×

รอยร้าวแคนาดา-อินเดีย ทำไมความสัมพันธ์สองประเทศถึงจุดตกต่ำ

20.09.2023
  • LOADING...

ความสัมพันธ์ระหว่างแคนาดาและอินเดียดำเนินมาถึงจุดตกต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ หลังจากที่ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา กล่าวอ้างว่า อินเดียอาจเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารนักเคลื่อนไหวชาวซิกข์คนสำคัญบนแผ่นดินแคนาดาในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และมีการขับนักการทูตอินเดียกลับประเทศ ก่อนที่ทางการอินเดียจะปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว และตอบโต้กลับด้วยการขับทูตแคนาดาออกนอกประเทศเช่นเดียวกัน ขณะที่การเจรจาด้านการค้าและความมั่นคงระหว่างทั้งสองประเทศก็ถูกเลื่อนออกไปก่อน

 

ความตึงเครียดดำเนินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

 

  1. กระแสความเคลื่อนไหวของชาวซิกข์พลัดถิ่นในต่างแดนที่เพิ่มสูงขึ้น

 

รอยร้าวในครั้งนี้เกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหวของชาวซิกข์พลัดถิ่นในต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น โดยชาวซิกข์ส่วนใหญ่มีความมุ่งหวังสูงสุดที่จะสร้างดินแดนของชาวซิกข์ที่รู้จักกันในชื่อ ‘คาลิสถาน’ (Khalistan) ซึ่งแนวคิดนี้แพร่หลายอย่างมากในอินเดียในช่วงทศวรรษ 1980 ก่อนที่จะถูกทางการอินเดียปราบปรามอย่างหนัก เนื่องจากมองว่าเป็นความพยายามก่อกบฏและแบ่งแยกดินแดน ส่งผลให้มีชาวซิกข์เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก 

 

จากประวัติศาสตร์ความรุนแรงในครั้งนั้น ส่งผลให้การเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ภายในรัฐปัญจาบ ซึ่งเป็นรัฐที่มีชาวซิกข์อาศัยอยู่มากที่สุดในอินเดีย ลดความเข้มข้นลง ในขณะที่พรรคการเมืองหลักของอินเดียทุกพรรคต่างแสดงจุดยืนต่อต้านแนวคิดนี้ทั้งสิ้น

 

แต่การเรียกร้องให้สร้างดินแดนคาลิสถานกลับดังขึ้นในหมู่ชาวซิกข์พลัดถิ่นในประเทศต่างๆ เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร จนทำให้ทางการอินเดียมักมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงต่อการเคลื่อนไหวดังกล่าวในต่างแดนอยู่บ่อยครั้ง

 

ทางการแคนาดาเคยแสดงจุดยืนต่อประเด็นนี้ โดยเน้นย้ำว่า “แคนาดาจะปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก และต่อต้านความเกลียดชัง” ขณะที่ทางการอินเดียก็เคยแสดงความกังวลใจเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมต่อต้านอินเดียของกลุ่มหัวรุนแรงในแคนาดา ซึ่งถูกมองว่าส่งเสริมการแบ่งแยกดินแดนและยุยงให้เกิดความรุนแรงต่อนักการทูตอินเดีย ด้วยจุดยืนที่แตกต่างกันนี้ จึงทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเริ่มสั่นคลอนเรื่อยมา

 

  1. การเสียชีวิตของนักเคลื่อนไหวชาวซิกข์คนสำคัญ

 

ประเด็นความตึงเครียดนี้ได้รับความสนใจเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น หลังนักเคลื่อนไหวชาวซิกข์คนสำคัญอย่างน้อย 3 คนเสียชีวิตติดต่อกันอย่างรวดเร็วในประเทศต่างๆ โดยเริ่มจาก ปารัมจิต สิงห์ ปันจวาร์ (Paramjit Singh Panjwar) หัวหน้ากองกำลัง Khalistan Commando Force ที่ถูกทางการอินเดียขึ้นบัญชีเป็นผู้ก่อการร้าย ถูกยิงเสียชีวิตในปากีสถาน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยยังไม่สามารถระบุตัวผู้ลงมือก่อเหตุได้ 

 

