×

ถอดบทเรียนการกลับคืนสู่ฟุตบอลโลกครั้งแรกในรอบ 36 ปีของทีมชาติแคนาดา

28.03.2022
  • LOADING...
แคนาดา

รีแอ็กชันและน้ำตาของ อัลฟอนโซ เดวีส์ น่าจะบ่งบอกถึงความรู้สึกในใจของแฟนฟุตบอลชาวแคนาดาทุกคน – หรือหากพูดในภาษาพวกเขาคือแฟน​ ‘ซอกเกอร์’ – ได้อย่างดี

ด้วยอาการป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบตั้งแต่เดือนมกราคม ทำให้ซูเปอร์สตาร์หมายเลขหนึ่งของทีมชาติแคนาดายังไม่สามารถกลับไปช่วยทีมได้ แต่ดาวเตะบาเยิร์น มิวนิกลุ้นติดขอบจอไปกับแฟนบอลทุกคนผ่านการถ่ายทอดสดทางช่องโซเชียลมีเดียของตัวเอง ซึ่งเมื่อสิ้นเสียงนกหวีดสุดท้ายในเกมที่ ‘The Maple Leafs’ เอาชนะจาเมกาได้ขาดลอย 4-0 ในศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนอเมริกาเหนือ (CONCACAF) เดวีส์ก็ระเบิดความรู้สึกออกมาด้วยความตื้นตันใจ

ถึงจะอายุแค่ 21 ปี เกิดไม่ทันกับเรื่องราวในวันเก่า แต่การที่เขามีส่วนกับทีมที่พยายามก่อร่างสร้างตัวด้วยกันมาจนสามารถนำทีมชาติแคนาดาไปปรากฏตัวในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 2022 ซึ่งจะมีขึ้นที่ประเทศกาตาร์ในช่วงปลายปีนี้ได้ ก็ทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมเดวีส์ถึงดีใจขนาดนั้น

เช่นเดียวกับแฟนๆ ในแคนาดา ที่ไม่ใช่ทุกคนจะเกิดทันในยุคที่แคนาดาผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกที่ประเทศเม็กซิโกเมื่อปี 1986 หรือเมื่อ 36 ปีก่อน แต่ความสำเร็จครั้งนี้คือความสำเร็จที่คนทั้งชาติภาคภูมิใจ

แคนาดาทำอย่างไรจึงเปลี่ยนทีมฟุตบอลที่เคยเป็นความอับอายของประเทศให้กลับมาเป็นทีมที่ดีและมีความหวังแบบนี้?

 

⚽️ อิทธิพลของฟุตบอลลีกอาชีพ MLS

 

ปัจจัยแรกที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเปลี่ยนแปลงถึงฐานราก คือการที่ชาวแคนาดามีฟุตบอลอาชีพ

โดยถึงแม้จะไม่ใช่ลีกฟุตบอลอาชีพของตัวเองทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่การที่เมเจอร์ลีกซอกเกอร์ (MLS) เปิดรับทีมฟุตบอลจากแคนาดาอย่างโทรอนโต เอฟซี เข้ามาเป็นหนึ่งในแฟรนไชส์ของการแข่งขันเมื่อปี 2007 ทำให้อย่างน้อยแคนาดากลับมามีทีมฟุตบอลอาชีพเป็นของตัวเองอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ฟุตบอลแคนาดาเคยอยู่ร่วมกับ NASL หรือ North American Soccer League แต่ลีกแห่งนี้ล่มสลายไปในปี 1984 และจากนั้นลีกฟุตบอลอาชีพของพวกเขาก็ล่มสลายตามไปด้วยในปี 1992 ซึ่งการล่มสลายของฟุตบอลอาชีพทำให้วงการฟุตบอลแคนาดาประสบปัญหาอย่างหนัก

อย่าว่าแต่นักฟุตบอลที่ไม่มีอาชีพและจำเป็นต้องสู้เพื่อหาเลี้ยงตัวเอง โค้ชก็เช่นกัน ขณะที่เด็กๆ ถึงจะชอบเตะฟุตบอล แต่ก็ไม่มีความหวังที่จะต่อยอดได้มากนัก เพราะไม่มีเส้นทางสำหรับการก้าวขึ้นมาสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพ

