ด้วยการตกแต่งบรรยากาศทั้งภายในและภายนอกร้านอย่างใส่ใจ ให้เป็นพื้นที่สีเขียวซึ่งมีบรรยากาศอันแสนจะร่มรื่น นอกจากจะทำให้ร้าน Café Amazon นั้นเป็น ‘Green Oasis’ ที่เป็นขวัญใจและจุดแวะพักสำหรับบรรดานักเดินทางจำนวนมากแล้ว ยังเป็นไลฟ์สไตล์คาเฟ่ยอดฮิตสำหรับคนที่ต้องการหาสถานที่นั่งพักผ่อนอีกด้วย แต่รู้กันไหมว่า คาเฟ่แห่งนี้ ยังมีแนวคิดในเรื่องของการเป็น ‘Green Café’ หรือร้านกาแฟสีเขียวที่ใส่ใจในเรื่องของสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญอีกด้วย
แม้จะเคยเดินเข้าไปในร้าน Café Amazon หลายต่อหลายครั้ง (หรืออันที่จริงก็เป็นประจำเสียด้วยซ้ำ) ทว่ายังมีอีกหลายสิ่งที่เรายังไม่เคยรู้เกี่ยวกับร้าน Café Amazon แต่ถ้ารู้แล้วจะต้องรู้สึกทึ่งเอามากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของนโยบายการบริหารจัดการขยะภายในร้าน การลดปริมาณการใช้พลาสติก เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด และล่าสุดเขาก็เพิ่งออนแอร์ภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ออกมาภายใต้แคมเปญ ‘Café Amazon Go Green’ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของความเป็นแบรนด์คาเฟ่รักษ์โลก ที่ใครหลายคนอาจจะคุ้นเคยกันดี แต่ยังไม่เคยรู้มาก่อนออกมาอีกด้วยนะ ซึ่ง THE STANDARD คิดว่าน่าสนใจมาก จึงอยากมาบอกเล่าให้ทุกคนได้ฟังกัน
ภาพยนตร์โฆษณาตัวแรกเล่าถึงการใช้แก้ว Bio Cup
ภาพยนตร์โฆษณาชุด ‘Café Amazon Go Green’ ภายใต้ธีม ‘Taste For Nature’ ออกมาทั้งหมด 3 ตอนด้วยกัน ล้วนบอกเล่าถึงรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป โดยในตอนแรกของหนังโฆษณาชุดนี้ ได้เล่าถึงลูกค้าหนุ่มหัวใจรักษ์โลกรายหนึ่ง ที่เดินเข้ามาใช้บริการภายในร้าน แล้วสั่งกาแฟคาปูชิโนร้อน โดยที่บอกให้พนักงานไม่ต้องใส่แก้วของทางร้าน แต่ให้ช่วยใส่แก้วรักษ์โลกที่ทำจากใบตองที่เขาพกพามาด้วย ทว่าสิ่งที่หนุ่มน้อยรายนี้กลับไม่รู้เลยก็คือ แก้วร้อน ขนาด 4, 8 และ 12 ออนซ์ ของ Café Amazon ทุกสาขานั้นเป็นแก้วร้อน Bio ผลิตจากเม็ดพลาสติกชีวภาพ BioPBS* ซึ่งผลิตจากพืช เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Compostable) ในระยะเวลาประมาณ 6-24 เดือน** นอกจากนี้ หลอดและแก้วเย็น PLA (ใช้ในสาขานำร่องทั้ง 15 สาขา) ก็ผลิตจากเม็ดพลาสติกชีวภาพเช่นกัน
* เม็ดพลาสติกชีวภาพของ GC ผ่านการรับรองการย่อยสลายทางชีวภาพตามมาตรฐาน ASTM D6400, EN 13432 และ ISO 17088
** ในสภาวะที่เหมาะสม เช่น ในกองปุ๋ยหมัก หรือการฝังกลบในดิน
ภาพยนตร์โฆษณาตัวที่สองพูดถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามวิถีของ ‘Circular Living’
หนังโฆษณาตอนที่สอง ได้พูดถึงสาววัยรุ่นสายแฟชั่นผู้รักษ์โลกตัวจริง ที่ไอเท็มแฟชั่นของเธอนั้นล้วนทำมาจากวัสดุรีไซเคิล เมื่อกำลังถ่ายรูปและจะอัปโหลดขึ้นอวด และชักชวนให้คนอื่นๆ หันมาร่วมรักษ์โลก ก็มีพนักงานของ Café Amazon ที่ออกมาให้ข้อมูลว่าของที่ใช้แล้วใน Café Amazon นั้นจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามวิถีของ ‘Circular Living’ หรือ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพและรู้คุณค่าตามหลัก 5Rs ได้แก่ Reduce, Reuse, Recycle, Refuse และ Renewable