ขณะที่ อัฟตาร์ สิงห์ คานดา (Avtar Singh Khanda) หัวหน้ากองกำลัง Khalistan Liberation Force ที่เคยถูกตำรวจจับกุมจากเหตุประท้วงรัฐบาลอินเดียในกรุงลอนดอน เมื่อช่วงต้นปี 2023 ก็เสียชีวิตที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน โดยตำรวจระบุว่า การเสียชีวิตของคานดาไม่พบสิ่งที่น่าสงสัยแต่อย่างใด 

 

ในเวลาต่อมา ฮาร์ดีป สิงห์ นิจจาร์ (Hardeep Singh Nijjar) นักเคลื่อนไหวชาวซิกข์คนสำคัญในแคนาดาได้ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตบริเวณด้านนอกวัดซิกข์ในเมืองเซอร์เรย์ รัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา ในเดือนมิถุนายน

 

การเสียชีวิตของนิจจาร์สร้างความตกตะลึงและความโกรธแค้นอย่างมากให้กับชุมชนชาวซิกข์ในแคนาดา ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนชาวซิกข์ที่ใหญ่ที่สุดนอกอินเดีย โดยมีสมาชิกกว่า 770,000 คน

 

ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มเคลื่อนไหวคาลิสถาน (Khalistan Movement) ซึ่งเป็นกลุ่มนอกกฎหมายของอินเดีย และรัฐบาลอินเดียถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ จะถูกขึ้นบัญชีเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ โดยชื่อของนิจจาร์เองก็ปรากฏอยู่ในรายชื่อผู้ก่อการร้ายของกระทรวงมหาดไทยอินเดียเช่นเดียวกัน

 

การลอบสังหารนิจจาร์ทำให้รัฐบาลแคนาดาจะต้องยืนหยัดต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและลุกขึ้นต่อต้านประเทศพันธมิตรที่ทรงพลังอย่างอินเดีย พร้อมทั้งเปิดเผยว่า หน่วยข่าวกรองของแคนาดาพบหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าอินเดียอาจเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนิจจาร์ในครั้งนี้

 

แนวโน้มท่าทีของฝ่ายต่างๆ เป็นอย่างไร 

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แม้ตะวันตกจะมองว่าอินเดียมีความสำคัญอย่างมากในการป้องปรามและถ่วงดุลอำนาจกับจีน แต่ในขณะเดียวกันก็มีความกังวลเกี่ยวกับทิศทางการเมืองภายในประเทศของ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียไม่น้อย เพราะดูเหมือนว่าการโจมตีชนกลุ่มน้อยและข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากที่เขาชนะการเลือกตั้งและนั่งเก้าอี้รัฐบาล แต่อย่างไรก็ตาม ปมความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ ก็อาจไม่รุนแรงถึงขั้นที่ทำให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่างๆ ต้องหยุดชะงักลง หรือทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาตัดสินใจหันหลังให้กับรัฐบาลอินเดียได้

 

ทางด้าน ไมเคิล คูเกลมาน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียใต้ที่ Wilson Center ในวอชิงตัน ระบุว่า “จีนไม่ต้องการเห็นอินเดียพัฒนาและกระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่มีแนวคิดคล้ายๆ กันและมักกระตือรือร้นที่จะตอบโต้จีน และรัสเซียเองก็อาจมีความสุขที่เห็นแคนาดาจมอยู่กับวิกฤตในครั้งนี้” เนื่องจากแคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิดสหรัฐฯ และร่วมดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย จากกรณีรุกรานยูเครน

 

คำถามสำคัญต่อจากนี้คือทั้งแคนาดาและอินเดียจะแก้ไขจุดยืนที่แตกต่างกันนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าในทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้หรือไม่ ซึ่ง จินตมณี มหาพัตรา ผู้ก่อตั้งสถาบัน Kalinga ว่าด้วยอินโด-แปซิฟิก ศึกษาคาดการณ์ว่า “แม้ประเด็นคาลิสถานอาจส่งผลกระทบต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ก็ไม่น่าจะทำให้ความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างแคนาดาและอินเดียต้องหยุดชะงักลง” พร้อมทั้งยังเตือนเกี่ยวกับท่าทีที่รุนแรง โดยเฉพาะจากฝั่งแคนาดา โดยระบุว่า “การไล่นักการทูตออกนอกประเทศ หมายความว่าคุณไม่ต้องการที่จะเจรจา ซึ่งปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการจัดการผ่านการเจรจาและการทูต ไม่ใช่การเผชิญหน้า”

 

ภาพ: Vipin Kumar / Hindustan Times via Getty Images 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X