×

กัมพูชายกเลิก ‘สวมมาสก์กลางแจ้ง’ หลังประชากรส่วนใหญ่ในประเทศฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว

โดย THE STANDARD TEAM
27.04.2022
  • LOADING...
กัมพูชา

วานนี้ (26 เมษายน) ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประกาศยกเลิกคำสั่งบังคับสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่เปิดโล่งทั่วประเทศโดยมีผลบังคับใช้ทันที หลังจากประชากรส่วนใหญ่ในประเทศได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว

 

ฮุน เซนเผยว่า ประชาชนตัดสินใจได้เองว่าจะสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่กลางแจ้งหรือไม่ ส่วนพื้นที่ปิดในร่มที่มีเครื่องปรับอากาศ เช่น ห้องประชุมและโรงภาพยนตร์ จะยังบังคับสวมหน้ากากอนามัยต่อไป โดยเขาหวังว่าการยกเลิกนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินของชาวกัมพูชา ซึ่งต้องใช้เงินราว 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 100 ล้านบาท) ต่อเดือนในการซื้อหน้ากากอนามัย

 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขกัมพูชารายงานการตรวจพบผู้ป่วยโควิดเพิ่มเพียง 2 รายเมื่อวานนี้ โดยไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตรายใหม่ ทำให้กัมพูชามีผู้ป่วยสะสม 136,230 ราย ซึ่งรวมถึงผู้เสียชีวิต 3,056 ราย ด้านกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของประเทศ ไม่ตรวจพบผู้ป่วยใหม่เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี

 

ฮุน เซนชี้ว่า อัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดที่แข็งแกร่งส่งผลให้ผู้ติดเชื้อลดลง โดยปัจจุบันประชากรกว่าร้อยละ 93 ของประชากรทั้งหมด 16 ล้านคน ได้ฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม, ร้อยละ 88.5 ได้ฉีดวัคซีนครบโดส, ร้อยละ 51.7 ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และร้อยละ 9 ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สองแล้ว โดยกัมพูชาใช้วัคซีนของ Sinovac และ Sinopharm จากจีนเป็นส่วนใหญ่

 

กัมพูชากลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง และเปิดพรมแดนต้อนรับนักเดินทางที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้วโดยไม่ต้องกักตัว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีก่อน ส่งผลให้เศรษฐกิจกัมพูชาปี 2021 ฟื้นตัวด้วยอัตราการเติบโตเชิงบวกราวร้อยละ 3 หลังรับผลกระทบหนักหน่วงจากโรคระบาดใหญ่เมื่อปี 2020

 

ฮุน เซนกล่าวว่า การฟื้นตัวสะท้อนการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของชาวกัมพูชา องค์กรระดับชาติและนานาชาติ หุ้นส่วนการพัฒนา ตลอดจนมิตรประเทศ ควบคู่กับความพยายามของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ทั่วประเทศ

 

“เศรษฐกิจกัมพูชาจะเติบโตมากกว่าร้อยละ 5 ในปีนี้ และจะหวนสู่เส้นทางการเติบโตที่แข็งแกร่งในยุคก่อนเกิดโรคโควิด” ฮุน เซนกล่าว

 

อ้างอิง: สำนักข่าวซินหัว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising