×

วิสัยทัศน์ 4 แคนดิเดตชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. จากเวทีสาธารณะ หมอกระต่าย ต้อง (ไม่) ตายฟรี

04.02.2022
  • LOADING...
Candidate

วันนี้ (4 กุมภาพันธ์) มูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ภาคีเครือข่ายลดอุบัติเหตุ จัดเวทีสาธารณะ หมอกระต่าย ต้อง (ไม่) ตายฟรี ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน เพื่อร่วมรำลึกถึงหมอกระต่าย พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ที่เสียชีวิตเพราะถูกรถจักรยานยนต์ชนขณะเดินข้ามทางม้าลาย

 

ในเวทีสาธารณะหมอกระต่ายต้อง (ไม่) ตายฟรี ได้เชิญว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) 4 คน ประกอบด้วย

  1. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ 
  2. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ 
  3. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล 
  4. รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ 

 

ร่วมแสดงวิสัยทัศน์คนละ 5 นาที ถ้าเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะทำอะไร ภายในเวลาเท่าไร เพื่อจะนำเทปที่บันทึกไปทวงถามหลังเป็นผู้ว่าฯ กทม. แล้ว 90 วัน  

 

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

 

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อันดับแรกในฐานะผู้ว่าฯ กทม. ถ้ามีเหตุแบบที่เกิดขึ้นกับคุณหมอกระต่าย กทม. ในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ เจ้าของถนน จำเป็นต้องลงไปดูแล้ว เรามีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจราจร เรามีผู้เชี่ยวชาญอยู่ในสำนักการโยธา แต่วันนี้ยังไม่เห็นเลย นั่นหมายความว่าเรายังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงที่จะนำไปสู่การป้องกันในอนาคต เพราะฉะนั้นในวันแรกถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ท่านจะเห็นทีมของ กทม. ต้องไปดูทันทีว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น แต่วันนี้ยังไม่เห็นเลย ขณะที่ระบบความปลอดภัยบนท้องถนนมีแพ็กเกจขององค์การอนามัยโลกอยู่ชัดเจน ท่านไปดาวน์โหลดได้เลย  

 

ข้อที่ 2 ที่ต้องทำทันทีคือการสังคายนาทางม้าลายทั่ว กทม. โดยผู้เชี่ยวชาญไม่ใช่ใครก็ได้ ต้องเป็นคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเรื่องความปลอดภัยจริงๆ การสังคายนาจะทำให้เสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งจะรวมประชาชนซึ่งใช้ถนน ถ้ารู้ว่าตรงไหนมีความเสี่ยงจะจัดการโดยใช้มาตรฐานสากล ไม่ใช่รอให้สูญเสียแล้วไปแก้ไข 

 

องค์การอนามัยโลกข้อที่ 1 คือ สปีดความเร็ว กทม. เรายังจำกัดความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเมือง เป็นความเร็วที่สุดในอาเซียน 

 

แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ ความเร็ว 30-40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น นั่นหมายความว่าเขาวิเคราะห์มาแล้วว่า โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุเริ่มต้นจากความเร็ว ท่านจะเห็นการจำกัดความเร็วที่เป็นมาตรฐานบนพื้นผิวการจราจรบนสัญญาณว่าไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหน้าโรงพยาบาลและโรงเรียน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในชุมชน 

 

ข้อสุดท้าย คุณหมอกระต่ายอาจจะไม่สูญเสียก็ได้ องค์การอนามัยโลกบอกว่า สำคัญที่สุดก็คือ Survive After Crash ลองคิดดูถ้าเราช่วยชีวิตในช่วงวินาทีนั้นได้ทัน เราจะเห็นเลยว่าในเมืองที่พัฒนาแล้ว นอกจากสัญญาณไฟจราจรที่มาตรฐานองค์การอนามัยโลกโดยผู้เชี่ยวชาญ จะเห็นปุ่ม SOS ทันที ตรงนี้จะช่วยให้โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ไม่ใช่หน่วยกู้ภัยธรรมดาเข้าถึงตรงนั้น 

 

และสุดท้าย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะทางม้าลายในกรุงเทพฯ ไม่เคยศักดิ์สิทธิ์ วันนี้ถ้าใครทำผิดกฎหมาย ท่านไม่ต้องดาวน์โหลดแอป แค่แปะคิวอาร์โค้ดที่เสา ถ่ายปุ๊บสามารถแจ้งได้ทันที ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มข้น เท่าเทียม

 

นี่คือสิ่งที่ผมตั้งใจทำให้เกิดขึ้น ทั้งหมดนี้ภายใน 6 เดือน

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ กล่าวว่า ต้องตระหนักหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. หรือคนที่อาสามารับใช้ประชาชน ไม่ใช่แค่เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล แต่คือชีวิตของพี่น้องประชาชน ไม่ได้มีแค่เรื่องทางม้าลาย แต่มีหลายมิติ ซึ่งบางทีเราไม่ได้นึกถึง 

 

