วานนี้ (2 ธันวาคม) ผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เตือนภัยกรณีผู้บาดเจ็บจากถุงลมนิรภัย (Airbag) ระเบิดเมื่อบ่ายวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นรายที่ 6 ในประเทศไทย หลังจากขับรถยนต์วิ่งขาเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 3 ได้ชนท้ายรถกระบะ และถุงลมนิรภัยเกิดระเบิดอย่างรุนแรง ส่งผลให้บาดเจ็บสาหัส ทางโรงพยาบาลเอ็กซเรย์พบวัสดุฝังในหน้าอกขนาดเท่าเหรียญหรือฝาน้ำ เมื่อผ่าตัดเสร็จแพทย์พบว่าเป็นอุปกรณ์ชิ้นส่วนของถุงลมนิรภัย บาดแผลมีร่องรอยจากการระเบิดของถุงลมนิรภัย 2 จุด บริเวณหน้าอกและช่วงท้อง และแขน 2 ข้าง ช่วงคอมีบาดแผลคล้ายไฟไหม้ ส่วนรถได้รับความเสียหาย
โดย ผศ.ดร.รุ่ง กิตติพิชัย หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ถุงลมนิรภัยเป็นสิ่งคุ้นเคยของผู้ขับรถยนต์มายาวนาน เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ทำหน้าที่เสมือนเป็นหมอนรองลดแรงกระแทกจากการชนต่อผู้ขับรถและผู้โดยสาร ช่วยลดการบาดเจ็บ โดยปกติแล้วระบบการทำงานของถุงลมนิรภัยนั้นเมื่อรถยนต์เกิดการชนหรือกระแทกที่รุนแรงเกินกว่ากำหนดจะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับแรงกระแทก กล่องควบคุมการทำงานของถุงลมนิรภัยจะสั่งจุดระเบิดให้สารภายในถุงลมนิรภัยระเบิดออกด้วยอุณหภูมิและแรงดันสูงเพื่อทำให้ถุงลมนิรภัยพองตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งใช้เวลาเพียง 0.04 วินาที ด้วยความเร็วในการพองตัวถึง 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กม./ชม.)
หลังจากนั้นถุงลมนิรภัยจะค่อยๆ ยุบตัวลง เพื่อป้องกันไม่ให้ถุงลมอัดกับผู้ขับนานเกินไปหรือบดบังการมองเห็นจนทำให้เกิดอันตรายอื่นๆ ตามมา ทั้งนี้ ถุงลมนิรภัยนั้นควรต้องทำหน้าที่ในภาวะจำเป็นเท่านั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุถุงลมนิรภัยควรจะทำงานขณะรถชนวิ่งในระดับความเร็วตั้งแต่ 40 กม./ชม. ขึ้นไป
ในอดีต ‘สารในถุงลมนิรภัย’ ที่แนะนำและนิยมใช้คือ เตตราโซล (Tetrazole) แต่ด้วยสารชนิดนี้มีราคาแพง ถุงลมนิรภัยยี่ห้อทาคาตะ ซึ่งเป็นยี่ห้อที่ใช้แพร่หลายอันดับต้นๆ ในโลกอุตสาหกรรมรถยนต์นับร้อยล้านคันได้ใช้สารราคาถูกเพื่อลดต้นทุนคือ แอมโมเนียมไนเตรท (Ammonium Nitrate) ที่เป็นสารประกอบทำปุ๋ยและระเบิดนั้น มีข้อเสียคือสารนี้สามารถดูดซับความชื้นได้ดี ซึ่งหากการผลิตไม่ได้มาตรฐาน มีความชื้นอยู่ในถุงลมนิรภัย จะทำให้การระเบิดรุนแรงกว่าปกติเมื่อทำงานหรือมีการจุดระเบิด
พร้อมทั้งอาจทำให้ชิ้นส่วนภายในถุงลมนิรภัยแตกออกและพุ่งเข้าใส่ร่างคนขับขี่ในระยะกระชั้นชิด จึงทำให้เกิดการบาดเจ็บสาหัสและตายเป็นจำนวนมากอยู่ทั่วโลก แม้ว่าในปัจจุบันนี้บริษัทผู้ผลิตถุงลมนิรภัยที่มีปัญหาจะล้มละลายไปแล้ว แต่ยังมีถุงลมนิรภัยรุ่นนี้ถูกติดตั้งอยู่ในรถยนต์ทั่วโลก
เฉพาะในประเทศไทย รถยนต์ที่ติดตั้งถุงลมทาคาตะนี้ได้แก้ไขเปลี่ยนแล้วกว่า 1 ล้านคัน แต่ยังมีอีกกว่า 6 แสนคันที่ยังไม่เปลี่ยน เปรียบเสมือนมีระเบิดอยู่หน้ารถของตัวเอง ที่น่ากลัวคือ ไม่ต้องชนหนัก เพียงชนแรงพอที่จะให้ถุงลมนิรภัยทำงาน มันก็จะสร้างแรงอัดที่รุนแรงจนเศษโลหะแตกออกและพุ่งใส่ร่างกายคนได้ นอกจากนี้ปัญหาความเสี่ยงจะมากขึ้นหากเป็นรถยนต์ที่ใช้งานมานานและอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ออกมาเรียกร้องให้บริษัทรถยนต์ทั้ง 8 บริษัท ประกอบด้วย Honda, BMW, Nissan, Toyota, Mitsubishi, Mazda, Chevrolet และ Ford ซึ่งได้มีการขายรถยนต์รุ่นต่างๆ ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยทาคาตะ เร่งดำเนินการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยให้มีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แล้วเจ้าของรถควรทำอย่างไร
- ตรวจสอบเบื้องต้น เข้าเว็บไซต์ www.checkairbag.com
- จากนั้นกรอกยี่ห้อรถยนต์และกรอกหมายเลขตัวถัง (ดูได้จากสมุดจดทะเบียนรถยนต์หรือที่ตัวถังรถยนต์)
- สำหรับคนที่ไม่สะดวกจะเช็กด้วยตนเอง สามารถโทรขอความช่วยเหลือที่ศูนย์รถยนต์ของท่านให้ช่วยเช็กข้อมูลได้
- นำรถไปที่ศูนย์รถยนต์เพื่อเปลี่ยนถุงลมนิรภัยได้ฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่นใด
- หากถูกปฏิเสธไม่รับเปลี่ยนถุงลมนิรภัยหรือถูกเรียกเก็บค่าบริการ สามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โทรสายด่วน 1166 และร้องเรียนออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ https://complaint.ocpb.go.th หรือสภาองค์กรของผู้บริโภค www.tcc.or.th
ข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการรถยนต์
- บริษัทรถยนต์ควรจัดให้มีการประชาสัมพันธ์แก่ผู้ใช้รถยนต์ให้ทั่วถึง เนื่องจากเป็นความรับผิดชอบที่บริษัทเหล่านี้ควรดูแล ซึ่งมีประชาชนอีกกว่า 6 แสนคันที่ยังไม่ได้รับรู้ถึงอันตรายหรือมาเปลี่ยนถุงลมนิรภัย
- บริษัทควรขอความร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อช่วยเตือนเจ้าของรถที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยไม่ได้มาตรฐานข้างต้น ก่อนต่อทะเบียนรถในแต่ละปี
- เต็นท์ขายรถยนต์มือสองควรนำรถยนต์ทั้ง 8 ยี่ห้อในรุ่น-ปีที่มีปัญหา เข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยก่อนที่จะขาย
- บริษัทบริการรถเช่าในแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ ควรนำรถเช่าทั้ง 8 ยี่ห้อในรุ่น-ปีที่มีปัญหา เข้ารับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัย เพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตนักท่องเที่ยว
ส่วนข้อแนะนำสำหรับผู้ขับรถทั่วไป รถยนต์ที่มีสัญลักษณ์ SRS ในรูปแบบต่างๆ ขึ้นที่หน้าปัดรถยนต์โดยจะสว่างขึ้นเมื่อสตาร์ทรถยนต์ ประมาณ 5 วินาที สัญลักษณ์นี้ก็จะดับลง นั่นหมายความว่าถุงลมนิรภัยจะทำงานร่วมกับเข็มขัดนิรภัย ดังนั้นควรคาดเข็มขัดนิรภัยในระหว่างขับขี่เสมอ เพื่อให้ถุงลมทำงานเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หากสัญลักษณ์ SRS สว่างขึ้นหรือกะพริบตลอดเวลาในระหว่างขับขี่ แสดงว่าถุงลมนิรภัยทำงานผิดปกติ ควรดับเครื่องยนต์และสตาร์ทใหม่อีกครั้ง ถ้ายังคงมีอาการไฟสัญลักษณ์ดังกล่าวติดค้างอยู่ ควรรีบนำรถยนต์เข้าตรวจเช็กเพื่อความปลอดภัยทันที