×

เลขาฯ สมช. เผยมีหลักฐานพื้นที่จ่ายไฟเอี่ยวแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมส่งข้อมูลพิจารณาตัดไฟให้ มท.-กฟภ. บ่ายนี้

โดย THE STANDARD TEAM
03.02.2025
  • LOADING...
จุดจ่ายไฟฟ้าชายแดนไทย-เมียนมา

วันนี้ (3 กุมภาพันธ์) ฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยภายหลังประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประมวลข้อมูลด้านความมั่นคงเพื่อส่งให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) พิจารณาระงับการจ่ายไฟพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นฐานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งหมด 5 จุด ประกอบด้วย

 

  • จุดซื้อขายบริเวณบ้านพระเจดีย์สามองค์-เมืองพญาตองซู รัฐมอญ
  • จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณบ้านเหมืองแดง-เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน
  • จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า-เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน
  • จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2-เมืองเมียวดี
  • จุดซื้อขายไฟฟ้าบริเวณบ้านห้วยม่วง-เมืองเมียวดี

 

ฉัตรชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมา สมช. ติดตามเรื่องการหลอกลวงออนไลน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปีที่แล้ว โดยในวันนี้ที่ประชุมประมวลข้อมูลก่อนจะส่งให้กระทรวงมหาดไทยและ กฟภ. ในช่วงบ่ายวันนี้ พิจารณาตามกฎหมายและเงื่อนไขที่กำหนดกับบริษัทคู่สัญญา โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และการค้ามนุษย์ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการที่เหมาะสม ให้เป็นไปตามสัญญาจากมาตรการเบาไปหาหนักในการพิจารณาจ่ายไฟ 6 ประเด็นสำคัญ คือ

 

  1. ข้อมูลด้านความมั่นคง พื้นที่ตั้งจุดต่างๆ ที่เชื่อว่ามีความเสี่ยงและมีหลักฐานระดับหนึ่งว่าเกี่ยวพันกับกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ซึ่งอยู่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน
  2. พบว่ามีความเชื่อมโยงของบุคคลในบริษัทสัมปทานกับกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงบ่อนคาสิโน ซึ่งเป็นเรื่องของตัวบุคคลที่อาจจะมีความเป็นไปได้ว่าเชื่อมโยงกับการจำหน่ายไฟในเมียนมา
  3. พบข้อมูลเรื่องการใช้ไฟเพิ่มผิดปกติและมีความต้องการขอใช้ไฟเพิ่ม โดยไม่สามารถอธิบายได้ว่าจะเอาไปทำอะไร แต่ที่ผ่านมาไม่ได้อนุมัติไป
  4. รัฐบาลไทยเคยตัดไฟไปแล้วที่ชเวโก๊กโก่และเคเคพาร์ก แต่ปรากฏว่ายังสามารถประกอบกิจการได้ อาจจะเป็นการใช้น้ำมันปั่นไฟหรือไม่ ซึ่งต้องตรวจสอบ
  5. ต้องพิจารณาว่าสัดส่วนการใช้ไฟเป็นเรื่องสำคัญแต่ละจุดเป็นอย่างไร โดยขอข้อมูลจากในพื้นที่
  6. จุดที่มีการตัดไฟไปแล้ว และพบว่ามีหลักฐานบางอย่างเชื่อมโยงว่ามีการเปิดเส้นทางใหม่ด้วยการใช้ไฟจากจุดอื่นมายังจุดที่ตัดไฟไปแล้ว

 

ฉัตรชัยกล่าวต่อว่า ล่าสุด กฟภ. แจ้งบริษัทคู่สัญญาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วว่ามีความกังวลเรื่องการใช้ไฟที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นตามสัญญา และที่ประชุมมีมติให้กระทรวงการต่างประเทศประสานกับรัฐบาลเมียนมาไปกำชับให้บริษัทคู่สัญญาตรวจสอบว่า ตรงไหนมีขายไฟในจุดที่ไม่เหมาะสมและขายไฟให้กับกลุ่มผิดกฎหมาย รวมทั้งขอให้มีคณะทำงานตรวจสอบจากฝั่งไทยร่วมกับเมียนมาว่าจุดไหนที่ยังมีปัญหาอยู่ เพื่อเห็นชอบตรงกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นมาตรการเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นกับบริษัทคู่สัญญาของ กฟภ. ใน 5 จุด

 

ส่วนระยะยาวต้องย้อนดูมติ ครม. ในการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่ปี 2537 ในเรื่องการค้าขายชายแดน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเรื่องมนุษยธรรมกับประชาชนตามแนวชายแดนที่จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป มีกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และกลุ่มที่ทำผิดกฎหมายต่างๆ ใช้ประเทศเพื่อนบ้านในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว สมช. จะประเมินภาพรวม ปรับแก้นโยบาย หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ให้มีความเหมาะสม