การที่มีโทรอนโต เอฟซี เป็นการเปิดประตูแห่งความหวังของพวกเขาอีกครั้ง มีอคาเดมีของตัวเองที่เริ่มออกดอกออกผล มีนักเตะจากทีมติดทีมชาติครั้งแรกในปี 2011 ในปีเดียวกับที่แวนคูเวอร์ ไวท์แคปส์ เป็นแฟรนไชส์ที่ 2 ที่ได้เข้าร่วมกับ MLS และตามด้วยมอนทรีออล อิมแพ็คในอีก 1 ปีต่อมา

รากฐานเหล่านี้ช่วยให้วงการฟุตบอลแคนาดากลับมาแข็งแกร่งขึ้น มีความหวังมากขึ้น

นักเตะในทีมชุดปัจจุบันอย่าง อัลฟอนโซ เดวีส์, แซม อเดคุกเบ, โจนาธาน โอโซริโอ, เลียม เฟรเซอร์ และ โดเนียล เฮนรี ต่างก็เคยมีประสบการณ์กับอคาเดมีทีมของแคนาดาใน MLS มาก่อนจะเริ่มต้นเส้นทางฟุตบอลอาชีพของตัวเอง

 

⚽️ ลมหายใจใหม่และความเป็นมืออาชีพ

 

ปัญหาของทีมฟุตบอลจากอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเผชิญก่อนหน้านี้ คือ พวกเขาขาดองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการเล่นฟุตบอลที่ถูกต้อง

ฟุตบอลฉบับทีมชาติแคนาดาจึงเป็นฟุตบอลทื่อๆ ไม่มีเทคนิค ไม่มีแท็กติก เล่นกันซื่อๆ ทรงๆ ไม่ได้น่าดูอะไรนักตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 80 มาจนถึงปีมิลเลนเนียล 2000 

จุดเปลี่ยนมาเริ่มในช่วงหลังจากปี 2009 ที่โค้ชรุ่นใหม่อย่าง สตีเฟน ฮาร์ต เข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในทีมด้วยองค์ความรู้ใหม่ๆ แคนาดากลายเป็นทีมที่เล่นฟุตบอลในแบบทันสมัย (Modern Soccer) เน้นการครองบอล เน้นการผ่านบอลอย่างรวดเร็ว 

ฮาร์ต ซึ่งเป็นชาวตรินิแดดโดยกำเนิด ยังต้อนรับความหลากหลายทางเชื้อชาติด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนักฟุตบอลแคนาดาส่วนมากจะมีพื้นเพที่หลากหลายแต่ไม่กล้าที่จะแสดงตัวตนนัก จนเมื่อมีโค้ชที่เข้าใจในเรื่องความหลากหลายของเชื้อชาติและสนับสนุนการ ‘ปลดปล่อยตัวเอง’ ออกมา ทำให้ทุกคนเล่นอย่างมั่นใจ

การมาของฮาร์ตจึงเหมือนลมหายใจใหม่ที่ปลุกทีมชาติแคนาดาอีกครั้ง แม้ว่าฉากสุดท้ายของเขาคือการพ่ายแพ้ต่อฮอนดูรัสย่อยยับถึง 1-8 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ถือว่ามีคุณูปการอย่างยิ่ง

นอกเหนือจากแนวทางใหม่ของโค้ชอย่างฮาร์ตที่ทำให้เห็นว่าแคนาดาก็เล่นไม่น่าเบื่อได้ ต้องให้เครดิตกับสมาคมฟุตบอลแคนาดาด้วยที่ปรับเปลี่ยนการทำงานของตัวเอง จากองค์กรที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพเลยมาเป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยมืออาชีพ

ปัญหาพื้นฐานง่ายๆ ที่เคยบ่อนทำลาย คือ เรื่องการจัดโปรแกรมที่วุ่นวายทับซ้อนจนนักฟุตบอลเองก็สับสนและพานไม่อยากจะมาเล่นให้ทีมชาติเป็นการหมดไป

จากนั้นคือเรื่องของการจ้าง ‘มืออาชีพ’ เข้ามาทำงาน มากกว่าจะพึ่งพาแต่อาสาสมัครที่ขาดความรู้ความเข้าใจ จัดการดูแลสวัสดิภาพของนักฟุตบอลและสตาฟฟ์ และพยายามหาสปอนเซอร์เข้ามาช่วยสนับสนุน ทำให้ทีมมี ‘พลัง’ ที่จะก้าวเดินต่อไป ซึ่งถือเป็นผลงานของ วิกเตอร์ มอนตายานี นายกสมาคมในช่วงปี 2012-2016 ก่อนจะก้าวไปเป็นประธานของ CONCACAF ในเวลาต่อมา

