×

ทำไมฉีดวัคซีนแล้วถึงยังติดโควิด-19 ต้องใช้เวลาเท่าไรร่างกายถึงจะสร้างภูมิคุ้มกัน

30.03.2021
  • LOADING...
ทำไมฉีดวัคซีนแล้วถึงยังติดโควิด-19

HIGHLIGHTS

  • วัคซีน AstraZeneca ที่เพิ่งแถลงผลการทดลองในอเมริกา มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 76% แต่ป้องกันอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ 100% เพราะฉะนั้นการ ‘ติดโควิด-19 หลังฉีดวัคซีน’ สามารถเกิดขึ้นได้ และยิ่งมีจำนวนคนฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ก็อาจมีข่าวทำนองนี้เกิดขึ้นได้อีก แต่คิดเป็นสัดส่วนที่น้อย (กรณีนี้คือ 1 ใน 1 แสนคน)
  • พาดหัวข่าว ‘ติดโควิด-19 หลังฉีดวัคซีน’ อาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นการติดเชื้อจากวัคซีนที่ฉีด แต่ความจริงเราไม่สามารถติดเชื้อจากวัคซีนที่ฉีดได้ เพราะโควิด-19 ติดต่อผ่านสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ ไม่ใช่การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และวัคซีนที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ ‘ไม่มี’ โควิด-19 ‘ที่มีชีวิต’ เป็นส่วนประกอบ
  • การติดเชื้อ ‘หลัง’ ฉีดวัคซีนจะมีความเป็นไปได้สูง หากผู้ป่วยได้รับเชื้อมาก่อนที่จะฉีดวัคซีน หรือฉีดวัคซีนไปแล้วยังไม่ครบ 2 สัปดาห์

เมื่อปลายสัปดาห์ก่อนมีข่าวผู้ป่วยโควิด-19 ระลอกใหม่ รายที่ 50 ของจังหวัดราชบุรี ‘ติดโควิด-19 หลังฉีดวัคซีนเข็มแรก’ ทำให้หลายคนกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนขึ้นมาอีกครั้ง เป็นไปได้หรือไม่ว่าผู้ป่วยจะติดเชื้อจากวัคซีน? หรือเป็นเพราะวัคซีนที่รัฐจัดหาให้มีประสิทธิภาพต่ำกว่าวัคซีนที่ฉีดในประเทศอื่น?

 

กรณีนี้ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรคได้ออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 ว่าจากการสอบสวนโรค ผู้ป่วยน่าจะได้รับเชื้อมาก่อนฉีดวัคซีน เพราะทำงานอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาด ดังนั้นแม้ว่าจะได้รับวัคซีน และหากรับเชื้อมาก่อนก็สามารถตรวจพบเชื้อได้ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า “ฉีดวัคซีนแล้ว ยังต้องสวมหน้ากากป้องกัน”

 

ไทม์ไลน์ผู้ป่วยรายที่ 50 จังหวัดราชบุรี

ผู้ป่วยเป็นแม่ค้าขายอาหารทะเลที่ตลาดกิตติ เขตบางแค กรุงเทพฯ ไม่ได้ไปทำงานตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม เพราะตลาดถูกสั่งปิด แต่เดินทางไปตลาดอีก 2 ครั้งเพื่อตรวจหาเชื้อในวันที่ 13 มีนาคม (ผลไม่พบเชื้อ) และเพื่อรับการฉีดวัคซีนในวันที่ 18 มีนาคม จากนั้นวันที่ 20 มีนาคม เข้ารับการกักตัวในสถานกักกันโรค (LQ) ของจังหวัดราชบุรี 

 

จนกระทั่งตรวจพบเชื้อในวันที่ 26 มีนาคม นับเป็นเวลา 8 วันหลังได้รับวัคซีน แต่ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีอาการ และผลการตรวจพบเชื้อในปริมาณน้อย นพ.โสภณจึงคาดว่าผู้ป่วยได้รับเชื้อก่อนฉีดวัคซีน 

 

สำหรับประเด็นระยะเวลาที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อ ในความเห็นของผู้เขียนระบุได้ยาก เพราะผู้ป่วยไม่มีอาการ ช่วงเวลาที่แน่นอนก็คือก่อนกักตัวใน LQ และสามารถย้อนได้ถึง 3 เดือนก่อนตรวจพบเชื้อ (เพราะการตรวจ PCR สามารถตรวจพบเชื้อในปริมาณน้อยได้นาน) แต่ความเป็นไปได้ก็น่าจะได้รับเชื้อจากในตลาด ซึ่งเป็นแหล่งของการระบาด

 

ทำไมฉีดวัคซีนแล้วถึงยังติดโควิด-19

ภาพที่ 1 ไทม์ไลน์ผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 หลังฉีดวัคซีน

(อ้างอิง: เพจสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดราชบุรี)

 

‘ติดโควิด-19 หลังฉีดวัคซีน’ เป็นไปได้หรือไม่

นโยบายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล มีวัตถุประสงค์ 3 อย่าง ได้แก่ เพื่อลดอัตราป่วยและตาย (ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยง) เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ (ฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์) และเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (ฉีดวัคซีนให้จังหวัดท่องเที่ยว) แต่สำหรับคนทั่วไปน่าจะมีความคาดหวังต่อวัคซีน 3 ข้อ คือ 

 

  • ป้องกันการติดเชื้อ เมื่อฉีดวัคซีนแล้วจะไม่ติดเชื้อเลย เพราะวัคซีนมีประสิทธิภาพ 100%
  • ลดความรุนแรงของโรค ถ้าป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ก็ ‘ผ่อนหนักให้เป็นเบา’ ป้องกันอาการรุนแรงจนต้องนอนห้องไอซียูหรือเสียชีวิต
  • สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เป็นภูมิคุ้มกันที่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบแล้ว คนส่วนน้อย เช่น ผู้ที่มีอายุไม่ถึงเกณฑ์ได้รับวัคซีน หรือมีข้อห้ามในการฉีด ก็จะได้รับการปกป้องไปด้วย

 

สำหรับวัคซีน Pfizer-BioNTech ซึ่งมีประสิทธิภาพ 95% เมื่อนำไปใช้กับประชาชนจำนวนมากที่อิสราเอลพบว่า สามารถป้องกันการติดเชื้อ 92% (ช่วงความเชื่อมั่นเท่ากับ 88-95%) และป้องกันอาการรุนแรงได้ 92% เท่ากัน แต่ก็แสดงให้เห็นว่าวัคซีนที่ดีที่สุดก็ยังไม่สมบูรณ์แบบ และก็ยังต้องติดตามต่อไปว่าเมื่อเวลาผ่านไปประสิทธิภาพจะลดลงหรือไม่

 

ส่วนวัคซีน AstraZeneca ที่เพิ่งแถลงผลการทดลองในอเมริกา มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 76% แต่ป้องกันอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ 100% เพราะฉะนั้นการ ‘ติดโควิด-19 หลังฉีดวัคซีน’ สามารถเกิดขึ้นได้ และยิ่งมีจำนวนคนฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ก็อาจมีข่าวทำนองนี้เกิดขึ้นได้อีก แต่คิดเป็นสัดส่วนที่น้อย (กรณีนี้คือ 1 ใน 1 แสนคน)

 

ทั้งนี้ ผมไม่ได้หมายความว่าเราควร ‘พอใจในสิ่งที่มี’ เพียงเพราะไม่มีวัคซีนชนิดใดมีประสิทธิภาพ 100% นะครับ แต่เพราะเรายังมีข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 น้อยมาก (เมื่อเทียบกับวัคซีนป้องกันโรคอื่น) และในเมื่อมีข้อมูลสนับสนุนว่าสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ก็เพียงพอแล้วที่จะตัดสินใจฉีดวัคซีนชนิดนั้นๆ

 

ติดโควิด-19 ‘หลัง’ ฉีดวัคซีน ไม่ใช่ ‘จาก’ วัคซีน

พาดหัวข่าว ‘ติดโควิด-19 หลังฉีดวัคซีน’ อาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นการติดเชื้อจากวัคซีนที่ฉีด แต่ความจริงเราไม่สามารถติดเชื้อจากวัคซีนที่ฉีดได้ เพราะเชื้อโควิด-19 ติดต่อผ่านสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ ไม่ใช่การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และวัคซีนที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ ‘ไม่มี’ เชื้อโควิด-19 ‘ที่มีชีวิต’ เป็นส่วนประกอบ ยกตัวอย่าง

 