 

ฉัตรชัยกล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการจะเบาไปหาหนักนั้นขึ้นอยู่กับ กฟภ. ที่ต้องดูเงื่อนไขว่ามีขั้นตอนอย่างไร เช่น การงดจ่ายไฟจะงดแบบไหน ซึ่งทั้งหมดจะคำนึงถึงผลกระทบกับประชาชนฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่ใช่โยนกันไปมา เพราะต่างคนต่างมีหน้าที่ ย้ำเรื่องข้อกฎหมายว่ากระบวนการทำงานในปัจจุบันต้องมีขั้นตอนที่ชัดเจน และ สมช. มีข้อมูลด้านการข่าว การไฟฟ้าสามารถให้ข้อมูลด้านความมั่นคงกับ กฟภ. และมหาดไทยได้ โดยจะดำเนินการให้เร็วที่สุด และ กฟภ. จะนำมติวันนี้ไปเจรจากับคู่สัญญา

 

กฟภ. เล็งไม่ต่อสัญญาจุดที่เหลือหากพบกระทำผิด

 

ขณะที่ ประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวว่า ปัจจุบันมีข้อมูลบริษัทที่ได้สัมปทานทั้ง 4 บริษัท หากพบว่าทำผิดก็สามารถตัดไฟฟ้าได้ เพียงแต่ว่ากระบวนการต่างๆ ต้องรอบคอบและรัดกุม ยืนยันจะดำเนินการอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ประสิทธิ์กล่าวอีกว่า สามารถเสนองดจ่ายไฟเข้าที่ประชุม ครม. ได้เลย และหาก ครม. อนุมัติก็งดจ่ายไฟได้ทันที ซึ่งการลงพื้นที่นั้นต้องข้ามไปฝั่งเพื่อนบ้าน เพราะเป็นการลงพื้นที่จริง หากบริษัทที่ได้รับสัมปทานยืนยันว่าไม่มีการกระทำผิด เราก็ต้องไปตรวจสอบ เพราะในสัญญาระบุไว้ว่าจะผิดต่อเมื่อนำไปใช้แล้วกระทบต่อความมั่นคง วันนี้มีคณะกรรมการของ กฟภ. ที่เดินทางไปดูมาบ้างแล้ว ที่แม่สายและแม่สอดก็ไปมาแล้ว แต่ไปฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องไปทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ส่วนกรณีที่ รังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ออกมาเปิดเผยว่ามีการพยายามขอใช้ไฟไปจากพื้นที่ที่มีการงดจ่ายไฟไปแล้วนั้น ยืนยันว่า ถึงแม้จะมี แต่เราไม่ให้แน่นอน และกำลังพิจารณาว่าที่ขายอยู่ ถ้าหมดสัญญาไปแล้ว เราจะใช้เงื่อนไขนี้ในการที่จะไม่ขายไฟต่อ ถ้าเขาเอาไปขายในสิ่งที่ผิดกฎหมาย เราจะไม่ต่อสัญญาด้วยซ้ำ ซึ่งสัญญามีเป็นแต่ละจุด จุดละ 3-5 ปี

 

ตัดไฟได้ต้องกระทบความมั่นคงเท่านั้น

 

ด้าน ชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยจะรวบรวมข้อมูลมาประกอบการพิจารณา เพราะ กฟภ. มีสัญญาที่ระบุไว้ว่าเราสามารถที่จะเลิกหรืองด และบังคับตามสัญญาในการจ่ายกระแสไฟหากพบว่ามีผลกระทบต่อความมั่นคง

 

ดังนั้นจึงนำข้อมูลเข้ามาพูดคุยกับ สมช. เพื่อรวบรวมให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบ ทั้งนี้ หากข้อมูลยังไม่ชัดเจนอีกก็ต้องตั้งทีมลงไปตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริสุทธิ์ที่ใช้ไฟ และผู้ที่ทุจริตใช้ไฟโดยไม่ชอบ

 

ชำนาญวิทย์กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทยดำเนินการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 โดยทำหนังสือไปสอบถามยังหลายหน่วยงาน ทั้งแนวทางการตัดน้ำ ตัดไฟ รวมถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต หากได้ข้อสรุปก็เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการตามสัญญาได้ทันที พร้อมย้ำว่า บุคคลที่จะมีอำนาจเซ็นในการตัดไฟฟ้าได้คือรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เพราะภูมิธรรมคุม สมช.

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising