×

ดัชนี PMI จีนขยายตัวเดือน มิ.ย. เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ย้ำสถานะเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชีย

04.07.2023
  • LOADING...
เศรษฐกิจจีน

เว็บไซต์ Global Times ของจีน รายงานอ้างอิงผลการสำรวจดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของ Caixin ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวภาคการผลิตของจีน ระบุว่า แม้กิจกรรมโรงงานของจีนจะขยายตัวช้าลงในเดือนมิถุนายน แต่ก็ยังสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจใหญ่ที่ใหญ่เป็นอับดับ 2 ของโลกแห่งนี้ยังสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางแรงกดดันของภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง  

 

ทั้งนี้ ดัชนี PMI จีน จากการสำรวจของ Caixin พบว่า ดัชนีดังกล่าวปรับตัวแตะระดับ 0.5 ในเดือนมิถุนายน ลดลงเล็กน้อย 0.4% จากเดือนพฤษภาคมก่อนหน้า แต่ค่าตัวเลขที่เกิน 50 ทำให้ดัชนี PMI ยังคงขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน  

 

รายงานระบุว่า การสำรวจแสดงให้เห็นว่าการขยายตัวของทั้งผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและคำสั่งซื้อใหม่ชะลอตัวลงในเดือนมิถุนายน เนื่องจากการเติบโตของยอดขายที่ต่ำกว่าที่คาดไว้ บริษัทต่างๆ จึงยังคงใช้วิธีระมัดระวังในการจ้างงานที่ขณะนี้ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันแล้ว

 

Wang Zhe หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Caixin กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (3 กรกฎาคม) ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังไม่แข็งแกร่ง โดยยังมีปัญหาท้าทายต่างๆ รวมถึงการขาดปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตภายใน อุปสงค์ที่อ่อนแอ และการคาดการณ์ของตลาดในเชิงลบยังคงมีอยู่

 

ด้าน Tian Yun นักวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคอิสระ ชี้ว่า ดัชนี PMI ล่าสุดสะท้อนให้เห็นความระมัดระวังเกี่ยวกับแนวโน้มของตลาดในอนาคตของบริษัทต่างๆ ขณะที่ผู้บริโภคมีความคาดหวังที่ไม่ดีสำหรับอนาคต สาเหตุหลักมาจากสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในยุโรปและสหรัฐอเมริกา และความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา

 

นอกจากนี้ Tian ยังแสดงความเห็นโต้สื่อตะวันตกที่ระบุว่า อุปสงค์สำหรับการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวจนฉุดรั้งการฟื้นตัวในส่วนอื่นๆ ของภูมิภาคเอเชียปีนี้ 

 

Tian ชี้ว่า ไม่ว่าจะเป็นอุปสงค์ในประเทศหรือการค้าต่างประเทศ เศรษฐกิจของจีนยังคงดำเนินไปได้ด้วยดีในกลุ่มประเทศเอเชีย พร้อมเปรียบเทียบกับชาติในเอเชียที่เน้นการส่งออกไปยังชาติตะวันตกเป็นหลักอย่างเกาหลีใต้และเวียดนาม โดยการส่งออกของเกาหลีใต้ล่าสุดในเดือนพฤษภาคมลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 และการส่งออกของเวียดนามลดลง 12.3% เมื่อเทียบเป็นรายปีในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ขณะที่การส่งออกของจีนมีการเติบโตที่สูงกว่าสองประเทศดังกล่าว โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชีย 

 

ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งมองว่า แม้จะมีปัญหาบางประการ เช่น สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน อุปสงค์ที่ค่อนข้างอ่อนแอ และความคาดหวังของตลาดที่ไม่ดี แต่จีนยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียและของโลก และคาดว่าอัตราการเติบโตของ GDP ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะสูงถึง 5.5 %

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า เอเชีย-แปซิฟิกจะยังคงเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตในปี 2023 โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของจีนเป็นหลัก ท่ามกลางนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศทั่วโลกจะยกระดับคุมเข้มนโยบายทางการเงินและความต้องการของตลาดที่ขาดความแจ่มใส

 

ทั้งนี้ IMF ชี้ว่า จีนจะมีส่วน 34.9% ในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และการเติบโตของตัวเลข GDP ในจีน 1% จะส่งผลให้เศรษฐกิจอื่นๆ ในเอเชียเพิ่มขึ้น 0.3 %

 

Tian ประเมินว่า อัตราการเติบโตของ GDP จีนในไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะสูงกว่า (ของ) ไตรมาสแรก ซึ่งจะอยู่ที่ 6.5% ขณะที่ครึ่งปีแรกของปีนี้จะอยู่ที่ 5.5% ทำให้จีนจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของเอเชียและของโลก

 

ทั้งนี้ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จีนได้ออกมาตรการหลายอย่างเพื่อพยุงเศรษฐกิจ เช่น นโยบายใหม่เพื่อกระตุ้นการบริโภครถยนต์พลังงานใหม่ และการบริโภคในครัวเรือน เป็นต้น ขณะที่ในเดือนมิถุนายนธนาคารกลางจีนยังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สำคัญหลายรายการ ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งแรกในรอบ 10 เดือน

 

Tian ตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในปีนี้มุ่งเน้นไปที่การบริโภคภายในมากกว่าการใช้จ่ายของรัฐบาล สะท้อนให้เห็นความพยายามของรัฐบาลในการผลักดันให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนยังมีช่องว่างอีกมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการสามารถเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลได้อย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการเดินหน้าการก่อสร้างโครงการสำคัญบางโครงการ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X