กรณีหมอกระต่าย สาเหตุ 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือเรื่องลักษณะทางกายภาพ เรื่องนี้ กทม. รับผิดชอบโดยตรงจะปฏิเสธไม่ได้ 

 

เรื่องที่ 2 คือระเบียบวินัยจราจร มีหลายหน่วยงาน มีตำรวจ มีกรมขนส่งทางบก แต่ กทม. ต้องเข้าไปช่วย 

 

ข้อเสนอ 4 เรื่อง 

 

เรื่องที่ 1 เรื่องทางกายภาพ มาตรฐานทางม้าลายที่ กทม. ต้องไปดำเนินการให้ได้มาตรฐาน จุดหยุดอยู่ตรงไหน ความเข้ม การขีดสีตีเส้น แสงสว่างให้เพียงพอ สัญญาณเตือนก่อนถึง มีไฟแดงไหม ไฟกะพริบ เรามีสัญญาณไฟจราจร มีทางข้าม 4,160 แห่งในกรุงเทพฯ มีสัญญาณไฟแค่ 226 แห่ง มีไฟกะพริบ 822 แห่ง อีก 2,000 แห่งไม่มีอะไรเลย ฉะนั้นต้องมีมาตรฐานให้ชัดว่าจะทำอย่างไร และรวมไปถึงมาตรฐานอื่น เช่น ป้ายบอกความเร็ว เหตุการณ์หมอกระต่ายเกิดจากการทำผิดกฎจราจรที่ใช้ความเร็วเกิน

 

คิดว่า 3 เดือนแรก จุดที่เสี่ยงทั้งหมดอย่างน้อย 800 แห่งต้องเสร็จทั้งหมด จากนั้น 1 ปี 4,160 จุดต้องเรียบร้อย 

 

เรื่องที่ 2 กทม. ต้องรณรงค์กับทาร์เก็ตกรุ๊ปก่อน เพราะว่า กทม. ต้องคุยกับกลุ่มใหญ่ก่อน มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 80,000 คัน กลุ่มรับส่งอาหาร กลุ่มรถสาธารณะ ให้หยุดทางม้าลาย รณรงค์กลุ่มเป้าหมายหลัก ทำได้เลย คนส่วนใหญ่จะเริ่มหยุดมากขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปีแรก พอ 4 ปีจะเห็นผล 

 

เรื่องที่ 3 กทม. ต้องเป็นเจ้าภาพ ใช้เทคโนโลยีมาช่วย ใช้กล้องจับคนทำผิดจราจร ไม่ต้องรอตำรวจมาจับ เอากล้องจับตรงแยกทุกทางม้าลาย คนทำผิดตรงทางม้าลาย ควบคุมมาตรฐานจราจร 

 

เรื่องที่ 4 สุดท้าย กทม. ต้องเป็นผู้ดูแลผิวการจราจร ถ้าทางม้าลายจางต้องรับผิดชอบ มีเทศกิจ 3,000 คนช่วยดูความปลอดภัยด้วย พี่น้องคนกวาดถนนเกือบหมื่นคนช่วยดูความปลอดภัยจุดมืดที่มีความเสี่ยง 

 

ทั้ง 4 ปัจจัย 1 ปีเห็นผล  

 

ภารกิจผู้ว่าฯ กทม. ไม่ใช่มาเพื่อเป็นเกียรติประวัติ แต่มาเพื่อความรับผิดชอบต่อชีวิตพี่น้องประชาชน

 

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

 

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล กล่าวว่ามีสองเรื่องในการคืนสิทธิการข้ามถนนอย่างปลอดภัยให้คนกรุงเทพฯ เรื่องแรกทำได้เลย ปรับปรุงทางม้าลายทั้งหมด 4,160 แห่งให้มีความปลอดภัยตามโครงสร้างทางวิศวกรรมจราจรที่ถูกต้อง ความชัดเจนเส้นต่างๆ ไฟส่องสว่าง การติดตั้งกล้องจับความเร็วกล้อง CCTV หรือการติดเส้นชะลอความเร็ว การทำพื้นผิวให้มีลักษณะสั่นสะเทือน เพื่อเตือนให้รู้ว่ากำลังจะถึงทางม้าลาย และการติดตั้งสัญลักษณ์ต่างๆ

 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสัญญาณไฟคนข้าม ซึ่งเราต้องยอมรับว่ามันมีความจำเป็นจริงๆ แล้วก็งบประมาณของ กทม. เรื่องนี้น่าตกใจมากๆ งบปี 2565 เรามีงบเพียง 20 ล้านบาท เพื่อทำสัญญาณไฟคนข้ามอีก 54 จุดเท่านั้นเอง ดังนั้นในจุดที่มีคนข้ามหนาแน่น จำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณ แล้วการทาสีตีเส้นยิ่งน่าตกใจ 4,160 แห่งทำไปแล้วแค่ 621 แห่ง และในปี 2565 จะทำเพิ่ม 117 แห่ง รวมแล้ว 738 แห่ง ซึ่งไม่ถึง 20% ของทางข้ามทั้งหมด ตรงนี้ต้องเพิ่มงบประมาณและเร่งทำทันที

 