ยกตัวอย่างเช่นในร้าน Café Amazon Circular Living Concept นั้น ก็ได้มีการนำแก้วพลาสติกชนิด PP มาเปลี่ยนเป็นวัสดุตกแต่งผนังรูปนกมาคอว์อันเป็นสัญลักษณ์ของ Café Amazon จนออกมาดูเก๋ไก๋และโดดเด่น มีการเปลี่ยนแกลลอนนมพลาสติกให้เป็นกระถางสวนแนวตั้ง เปลี่ยนถุงบรรจุเมล็ดกาแฟมาเป็นผนังตกแต่งลวดลายสวย เปลี่ยนขวดน้ำเป็นโซฟา เปลี่ยนถาดขนมและอาหารเป็นเพดานร้าน จนถึงขั้นเปลี่ยนแก้วพลาสติกชนิด PET ให้กลายมาเป็นเสื้อพนักงาน (ซึ่งมีแพลนจะเริ่มต้นในเดือนธันวาคม 2562 นี้)
ภาพยนตร์โฆษณาตัวที่สามบอกให้รู้ว่าการใช้ถุงกระดาษของ Café Amazon
ก็แสดงถึงความเป็นห่วงเป็นใยโลกได้เช่นกัน
โดยหนังโฆษณาตัวที่สาม พูดถึงตัวละครชายหนุ่ม ที่ซื้อของแล้วขอไม่รับถุง ทั้งๆ ที่ต้องอดทนหอบหิ้วสินค้าไปตั้งมากมาย แต่ด้วยความเป็นห่วงโลกจึงทำให้เขาไม่สะดวกใจที่จะขอรับถุง โดยที่ไม่รู้ว่า Café Amazon ได้เปลี่ยนถุงพลาสติกเป็นถุงกระดาษที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ดังนั้นแม้จะใช้ถุงกระดาษ แต่ก็ยังถือว่าไม่ทำให้เกิดมลพิษ เป็นการแสดงออกถึงความใส่ใจโลกได้อีกวิธีหนึ่งด้วย
หนังโฆษณาทั้งสามตอนในภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้ได้สื่อถึงความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังใน Green Concept ของ Café Amazon ที่ไม่ได้แค่ตกแต่งร้านด้วยบรรยากาศของพืชพรรณไม้ให้สดชื่นเพียงเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใส่ใจในทุกรายละเอียดตั้งแต่การออกแบบร้าน วัสดุอุปกรณ์เครื่องใช้ ตลอดจนเฟอร์นิเจอร์ที่นำมาตกแต่ง เพื่อให้ลูกค้าผู้เข้ามาใช้บริการสามารถดื่มด่ำไปกับรสชาติกาแฟ พร้อมๆ กับรู้สึกผ่อนคลาย และวางใจอย่างเต็มที่ว่าความสุขที่ได้รับนั้น จะมีส่วนช่วยบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อมให้อยู่ดีมีสุขไปด้วยกัน หรือรบกวนสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
Café Amazon Green Concept
หากใครที่อยากจะเห็นความรักษ์โลกเต็มรูปแบบในทุกรายละเอียด ของ Café Amazon กันให้ชัดๆ แนะนำให้แวะไปชมได้ที่ Café Amazon Circular Living Concept Store ที่ PTT Station สาขาสามย่าน
สิ่งพิเศษของ Café Amazon สาขานี้ คือวัสดุและเฟอร์นิเจอร์ที่นำมาตกแต่งทั้งภายในและภายนอกร้าน ทำมาจากวัสดุที่ใช้แล้วทั้งจากภายในร้าน Café Amazon และโรงคั่วกาแฟ ขยะพลาสติกที่นำมาแปรรูปและออกแบบเป็นของตกแต่ง ภายใต้แนวความคิด ‘Circular Living’ ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพและรู้คุณค่า ตามหลัก ‘5Rs’ อาทิ เยื่อกาแฟ (Coffee Chaff) ซึ่งเป็นของเหลือจากโรงคั่วกาแฟ สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุตั้งต้น เพื่อทำถาดวางเครื่องดื่มและอาหาร Countertop หรือโต๊ะภายในร้าน จากคุณสมบัติที่มีพื้นสีน้ำตาล และนำมาพัฒนาเติมแต่ง โดยใช้องค์ความรู้ของสถาบันนวัตกรรม ปตท. เพื่อให้วัสดุมีความคงทน สามารถขึ้นรูปและออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างสวยงาม