เวลานี้นักฟุตบอลทีมชาติแคนาดาไม่เกี่ยงยามที่ได้รับการเรียกตัวติดทีมชาติอีกแล้ว เพราะพวกเขารู้ดีว่าสมาคมทำงานอย่างมืออาชีพ และพวกเขาจะได้รับการดูแลที่ดี

 

⚽️ นักเตะโอนสัญชาติและโค้ชที่พวกเขารอคอย

 

อีกหนึ่งสิ่งที่มอนทายานีทำคือการเปิดรับนักฟุตบอล 2 สัญชาติ หรือพูดง่ายๆ คือ ยินดีต้อนรับนักฟุตบอลที่จะโอนสัญชาติมาเล่นให้กับทีมชาติแคนาดา

ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือ ‘ทางลัด’ สำหรับการไปสู่ความสำเร็จในระดับทีมชาติที่ง่ายขึ้น และไม่ถึงกับเป็นของใหม่ในวงการแต่อย่างใด ซึ่งแม้ในช่วงแรกจะไม่เวิร์กนักภายใต้การนำของโค้ชอย่าง เบนิโต ฟลอโร แต่ในช่วงนั้นคือการ ‘ปูพื้นฐาน’ ให้สำหรับคนที่จะรับช่วงต่อมา

และคนที่รับช่วงต่อมาอย่าง จอห์น เฮิร์ดแมน คือคนที่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตจากเรื่องนี้ เมื่อมีนักเตะกลุ่มโอนสัญชาติที่ก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของทีมหลายราย ไม่ว่าจะเป็น สตีเวน วิโตเรีย และ สกอตต์ อาร์ฟิลด์ ซึ่งเป็นนักฟุตบอลตัวเยาวชนทีมชาติโปรตุเกสและสกอตแลนด์ตามลำดับ จากนั้นคือ จูเนียร์ ฮอยเล็ตต์ ที่ปฏิเสธการเล่นให้ทีมชาติจาเมกาและเลือกแคนาดาแทน

กลุ่มข้างต้นคือชุดที่ผ่านการเล่นกับฟลอโรมาก่อน จากนั้นคือผลงานการคัดสรรของเฮิร์ดแมนโดยตรงอย่าง สตีเฟน ยูสตากวิโอ, อิเค อักโบ และ อาโย อคิโนลา 

แต่เฮิร์ดแมนไม่ได้ทำแค่การเก็บเกี่ยวผลผลิต เพราะในความเป็นจริงแล้วเขาคือคนที่เปลี่ยนสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ โดยนับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งในปี 2018 เป็นต้นมา โค้ชคนนี้คือคนที่ใส่ความเชื่อให้แก่ทุกคนว่า “แคนาดาจะไปฟุตบอลโลก 2022 ได้แน่นอน”

สิ่งที่เฮิร์ดแมนทำคือการหลอมรวมนักเตะทุกคนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตระเตรียมทีมด้วยความใส่ใจในทุกรายละเอียด มีการศึกษาออกแบบกลยุทธ์การเล่นของแคนาดาเป็นอย่างดี และรู้จักวิธีที่จะกระตุ้นลูกทีม 

ตามคำบอกเล่าของฮอยเล็ตต์แล้ว ภายใต้กุนซือคนนี้แคนาดามี Brotherhood Culture จะไม่มีใครที่คิดถึงผลประโยชน์ของตัวเอง ทุกคนมาเพื่อทำหน้าที่เดียว คือ การเล่นเพื่อทีมชาติแคนาดาเท่านั้น

สิ่งเหล่านี้เมื่อรวมกับนักฟุตบอลพรสวรรค์อย่าง อัลฟอนโซ เดวีส์, ริชี ลาร์เยีย, โจนาธาน เดวิด ทำให้แคนาดากลายเป็นทีมที่เต็มไปด้วยพลังของคนหนุ่ม ความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นหนึ่งเดียวกัน

และนี่คือสิ่งที่ทำให้แคนาดาได้กลับไปปรากฏตัวในฟุตบอลโลกอีกครั้งหลังจากห่างหายไปนานถึง 36 ปี ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้ของพวกเขาจะกลายเป็นหนึ่งในบทเรียนที่หลายสมาคมฟุตบอลทั่วโลกจะนำมาศึกษาอย่างแน่นอน

หวังว่าฟุตบอลไทยก็เช่นกัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X