และสิ่งที่สำคัญต่อมา การตรวจตราให้อยู่ในสภาพปกติ เราไม่ต้องมีคนทำเพิ่ม เรามีรถเก็บขยะ เรามีรถรดน้ำต้นไม้ทำความสะอาดถนน ถ้าเราตั้งกล้องติดตั้งระบบตรวจจับ เราสามารถที่จะยกคุณค่าพนักงาน กทม. เจ้าหน้าที่ กทม. ให้เขามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจตราให้ทางม้าลายมีความปลอดภัย มีบทบาทสำคัญในการปกป้องชีวิตคน กทม. ซึ่งนี่คือหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ และเป็นการเพิ่มความสำคัญให้พวกเขาทำหน้าที่ได้อย่างภาคภูมิใจ 

 

หน้าที่ที่ต้องเน้นอย่างมากคือความใส่ใจ มีอุปกรณ์ทันสมัย มีกฎหมาย ต้องบังคับใช้กฎหมาย อย่าผลักภาระให้เหยื่อ เมื่อมีอุบัติเหตุ กทม. มีกล้องต้องรวมหลักฐานส่งตำรวจเพื่อบังคับใช้กฎหมาย นี่คือสิ่งที่ กทม. ต้องทำ รวมถึงหมวกกันน็อก การบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องจำเป็น ผู้ว่าฯ กทม. ต้องทำให้ได้ 

 

มีตัวเลขที่น่าตกใจ ใบสั่งส่งไปรษณีย์ 13 ล้านใบ มีคนมาจ่ายค่าปรับ 1 ล้านใบ ผู้ว่าฯ ต้องเชื่อมกรมการขนส่งทางบกกับกองบังคับการตำรวจจราจร ให้มีการบังคับใช้กฎหมายจริง ใครไม่จ่ายค่าปรับต้องมีอุปสรรคในการต่อทะเบียนระยนต์ นี่คือสิ่งที่จะทำภายใน 6 เดือนหากเป็นผู้ว่าฯ กทม.

 

รสนา โตสิตระกูล

 

รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ กล่าวว่า เสนอตัวลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. สิ่งที่สำคัญคือการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมทั้งหมดใน กทม. เข้ามามีส่วนร่วม การไม่ปฏิบัติเพราะเราไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม พอหย่อนบัตรเลือกผู้ว่าฯ หรือเลือกผู้บริหารประเทศ จะกลายเป็นคนหมดอำนาจหลังหย่อนบัตร

 

จะขอเป็นตัวแทนผู้ไม่มีอำนาจ ไม่ใช่เฉพาะคนจน แต่คนรวยๆ คนมีการศึกษาสูงๆ ก็ไม่มีอำนาจ ไม่มีอำนาจเรียกร้องว่าชีวิตของเราสำคัญ แต่ทำไมการพัฒนาของเราจึงให้ความสำคัญกับรถมากกว่าการสัญจรของผู้คน เพราะฉะนั้นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะการที่เราจะปกป้องชีวิตของคนสัญจรให้ปลอดภัย นอกจากโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ฮาร์ดแวร์ เราต้องมีส่วนที่เป็นซอฟต์แวร์ให้รถหยุด เช่น ระบบตัดคะแนนคนขับรถ การตัดคะแนนเมาแล้วขับ ไม่หยุดป้ายทางม้าลาย เมื่อถูกตัดถึงเกณฑ์ที่กำหนดก็จะถูกยึดใบขับขี่ ต้องไปสอบใหม่ ฉะนั้นคิดว่าปัญหาใหญ่ที่สุดคือความไม่สุจริต ทำให้คนมีเงินสามารถจ่ายเงินแล้วไม่ติดคุกได้ หรือถูกยึดใบขับขี่ก็ไปเอากลับมาได้ หรือไม่ต้องสอบก็ได้ใบขับขี่ สิ่งเหล่านี้ต้องหมดไป 

 

ต้องมีบุคคลเป็นหูเป็นตา ไม่ใช่แค่ข้าราชการ พนักงาน กทม. แต่ประชาชนทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม สามารถถ่ายรูปลงโซเชียล หรือมีระบบส่งให้ส่วนกลางเพื่อปรับคะแนน ลงโทษ การสร้างสิ่งแวดล้อมทางการเมือง สังคม เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ฉะนั้นถ้าได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ จะร่วมมือกับทุกกลุ่มในสังคมที่ใส่ใจเรื่องความปลอดภัย เรามาคิดร่วมกันว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ภายใน 1 ปีเราจะสามารถรวบรวมความเห็นทั้งหมดของทุกชุมชน ในการบอกว่า กทม. ต้องทำอะไร 

 

เราจะไม่ใช่คุณพ่อรู้ดีคุณแม่รู้ดีทำเอง แต่เราจะทำในสิ่งที่ประชาชนชี้ปัญหาให้กับเรา บอกวิธีแก้ไข จะสนับสนุนทุกอย่างที่ประชาชนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนจะได้รับความเป็นธรรม     

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

เกาะติดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ Facebook: THE STANDARD

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X