่เป็นรากฐานของประเทศ เราจะปล่อยให้ล้มหายไปไม่ได้ จากการเข้ามารุกคืบของโมเดิร์นเทรดโดยเฉพาะต่างชาติ” เสถียรกล่าว “ดังนั้นผมจึงเข้าไปปิดจุดอ่อน เช่น การให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการและเทคโนโลยี จึงทำให้ร้านโชห่วยแข็งแรงขึ้นมา”
ในขณะเดียวกัน ‘ร้านโชห่วย’ เหล่านี้กำลังจะแข็งแรงขึ้นมาอีกเมื่อได้พันธมิตรคู่ใจอย่าง ‘ธนาคารกสิกรไทย’ ที่ตัดสินใจใช้เงินเข้าร่วมลงทุนกว่า 15,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ
- 8,000 ล้านบาท ให้วงเงินกู้สำหรับบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาวและบริษัทร่วมทุน
- 5,000 ล้านบาท ลงทุนผ่านตราสารการลงทุน ที่ให้สิทธิการลงทุนในหุ้นของบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด
- 2,000 ล้านบาท เตรียมทยอยร่วมลงทุนในบริษัทร่วมทุน
พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ขยายความต่อว่า การพัฒนาร้านถูกดี มีมาตรฐาน ที่ธนาคารมีแผนดำเนินการร่วมกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่
- ส่งเสริมศักยภาพของร้าน ‘ถูกดี มีมาตรฐาน’ ให้เป็นร้านสะดวกซื้อชุมชนที่เป็นรากฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีการบริหารจัดการร้านและระบบการชำระเงินต่างๆ
- เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค้าขายต่างๆ โดยธนาคารนำข้อมูลการจับจ่ายในชีวิตประจำวันมาใช้ในการพิจารณาสินเชื่อ ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ประจำ หรือเจ้าของร้านค้าที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนภายในร้าน
- เป็นจุดให้บริการธุรกรรมการเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวันกับคนในชุมชน เช่น บริการถอนเงิน จ่ายบิล รวมทั้งเพิ่มบริการดิจิทัลต่างๆ เช่น สแกนจ่ายด้วย QR Code ซึ่งคนในชุมชนส่วนใหญ่เริ่มคุ้นเคยแล้ว เป็นผลจากนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐในช่วงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด
ที่สำคัญความร่วมมือนี้ จะทำให้ธนาคารมีจุดบริการเคแบงก์ เซอร์วิส (KBank Service) เพิ่มขึ้นอีก 30,000 จุด จากเดิมมีจำนวนกว่า 27,000 จุด เพิ่มช่องทางการให้บริการได้ลึกถึงแหล่งชุมชนและครอบคลุมทั่วประเทศ โดยปัจจุบัน ธนาคารมีช่องทางให้บริการผ่านสาขาจำนวน 830 สาขา ตู้ ATM และตู้ฝากถอนเงินอัตโนมัติ รวม 11,000 ตู้ และ K PLUS ที่มีลูกค้าใช้งานกว่า 18 ล้านราย
“สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินไปที่สาขาเหมือนแต่ก่อน” พัชรกล่าว “ขณะเดียวกันบริการทางการเงินที่เข้ามาจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายให้กับร้านอีกด้วย”
สำหรับร้าน ‘ถูกดี มีมาตรฐาน’ ภายในสิ้นปี 2565 ‘เสถียร’ ได้ตั้งเป้าที่จะขยายให้ครบ 10,000 ร้านค้า ก่อนจะเพิ่มเป็น 30,000 ร้านค้าภายในปี 2567
โดยร้าน ‘ถูกดี มีมาตรฐาน’ เป็นเสมือน ‘แพลตฟอร์ม’ และ ‘โครงข่าย’ ที่เชื่อมโยงกันเพื่อตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนทั่วประเทศ และเชื่อมต่อผู้ผลิตและผู้ให้บริการต่างๆ ที่คนในชุมชนเคยเข้าถึงได้ยากอย่าง บริการทางการเงิน, เป็นจุดรับส่งสินค้าในชุมชน, บริการสินค้าทางการเกษตร ฯลฯ โดยเฉพาะในชุมชน หมู่บ้านที่ห่างไกล ที่สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ยังเข้าไม่ถึง
ตอบโจทย์และเพิ่มความสะดวกให้คนในชุมชน ทำให้การใช้ชีวิตของผู้บริโภคทั่วประเทศง่ายขึ้น จนกลายเป็น ‘ศูนย์กลางของชุมชน’ อย่างแท้จริง
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับถูกดี มีมาตรฐาน: https://bit.ly/3vgRYIC