สำหรับขยะพลาสติก สามารถนำมารีไซเคิล และออกแบบเป็นส่วนประกอบของพื้น ผนัง หลังคา เพดาน และวัสดุตกแต่งอื่น ๆ ภายในร้าน นอกจากนี้ ถุงฟอยล์ที่ใช้ใส่เมล็ดกาแฟ ยังสามารถนำมาผลิตเป็น Eco-Board เพื่อใช้เป็นผนังเมนูสำหรับให้ลูกค้าเลือกสั่งเครื่องดื่มที่ตนชื่นชอบ และในส่วนของบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้แล้ว เช่น แก้วที่ใส่เครื่องดื่ม ก็ผลิตจากเม็ดพลาสติกชีวภาพ ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
ร้าน Café Amazon ภายใต้แนวคิด ‘Circular Living’ แห่งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (จีซี) โดยวางแผนจะเปิดให้บริการเพิ่มอีก 2 แห่ง ได้แก่ สาขา Energy Complex A และสาขาซอยจุฬาลงกรณ์ 5
ทั้ง Café Amazon Circular Living Concept Store และภาพยนตร์โฆษณาทั้ง 3 เอพิโสด ภายใต้แคมเปญ Café Amazon Go Green ล้วนสะท้อนเจตนารมณ์การดำเนินธุรกิจควบคู่การดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมของโออาร์ ในการที่จะช่วยสร้างธุรกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ซึ่ง THE STANDARD คิดว่าน่าชื่นชมมาก ๆ สำหรับผู้ประกอบการผู้มีความรับผิดชอบต่อสังคม และหัวใจรักษ์โลกเช่นนี้
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Café Amazon Green Facts
- ปริมาณการใช้ต่อปีของแก้วร้อน Bio ขนาด 4 ออนซ์ จำนวน 1,500,000 ใบต่อปี, ขนาด 8 ออนซ์ จำนวน 8,700,000 ใบต่อปี, ขนาด 12 ออนซ์ จำนวน 3,600,000 ใบต่อปี สามารถช่วยลดปริมาณขยะได้ถึง 150 ตันต่อปี
- ปริมาณการใช้ต่อปีของแก้วเย็น PLA (ทดลองใช้ในร้าน Café Amazon ที่ OR บริหารเองในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 15 สาขา) ขนาด 16 ออนซ์ จำนวน 280,000 ใบต่อปี และขนาด 22 ออนซ์ จำนวน 520,000 ใบต่อปี สามารถช่วยลดปริมาณขยะได้ถึง 15.6 ตันต่อปี
- แก้วพลาสติก PET ขนาด 16 ออนซ์ ปริมาณการใช้ 14,000,000 ใบต่อปี โดย Café Amazon ได้นำแก้ว PET ที่ผ่านการใช้งานแล้วมาบดเป็นเม็ดพลาสติก และนำไปผสมกับเส้นใย ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นเสื้อพนักงานและผ้ากันเปื้อนได้ รวมถึงนำมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ เช่น ผ้าหุ้มโซฟา อีกด้วย
- แก้วพลาสติก PP ขนาด 16 ออนซ์ ปริมาณการใช้ 13,000,000 ใบต่อปี และขนาด 22 ออนซ์ จำนวน 240,000,000 ใบต่อปี ได้นำกลับมารีไซเคิลใหม่ รวมถึงนำมาบดและทำเป็นถังขยะอีกด้วย
- หลอด Bio ห่อกระดาษ จากเม็ดพลาสติกชีวภาพ BIOPBS และเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA ซึ่งเริ่มใช้ทั่วประเทศไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา นั้นมีปริมาณการใช้ต่อปีอยู่ที่ 270,000,000 เส้นต่อปี สามารถช่วยลดปริมาณขยะได้ถึง 202.50 ตันต่อปี
- ถุงกระดาษใส่เบเกอรี จำนวน 2,000,000 ใบต่อปี ถุงกระดาษหูหิ้วขนาด 260*120*280 มิลลิเมตร จำนวน 480,000 ใบต่อปี และถุงกระดาษหูหิ้วขนาด 220*100*250 มิลลิเมตร จำนวน 1,500,000 ใบต่อปี
โดยรวมแล้ว Café Amazon สามารถช่วยลดปริมาณขยะได้ถึงประมาณ 370 ตัน ต่อปี(ข้อมูลเดือนต.ค. 62) ซึ่งถือเป็นจำนวนที่น่าทึ่งมากทีเดียว