ตัวเลข #หายป่วยกลับบ้าน เป็นข่าวดี แต่ ‘ไม่บอก’ แนวโน้มการระบาด ถ้าตัวเลขนี้เพิ่มขึ้น หมายความว่ามีผู้ได้รับอนุญาตจากแพทย์ให้กลับบ้าน หรือผู้ที่แยกกักตัวครบ 14 วันแล้วเพิ่มขึ้น อาจแปลว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายจากโรคได้ หรือขยายความต่อว่า ‘ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง’ หรือ ‘การรักษามีประสิทธิผล’ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า ‘เป็นผลมาจากการล็อกดาวน์’
ก่อนหน้านี้บางหน่วยงานพยายามสื่อสาร ‘ข่าวดี’ ท่ามกลาง ‘ข่าวร้าย’ ในสถานการณ์การระบาดของโควิด นั่นคือยอดผู้หายป่วย ‘มากกว่า’ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ บางอินโฟกราฟิกนำยอดนี้ขึ้นมาเสนอเป็นแถวแรก บางครั้งมีอินโฟกราฟิกนำเสนอแนวโน้มผู้หายป่วยรายวันแยกออกมาต่างหาก หรือถ้าหากเข้าร่วมประชุมกับบางหน่วยงาน จะได้ยินผู้บริหารสั่งการให้ขยายตัวเลขนี้ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
ตัวเลขนี้บอกแนวโน้มการระบาดได้หรือไม่? หากอธิบายอย่างรวบรัดจากแบบจำลอง SEIR การระบาดของโควิดจะเริ่มต้นจาก ‘ผู้มีโอกาสได้รับเชื้อ’ (S) คือประชาชนทั่วไป เมื่อสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อจะกลายเป็น ‘ผู้สัมผัส’ (E) ซึ่งส่วนหนึ่งจะกลายเป็น ‘ผู้ติดเชื้อ’ (E) จากนั้นผู้ติดเชื้อจะเข้าสู่กระบวนการแยกกักและรักษาจนหายจากโรคเป็น ‘ผู้รักษาหาย’ (R) แต่บางรายมีอาการรุนแรงจนเสียชีวิต (D)
ดังนั้นตัวเลขที่บอกแนวโน้มการระบาดได้ดีกว่าคือ #ผู้ติดเชื้อเพิ่มวันนี้ เพราะอยู่ในลำดับก่อนที่จะ ‘หายป่วยกลับบ้าน’ (I เป็นลำดับก่อน R) ในขณะที่ผู้หายป่วยกลับบ้านจะขึ้นกับการรักษาและการบริหารเตียงระหว่างนั้นด้วย เช่น ผู้ที่มีอาการดีขึ้นจะได้กลับไปแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ต่อจนครบ 14 วัน หรือหากมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเดิมกลับบ้านมากขึ้นก็ได้
ส่วน #เสียชีวิตเพิ่มวันนี้ อยู่ในลำดับเดียวกับหายป่วยกลับบ้าน แต่จะการบริหารเตียงจะไม่มีผล เพราะผู้ติดเชื้อจะมีอาการแย่ลงตามการดำเนินโรค ดังนั้นตัวเลขนี้สามารถบอกแนวโน้มการระบาดได้ แต่จะมีความล่าช้าจากสาเหตุทั้งการดำเนินโรคที่ใช้เวลา 1-3 สัปดาห์หลังจากเริ่มมีอาการ หรือระบบรายงานที่ต้องรอผลการชันสูตร และมีข้อจำกัดตรงที่ผู้ติดเชื้อบางรายอาจเสียชีวิตนอกโรงพยาบาล
การควบคุมการระบาดจะต้องดำเนินการในทุกขั้นตอนระหว่าง S -> E -> I -> R/D ยกตัวอย่างการฉีดวัคซีนจะเป็นการลดจำนวนผู้มีโอกาสได้รับเชื้อ (หากวัคซีนมีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อ) มาตรการล็อกดาวน์ที่จำกัดการเดินทางของประชาชนเป็นการลดจำนวนผู้สัมผัสลง ซึ่งก็จะทำให้ผู้ติดเชื้อลดลงตามไปด้วย ดังนั้นตัวเลขที่บอกผลของการล็อกดาวน์ก็คือ #ผู้ติดเชื้อเพิ่มวันนี้ เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ ‘ที่รายงาน’ กับ ‘สถานการณ์จริง’ อาจไม่สอดคล้องกัน หากมีผู้ติดเชื้อคงค้างอยู่ในชุมชนจำนวนมากจากการไม่ได้ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR เช่น ผู้ที่ตรวจพบเชื้อด้วย ATK แต่ยังไม่ได้ตรวจยืนยันหรือรอผลตรวจอยู่ ผู้ที่เข้าไม่ถึงการตรวจ หรือผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ตัวเลขที่อาจนำมาใช้ประเมินสถานการณ์ร่วมกันคือจำนวนการตรวจและอัตราการตรวจพบเชื้อ
โดยสรุป ‘หายป่วยกลับบ้าน’ เป็นตัวเลขที่เป็นผลมาจากการรักษาและการบริหารเตียงเป็นหลัก ส่วนการเปรียบเทียบ ‘ผู้หายป่วย’ กับ ‘ผู้ติดเชื้อรายใหม่’ เป็นการประเมินภาระงานของระบบสาธารณสุข แต่ไม่สามารถบอกว่าเป็นผลมาจากการล็อกดาวน์ หรือไม่แม้แต่บอกแนวโน้มการระบาดได้ ในขณะที่ ‘ผู้ติดเชื้อเพิ่มวันนี้’ สามารถบอกได้ตรงไปตรงมากว่า โดยเฉพาะถ้าตรวจเชิงรุกให้เพียงพอ
อ้างอิง:
- รศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ และคณะ. ข้อคิดบางประการเกี่ยวกับการแปลผลความสำเร็จของมาตรการล็อกดาวน์ใน 29 จังหวัดสีแดงเข้มจากตัวเลขในรายงานประจำวันของศบค (ส.ค. 64)
- ติดโควิด-19 แล้วไปไหน รู้จัก Patient Journey: การเดินทางของผู้ป่วย และมาตรการระหว่างทาง
- สธ. แจงยอดหายป่วยแซงผู้ติดเชื้อ เหตุให้คนไม่มีอาการเข้า รพ. 10 วัน กลับไป Home Isolation หวังเอาผู้ติดเชื้อใหม่เข้าแทน เพราะแพร่เชื้อได้ง่ายกว่า
- สธ. แจงยอดเสียชีวิตจากโควิดนิวไฮ เนื่องจากตกหล่นตั้งแต่เมษายน บางรายเพิ่งได้ผลชันสูตร