  • วัคซีน Sinovac เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย คือผลิตจากไวรัสที่เพาะเลี้ยงขึ้นมา แต่ทำให้ตายแล้ว กลายเป็นชิ้นส่วนของไวรัส
  • วัคซีน AstraZeneca เป็นวัคซีนชนิดเวกเตอร์ไวรัส (Viral Vector) คือ ตัดต่อสารพันธุกรรมบางส่วนให้กับไวรัสอะดีโนที่ก่อโรคในลิงชิมแปนซี เพื่อเป็นพาหะนำเข้าสู่เซลล์ของร่างกาย จากนั้นร่างกายจะถอดรหัสออกมาเป็นโปรตีนหนาม (Spike Protein) ของไวรัสขึ้นมาแสดงที่ผิวเซลล์

 

เมื่อเม็ดเลือดขาวมาพบชิ้นส่วนของไวรัส (วัคซีน Sinovac) หรือโปรตีนหนาม (วัคซีน AstraZeneca) ก็จะเข้าไปจับกินแล้วขยายผลการจับกุมต่อให้กับเม็ดเลือดขาวอีก 2 ชนิด ในที่สุดจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันออกมาต้านไวรัส และการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จดจำเชื้อโควิด-19 ได้ แต่กระบวนการเหล่านี้ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์

 

ดังนั้นการติดเชื้อ ‘หลัง’ ฉีดวัคซีนจะมีความเป็นไปได้สูง หากผู้ป่วยได้รับเชื้อมาก่อนที่จะฉีดวัคซีน หรือฉีดวัคซีนไปแล้วยังไม่ครบ 2 สัปดาห์ นอกจากนี้วัคซีนส่วนใหญ่จะต้องฉีดเข็มที่ 2 กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันก่อนถึงจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ดีขึ้น เช่น วัคซีน Pfizer-BioNTech เข็มแรกมีประสิทธิภาพเพียง 46% ก่อนจะเพิ่มเป็น 92% ในเข็มที่ 2

ทำไมฉีดวัคซีนแล้วถึงยังติดโควิด-19

ภาพที่ 2 การสร้างภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ (อ้างอิง: Nature) 

 

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดต่อจาก 2 ย่อหน้าก่อนครับ เม็ดเลือดขาวชนิดแรกคือ APC (รูปร่างคล้ายปลาดาว) จับกินชิ้นส่วนของไวรัส แล้วนำไปบอกกับเม็ดเลือดขาวชนิด T-helper เพื่อไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวอีกชนิดชื่อ B Cell เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน (รูปตัว Y) ขึ้นมาจับกับไวรัส สุดท้ายจะกลายเป็นเม็ดเลือดขาวที่จดจำไวรัสได้ (Memory T & B Cell)  

 

การฉีดวัคซีนเปรียบเสมือน ‘คู่ซ้อม’ เลียนแบบการติดเชื้อในธรรมชาติ แต่ใช้เชื้อที่ตายแล้ว หรือโปรตีนหนามของไวรัสกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน เมื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 กระบวนการทั้งหมดก็จะเริ่มต้นอีกครั้ง แต่เม็ดเลือดขาวที่จดจำไวรัสได้ก็จะเริ่มทำงานทันที ทำให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วขึ้น หากเป็นการติดเชื้อจริงจึงสามารถป้องกันอาการรุนแรงได้

 

โดยสรุปสำหรับกรณีผู้ป่วยราชบุรีที่ติดโควิด-19 ‘หลังฉีดวัคซีน’ น่าจะเป็นการได้รับเชื้อตั้งแต่ก่อนฉีดวัคซีน การติดเชื้อในช่วงนี้ร่างกายจะยังไม่มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีน จึงทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ โดยภูมิฯ จะเริ่มขึ้นภายใน 2 สัปดาห์หลังจากฉีดเข็มแรก พาดหัวข่าวอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นการติดเชื้อ ‘จากวัคซีน’ ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้

 

สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว กรมควบคุมโรคยังคงแนะนำให้ปฏิบัติตัวเหมือนเดิม โดยเฉพาะการสวมหน้ากาก เพราะยังสามารถติดเชื้อจากผู้อื่น และแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ ในขณะที่ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ (ทั้งชาวไทยและต่างชาติ) ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วเกิน 2 สัปดาห์ ศบค. มีแผนผ่อนคลายมาตรการ โดยลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X